กรมควบคุมโรค เผยครึ่งปี 2566 พบผู้ป่วย "ไข้เลือดออก" ในไทยสะสมกว่า 27,000 คน พุ่งสูงกว่าปีก่อน 3 เท่า พร้อมเผยอาการเสี่ยง
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ "โรคไข้เลือดออก" ในประเทศไทย ตั้งแต่ในวันที่ 1 มกราคม - 28 มิถุนายน 2566 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสม 27,377 คน สูงกว่าปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกันเกือบ 3 เท่า และมีรายงานผู้เสียชีวิตเข้าระบบการเฝ้าระวังเหตุการณ์ 33 ราย ตั้งแต่เดือน มิถุนายน พบผู้ป่วยสัปดาห์ละ 1,500-2,400 คน เสียชีวิตสัปดาห์ละ 1-3 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 5-14 ปี รองลงมาคือกลุ่มอายุ 15-24 ปี พบอัตราป่วยสูงสุดในภาคใต้ กรุงเทพมหานคร และภาคกลาง ตามลำดับ เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งพบผู้ป่วย 9,736 ราย อัตราป่วย 17.46 ต่อแสนประชากร เสียชีวิต 7 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 0.09 จำนวนผู้ป่วยสูงกว่าถึง 3 เท่า ทั้งยังมีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งผู้เสียชีวิตสะสมพบทั้งกลุ่มเด็กและผู้ใหญ่ กรณีที่เคยป่วยโรคไข้เลือดออกแล้ว หากป่วยอีกอาการจะไม่รุนแรงนั้น ไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมด เนื่องจากเชื้อไวรัสเดงกีที่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออกมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ซึ่งแต่ละปีสายพันธุ์ที่ระบาดอาจแตกต่างกัน การติดเชื้อครั้งแรกอาการอาจจะไม่รุนแรงมากนักแต่การติดเชื้อครั้งที่สอง อาจมีอาการรุนแรงขึ้นในทุกสายพันธุ์ โดยเฉพาะหากเป็นการติดเชื้อคนละสายพันธุ์กับครั้งแรก
ด้าน นพ.โอภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเสริมว่า อาการป่วยของตนเองและคนในครอบครัว หากพบมีไข้สูงเฉียบพลัน และสูงลอยมากกว่า 2-7 วัน ปวดกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก บางรายอาจมีเลือดออก เช่น มีจุดเลือดออกที่ผิวหนัง เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ เนื่องจากเลือดออกในกระเพาะอาหาร ผู้หญิงมีประจำเดือนนานผิดปกติ เมื่อไข้สูงติดต่อกัน 7 วัน ไข้ก็ลดลง กรณีเด็กที่เป็นไข้เลือดออก อาจมีอาการเบื่ออาหาร ทานไม่ค่อยลง บางคนปวดท้อง โดยเฉพาะชายโครงด้านขวาหากมีตับโตร่วมด้วย แต่จะไม่มีอาการทางเดินหายใจ ทำให้เราแยกอาการของโรคได้จากไข้หวัดใหญ่ โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ ซึ่งมีอาการเด่น คือ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก และมีไข้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยทันที และห้ามซื้อยากินเอง โดยเฉพาะยาในกลุ่ม NSAIDs เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโครฟิแนค แอสไพริน รวมถึงยาชุดแก้ปวด ซึ่งมีผลทำให้เลือดออกในช่องทางเดินอาหารและยากต่อการรักษา เสี่ยงต่อการเสียชีวิต พร้อมทั้งป้องกันจากการถูกยุงกัด เช่น ทายากันยุงหรือนอนในมุ้ง กำจัดแหล่งวางไข่ยุงลายภายในบ้านและบริเวณรอบๆ บ้าน ยึดหลัก 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ได้แก่ เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง, เก็บน้ำ โดยปิดฝาภาชนะที่ใส่น้ำให้มิดชิด เปลี่ยนน้ำทุกสัปดาห์พร้อมขัดขอบภาชนะเพื่อกำจัดไข่ยุงลาย และเก็บขยะบริเวณรอบบ้าน ปรับปรุงสภาพแวดล้อม ซึ่งทั้งหมดนี้จะสามารถป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลายได้ทั้ง 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาทางกระทรวงสาธารณสุข โดย กรมควบคุมโรค ได้เพิ่มกลยุทธ์ เพื่อควบคุมจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกในประเทศ เน้นการรณรงค์ป้องกันก่อนเกิดโรคเพื่อเปลี่ยนความคิดคนไทยให้รู้เท่าทันภัยร้ายของไข้เลือดออก โดยเริ่มต้นจากการดูแลตนเอง อีกทั้งผนึกกำลังภาคีรัฐและเอกชน ชูนวัตกรรมเพื่อสร้างความร่วมมือในการป้องกันการเสียชีวิตจากไข้เลือดออก ซึ่งล่าสุดผนึกกำลังกับหน่วยงานภาคีภาครัฐ ร่วมควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยความร่วมมือของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนในชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะเด็กวัยเรียนที่เป็นกลุ่มป่วยสูงสุด ซึ่งนอกเหนือจากการสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนแล้ว
นอกจากนี้ ศ.พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก มี 2 ชนิด ซึ่งเป็นชนิดเชื้อมีชีวิตอ่อนฤทธิ์ หรือเชื้อเป็น คือ วัคซีนชนิดที่ 1 มีแกนหลักเป็นไวรัสไข้เหลือง มีประสิทธิภาพในการป้องกันไข้เลือดออกทุกสายพันธุ์ 65% ป้องกันป่วยนอนโรงพยาบาล 80% ใช้ได้เฉพาะคนที่เคยเป็นโรคไข้เลือดออกมาก่อน ทั้งจากประวัติและผลการตรวจเลือดยืนยันเท่านั้น ส่วนวัคซีนชนิดที่ 2 มีแกนหลักเป็นไวรัสเดงกีสายพันธุ์ที่ 2 มีประสิทธิภาพในการป้องกันไข้เลือดออกทุกสายพันธุ์ 80% ป้องกันป่วยนอนโรงพยาบาล 90% สามารถฉีดได้ทั้งคนที่เคยติดเชื้อและไม่เคยติดเชื้อมาก่อน วัคซีนนี้ห้ามใช้ในผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ได้รับยาสเตียรอยด์เกิน 20 มิลลิกรัมต่อวัน ผู้ติดเชื้อ HIV ระยะมีอาการ หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร ดังนั้นการจะรับวัคซีนนั้นต้องปรึกษาแพทย์ก่อน สำหรับประเทศไทยมีวัคซีนชนิดที่ 1 ใช้อยู่ ส่วนชนิดที่ 2 คาดว่าจะมีการใช้ในประเทศในเวลาอันใกล้นี้”
ทั้งนี้การวินิจฉัยที่รวดเร็วยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ซึ่งปัจจุบันมีการใช้ชุดตรวจโรคไข้เลือดออกชนิดรวดเร็ว (Dengue Rapid Diagnosis Test) ทำให้วินิจฉัยผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกได้เร็วขึ้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เพจเฟซบุ๊กกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(https://www.facebook.com/profile.php?id=100068069971811&locale=th_TH) สายด่วนกรมควบคุม โทร.1422