‘มะเร็งกระเพาะอาหาร’ อัตราเสียชีวิตสูง!

‘มะเร็งกระเพาะอาหาร’ อัตราเสียชีวิตสูง!
ในระดับโลก มะเร็งกระเพาะอาหารอยู่ในอันดับที่ 5 มีผู้ป่วยกว่าล้านราย และที่สำคัญอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่อันดับ 4 กรณีมะเร็งกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ตับ เยื่อบุช่องท้อง รังไข่ อัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปีอยู่ที่ 7%

มะเร็งกระเพาะอาหาร (Stomach Cancer) เป็นเนื้อร้ายที่เกิดขึ้นในเยื่อบุกระเพาะอาหาร อาการในระยะเริ่มต้นอาจไม่รุนแรงและมีลักษณะคล้ายกับอาการของโรคอื่น ๆ เช่น อาหารไม่ย่อย เรอบ่อย แสบร้อนกลางอก ปวดท้อง แน่นท้อง กลืนอาหารลำบาก เป็นต้น

อาการของมะเร็งกระเพาะอาหารในระยะเริ่มแรก

ผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารอาจไม่แสดงอาการของโรค หรือมีอาการที่ไม่รุนแรงและคล้ายกับอาการของโรคอื่น ๆ ได้ เช่น อาหารไม่ย่อย เรอบ่อย แสบร้อนกลางอก แน่นท้องหลังรับประทานอาหาร ปวดท้อง กลืนอาหารลำบาก เบื่ออาหาร คลื่นไส้  อาเจียน เป็นต้น 

เนื้อร้ายเจริญเติบโตจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการที่รุนแรงมากขึ้น

  • ปวดหรือจุกที่ลิ้นปี่
  • แน่นท้องหรือปวดท้องหลังรับประทานอาหาร
  • อุจจาระเป็นเลือด
  • อาเจียนเป็นเลือด
  • กลืนอาหารลำบาก
  • เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
  • รู้สึกอิ่มหลังรับประทานอาหารมื้อเล็ก ๆ
  • รู้สึกเหนื่อยหรืออ่อนเพลียจากภาวะโลหิตจาง
  • ดีซ่านโดยมีอาการผิวและตาเหลือง

ภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งกระเพาะอาหาร เช่น

  • น้ำในช่องท้อง หรือท้องมาน และน้ำในเยื่อหุ้มปอด
  • การอุดตันของกระเพาะอาหารส่วนปลาย รอยต่อหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็ก
  • เลือดออกในทางเดินอาหาร จากภาวะเส้นเลือดที่หลอดอาหารโป่งพอง
  • ดีซ่านจากภาวะตับโต หรือท่อน้ำดีอุดตัน
  • อ่อนเพลียจากการขาดสารอาหาร
  • ภาวะผอมหนังหุ้มกระดูกที่เป็นผลมาจากเนื้อร้าย

ด้านนพ.วรพงศ์ อนุพงษ์อนันต์ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษด้านมะเร็งทางเดินอาหาร สถาบันมะเร็งแห่งชาติกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ข้อมูลผ่านรายการสุขภาพดี 4 ทุ่ม สำนักข่าวไทย เรื่อง มะเร็งกระเพาะอาหาร ภัยร้ายแฝงตัวเงียบ ถึงอัตราการรอดชีวิตจากมะเร็งกระเพาะอาหารในประเทศไทยว่า

“มะเร็งกระเพาะอาหารที่เป็นมะเร็งที่พบไม่บ่อยในประเทศไทย อยู่ที่อันดับที่ 14  ในปี 2563 พบผู้ป่วยอยู่ที่ 4 พันราย แต่ในระดับโลก มะเร็งกระเพาะอาหารอยู่ในอันดับที่ 5 มีผู้ป่วยกว่าล้านราย และที่สำคัญอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่อันดับ 4 ถือว่าอัตราการรอดชีวิตต่ำว่ามะเร็งชนิดอื่น”

  • กรณีมะเร็งไม่ได้กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆ อัตราการรอดชีวิตอยู่ที่ 75% ถือว่าค่อนข้างสูง
  • กรณีมะเร็งกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง โอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปีอยู่ที่ 35%
  • กรณีมะเร็งกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ตับ เยื่อบุช่องท้อง รังไข่ อัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปีอยู่ที่ 7%

ส่วนใหญ่ผู้ป่วย 50-60% ที่เข้ามารับการตรวจจะอยู่ในระยะที่มะเร็งกระจายตัวไปยังอวัยวะอื่นๆ เรียบร้อยแล้วเนื่องจากในระยะแรกอาการของมะเร็งกระเพาะอาหารจะไม่แสดงออกชัด 

โดยมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างรวมกัน รวมทั้งความผิดปกติของยีนส์ ปัจจัยเสี่ยงในด้านอื่น เช่น 

  1. อายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ยิ่งอายุมาก ยิ่งเสี่ยงมาก
  2. เพศ มักพบในเพศชายได้มากกกว่าในเพศหญิง
  3. เชื้อชาติ จากผู้ป่วยทั่วโลกพบว่าเป็นชาวเอเชีย 75% ส่วนใหญ่เป็นเอเชียตะวันออก เช่น จีนเกาหลี ญี่ปุ่น 
  4. อาหาร การรับประทานอาหารบางชนิด อาหารรมควัน อาหารที่มีรสเค็มจัด ของหมักดอง
  5. การสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์
  6. การติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิดในช่องท้อง ที่ทำให้เกิดแผลจนกลายเป็นมะเร็ง
  7. ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆเช่น ประวัติคนในครอบครัว ประกอบอาชีพที่อยู่ท่ามกลางฝุ่นควัน เป็นต้น

โรคมะเร็งกระเพาะอาหารหากตรวจพบเร็ว จะรักษาได้ง่ายกว่า อาการทั่วไปที่พบได้คืออาหารไม่ย่อย โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไปที่มีปัญหาของระบบย่อยอาหารจะมีแนวโน้มที่จะเกิดโรคได้มากกว่าคนอายุน้อย 

ดังนั้นควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรค หากมีอาการอาหารไม่ย่อยร่วมกับอาการอื่น ๆ ด้วย เช่น น้ำหนักลด รู้สึกเหนื่อยหรือเมื่อยล้าจากภาวะโลหิตจาง อาเจียนเป็นประจำ หรือกลืนอาหารลำบาก เป็นต้น

อ้างอิง 1 2

TAGS: #มะเร็ง #มะเร็งกระเพาะอาหาร #กระเพาะอาหาร