กรมการแพทย์ เปิดตัว 'รถตรวจสุขภาพสูงวัยเคลื่อนที่' ต้นแบบนวัตกรรมเชิงรุก รับสังคมสูงวัย
นพ.ศักดา อัลภาชน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สถานการณ์ประชากรไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ โดยปัจจุบันมีผู้สูงวัยมากกว่า 14 ล้านคน หรือราว 20% ของประชากรทั้งหมด และจากอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าภายในปี 2571 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ Super Aged Society หรือ สังคมสูงวัยระดับสุดยอด ซึ่งมีสัดส่วนผู้สูงอายุเกินกว่า 28% ของประชากรทั้งหมด แนวโน้มนี้ไม่ใช่เพียงตัวเลขทางสถิติ แต่คือโจทย์ใหญ่ที่ระบบสาธารณสุขและสังคมไทยต้องเร่งปรับตัวและวางแผนรับมืออย่างเป็นระบบและครอบคลุม
สถิติจากกรมการแพทย์ชี้ให้เห็นถึงความท้าทายที่ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยพบว่าผู้ป่วยในโรงพยาบาลรัฐกว่า 1 ใน 3 เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่เผชิญกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะสมองเสื่อม หรือโรคหลอดเลือดสมอง ที่ต้องการการดูแลต่อเนื่องเป็นพิเศษ แต่ด้วยข้อจำกัดด้านการเดินทาง การเข้าถึงสถานพยาบาล หรือแม้แต่คิวการรอรับบริการ ทำให้ผู้สูงอายุจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทหรือกึ่งเมืองที่ห่างไกล ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการที่จำเป็นได้ทันท่วงที “เราจึงต้องออกแบบระบบบริการแบบใหม่ ที่ไม่รอให้ประชาชนเดินทางมาโรงพยาบาล แต่เดินทางเข้าไปหาประชาชนแทน ซึ่งรถตรวจสุขภาพสูงวัยเคลื่อนที่ คือคำตอบของสิ่งนี้
ขณะที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โครงการรถตรวจสุขภาพสูงวัยเคลื่อนที่ เป็นผลลัพธ์จากแนวนโยบายที่ชัดเจนของกระทรวง ภายใต้แนวคิด “ทำดีที่สุด เพื่อทุกชีวิต” ที่เน้นการออกแบบบริการสุขภาพที่ตอบโจทย์ประชาชนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุที่อยู่ลำพัง ไม่มีผู้ดูแล หรือเดินทางลำบาก เป็นคลินิกเคลื่อนที่ครบวงจร สามารถให้บริหารตรวจสุขภาพพื้นฐาน ตรวจโภชนาการ สุขภาพช่องปาก วัคซีน การคัดกรองภาวะสมองเสื่อม ภาวะหกล้ม รวมถึงเชื่อมต่อระบบ Telemedicine กับแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ” นายแพทย์ทวีศิลป์อธิบายถึงขีดความสามารถของรถคันนี้
ทั้งนี้ รถแต่ละคันยังติดตั้งระบบดิจิทัลที่เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลโรงพยาบาล เพื่อวางแผนการดูแลต่อเนื่องและติดตามผลได้จริง ซึ่งเป็นการบูรณาการระหว่างเทคโนโลยี บุคลากร และชุมชนอย่างแท้จริง สะท้อนถึงการออกแบบที่คิดค้นมาอย่างรอบด้านสุขภาพผู้สูงอายุในเบื้องต้นในชุมชน พบว่าประมาณ 20% มีความเสี่ยงด้านสุขภาพอย่างน้อย 1 เรื่อง และที่น่ากังวลคือ พบว่าผู้สูงอายุถึง 38% มีโรคประจำตัวมากกว่า 2 โรคขึ้นไป พบมากที่สุดคือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2567 ระบุว่า ผู้สูงอายุในประเทศไทยมากกว่า 38% มีโรคประจำตัวมากกว่า 2 โรคขึ้นไป โดยโรคที่พบบ่อย ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ และภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง
สถิติจาก สปชส. ยังชี้ว่าการใช้บริการของผู้สูงอายุใน OPD เพิ่มขึ้นอย่างน้อยปีละ 2% หรือคิดเป็นจำนวนกว่า 1,700,000 ครั้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความแออัดในสถานพยาบาลอย่างมาก กรมการแพทย์ ในฐานะกรมวิชาการและมีสถาบันเฉพาะทางด้านผู้สูงอายุ จึงได้คิดค้นออกแบบบริการที่จะนำไปส่งต่อบริการเฉพาะด้านผู้สูงอายุ ให้แก่ผู้ที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึง จึงออกแบบรถตรวจสุขภาพสูงวัยคันนี้ และเริ่มนำร่องในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 4 และจะขยายไปอีกในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป