หาความหมายแท้จริง ‘ความยั่งยืน’ เทรนด์ใหญ่ไปต่อปี 2024 นอกจากสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีความมั่นคงอาหารด้วย

หาความหมายแท้จริง ‘ความยั่งยืน’ เทรนด์ใหญ่ไปต่อปี 2024 นอกจากสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีความมั่นคงอาหารด้วย
การเปลี่ยนผ่านสังคมโลกที่เดินหน้าไปสู่ความยั่งยืน อีกหนึ่งเทรนด์ใหญ่สำคัญที่ส่งผลกระทบถึงภาคส่วนองค์กร ธุรกิจ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเริ่มต้นอย่างเข้มข้นในปี 2024 นี้

ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี รองผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move)  กล่าวในงานเสวนา FUTURE TRENDS AHEAD PRESS & PURPOSE งานสัมมนาแห่งปีจาก FUTURE TRENDS จัดขึ้นเมื่อปลายปีที่ผ่านมา พร้อมกล่าวถึงแนวโน้ม ‘เทรนด์ความยั่งยืน :  คน สังคม สิ่งแวดล้อม ทำให้ธุรกิจยุคใหม่ไปต่อได้อย่างไร ในปี 2024'

พร้อมตั้งคำถามให้ฉุกคิดถึงเรื่องเทรนด์ความยั่งยืนที่กำลังกลายเป็นคำเรียกใช้กันในทุกวงการ หากแต่ความเข้าใจที่แท้จริงที่จะนำไปสู่กันการพัฒนานั้นมีมากน้อยเพียงใด?

"เราเข้าใจคำว่า ‘ความยั่งยืน’ มากน้อยเพียงใด หลายคนพอพูดถึงเรื่องความยั่งยืนมักจะนึกถึงแต่เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ความจริงยังมีมิติทางด้านสังคมและเศรษฐกิจด้วย ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ ที่เราจะต้องผลักดันเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน"

ต่อการพัฒนาอย่างไรให้ยั่งยืน คือการพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการของเราโดยที่ไม่ทำให้คนในอนาคตไม่สามารถตอบสนองความต้องการของตนเอง จึงเป็นที่มาของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ทั่วโลกพยายามที่จะผลักดันให้เกิดขึ้น เทรนด์ กฎหมายหลายๆ อย่าง ก็มาตอบรับโจทย์เหล่านี้

“เรื่องความยั่งยืน มีอยู่เรื่องหนึ่งที่คิดว่าทุกคนรู้กันอยู่แล้ว และจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตเรามากขึ้นคือ ประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ เชื่อว่าทุกคนกำลังประสบอยู่ไม่มากก็น้อย ไม่ว่าเรื่องอุณหภูมิและฝุ่น”

  • ประเด็นด้าน Climate Change นี้เอง ก็จะเริ่มมีกฎหมายต่างๆ เข้ามาเป็นข้อบังคับในแต่ละประเทศ เพื่อผลักด้นการพัฒนาต่างๆ เรื่องธุรกิจ ในอนาคตที่เราจะทำการค้ากับหลายประเทศ อย่างกลุ่มอียู

“เราก็ต้องแน่ใจว่าเราทำตามกฎหมายเค้า เราลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในประเทศเองก็จะมีอะไรหลายๆ อย่างที่จะเข้ามาผลักดันหรือควบคุมด้วย”

อย่างในยุโรปจะมี CBAM ซึ่งจะเหมือนเป็นการเพิ่มภาษี สินค้าจากบริษัทที่ไม่มีการลดคาร์บอน นี่ยังไม่รวมไปถึง ประเด็นที่เกี่ยวกับเรื่องคาร์บอนเครดิตที่จะเข้ามาในอนาคตด้วย

ทั้งนี้ หากกล่าวถึงเรื่อง Climate Change อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องไม่ลืม คือ เรื่องการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ไปสู่พลังงานที่ยั่งยืน Climate Change เราต้องการลดคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้เริ่มมีการใช้พลังงานที่ยั่งยืน พลังงานสะอาด พลังงานสีเขียวต่างๆ และเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

เพราะหากใครไม่ทำอาจกระทบถึงการลงทุน นักลงทุนหลายคนอาจมองว่าประเทศไหนน่าลงทุน ประเทศไหนที่ใช้พลังงานที่มีความยั่งยืน ที่ไหนที่ไม่ใช้พลังงานที่ยั่งยืนเขาอาจไม่มาลงทุน และเมื่อเขาเลือกไม่มาลงทุนในประเทศไทย จะเกิดอะไรขึ้นกับแรงงาน เกิดอะไรขึ้นกับคนทั่วไป น่าสนใจมาก

“เราตามเทรนด์โลกทันหรือยังในเรื่องพลังงาน นอกจากเรื่องพลังงาน Climate Change และเทรนด์เรื่องความยั่งยืน ยังนำไปสู่อีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องอาหาร ซึ่งประเทศไทยเราส่งออกอาหารเยอะมาก และเราให้ความสำคัญกับเรื่องสินค้าอาหารเยอะมาก ซึ่งเป็นเทรนด์ที่มีความสำคัญมาก”

ขณะที่ กฎหมายหรือความร่วมมือระหว่างประเทศหลายๆ อย่าง จะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการผลิตอาหารของเรา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน จึงมีการตั้งคำถามว่า แล้วทำอย่างไรประเทศไทย ผลิตอาหารมากมาย มีการขาย ส่งออก แต่ทั้งนี้มีความมั่นคงทางอาหารหรือยัง เป็นคำถามที่น่าสนใจที่เราต้องตระหนักและเร่งทำการบ้านกับมันแล้วในวันนี้

“นอกจากความมั่นคงทางอาหาร อีกประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวกับอาหารคือ เรามีอธิปไตยทางอาหารหรือยัง หมายถึงอะไร เราผลิตอาหารตั้งเยอะ แต่ทำไม่เรายังต้องนำเข้าสินค้าจากต่างชาติอยู่ ทำไมเราต้องนำเข้าอาหารจากต่างชาติอยู่ ถ้าเกิดเขามีสงครามในบางประเทศ เราจะทำอะไรได้บ้าง เราสามารถเข้ามามีบทบาทในการผลักดันการเพิ่มอธิปไตยทางอาหารได้หรือไม่

นอกจากนี้ ยังมีเทรนด์ที่เข้ามาใหม่ที่เราอาจจะสามารถเข้ามามีบทบาท คือ Local food การท่องเที่ยวเชิงอาหาร เรามีอาหารตั้งมากมาย หลายภาคในประเทศ หลายจังหวัดอาจจะมีเทรนด์อาหารของตนเอง เราส่งเสริมอะไรได้บ้าง หรือแม้กระทั่งเทรนด์ Future food เช่น โปรตีนจากแมลง การผลิตโปรตีนในห้องแล็ป อีกอย่างที่น่าสนใจ คือการผลิตอาหารจากสาหร่ายที่มีโปรตีนสูง หรือใช้สาหร่ายในการผลิตอาหาร

ทั้งนี้ หากพูดถึงเรื่องอาหาร เราอาจจะนึกถึงบรรจุภัณฑ์ที่เราใช้ มันทำมาจากพลาสติก ซึ่งประเทศไทยมีขยะจากพลาสติกสูงมาก ลองคิดดูว่า ถ้าหลายๆ บริษัทเริ่มจริงจังกับเทรนด์ความยั่งยืน การลดขยะโดยเฉพาะขยะพลาสติกที่จะลงไปสู่ทะเล นอกจากช่วยทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นแล้ว ยังสามารถลดต้นทุน ทำให้สามารถได้กำไรมากยิ่งขึ้นด้วยหรือไม่ อันนี้ก็เป็นเทรนด์ที่น่าสนใจ ลองนึกถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ของบริษัทเราเองด้วย

“ลองมาดูเทรนด์เรื่องการใช้ดิจิทัล การเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมดิจิทัล เอามาใช้กับสิ่งเหล่านี้ได้หมด เทคโนโลยีดิจิทัลเอามาใช้ในการช่วยผลิตอาหารได้ คนรุ่นใหม่เริ่มไม่อยากทำงานในฟาร์ม แล้วเราจะใช้ดิจิทัลเข้ามาช่วยในการผลิตอาหารได้อย่างไร ดิจิทัลเข้ามาช่วยในการทำงานต่างๆ ได้อย่างไร เช่น ประเทศมาเลเซียเริ่มมีการสอนให้นักศึกษาออกแบบระบบการรดน้ำ ระบบการให้ปุ๋ยที่ชาวไร่ไม่จำเป็นจะต้องเดินทางเข้าไปในฟาร์ม เพียงแค่กดปุ่ม หรือเพียงแค่ดูระบบน้ำ ดิจิทัลยังเข้ามามีบทบาทในชีวิตของเราอย่างมากมาย ข่วยสร้างความยั่งยืนได้มากยิ่งขึ้น"

โดย อย่าลืมว่า sustainability ไม่ใช่แค่สิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว การพัฒนาที่ยั่งยืนเราต้องให้ความสำคัญทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ ไปพร้อมกับสิ่งแวดล้อมด้วย