ไทรอยด์ทำให้อ้วนขึ้น หรือผอมลง จริงหรือ? ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ จะส่งผลให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานผิดปกติ ส่อง 10 สัญญาณอาการไทรอยด์ผิดปกติ เช็กด้วยตัวเองง่ายๆ
ต่อมไทรอยด์ (Thyroid gland) เป็นต่อมไร้ท่อชนิดหนึ่ง มีลักษณะคล้ายปีกผีเสื้อ อยู่ส่วนหน้าของลำคอ ต่อมไทรอยด์ทำหน้าที่ผลิตและหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์ภายใต้การควบคุมของสมองส่วนไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) และต่อมใต้สมอง (Pituitary gland)
ซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมการเผาผลาญของร่างกาย ซึ่งช่วยควบคุมการลดและเพิ่มของน้ำหนักตัว อัตราการเต้นของหัวใจ อุณหภูมิของร่างกาย การย่อยอาหาร และช่วยด้านพัฒนาการทางสมองในเด็กทารก
นพ. พรพีระ จิตต์ประทุม โรงพยาบาลสมิติเวช ให้ข้อมูลว่า ความผิดปกติของฮอร์โมนไทรอยด์ แบ่งได้ เป็น 2 ชนิดคือ ภาวะพร่องไทรอยด์และภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกิน
1) ภาวะพร่องไทรอยด์ (Hypothyroidism) หรือ ไทรอยด์ต่ำ
ภาวะพร่องไทรอยด์ (Hypothyroidism) หมายถึงภาวะที่ร่างกายผลิตหรือหลั่งฮอร์โมนได้น้อยกว่าปกติ ทำให้ส่งผลต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ภาวะ Hashimoto (Hashimoto’s disease) เป็นภาวะที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายส่งผลต่อต่อมไทรอยด์
ทำให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ได้ลดลง การอักเสบของต่อมไทรอยด์ การรักษาภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกิน การขาดสารไอโอดีน จากกรรมพันธุ์ หรือจากมะเร็งต่อมไทรอยด์ เป็นต้น
หากฮอร์โมนไทรอยด์ลดต่ำลงเป็นอย่างมากอาจทำให้ อุณหภูมิร่างกายต่ำ ซีด สับสน หัวใจวาย มีภาวะไม่รู้สึกตัว (myxedema coma) และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
2) ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกิน (Hyperthyroidism) หรือ ไทรอยด์เป็นพิษ
ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกิน (Hyperthyroidism) คือภาวะที่ร่างกายผลิตหรือหลั่งฮอร์โมนมากกว่าปกติ ส่งผลต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย สาเหตุของภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกิน เช่น ภาวะ Grave (Grave’s disease) เป็นภาวะที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายส่งผลต่อต่อมไทรอยด์
ทำให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์มากกว่าปกติ ภาวะก้อนของต่อมไทรอยด์ (Thyroid nodule) ต่อมไทรอยด์อักเสบ การรับประทานอาหารที่มีสารไอโอดีนมากเกินไป หรือจากมะเร็งต่อมไทรอยด์
ไทรอยด์ทำให้อ้วนขึ้น หรือผอมลง จริงหรือ?
ศูนย์การรักษาพญาไท เผย เมื่อต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ จะส่งผลให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานผิดปกติไปด้วยความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ส่งผลต่อความอ้วนจริงหรือ?
ถ้าเป็นโรคไทรอยด์ในประเภทที่เกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมนจะมีผลต่อความอ้วน หากต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย กลุ่มนี้บางทีก็จะเรียกว่าเป็นโรคไทรอยด์ชนิดอ้วน ซึ่งจะมีอาการบวม น้ำหนักเพิ่มขึ้นง่าย เรียกได้ว่าอ้วนขึ้นง่ายอย่างไม่ทราบสาเหตุ
หากเป็นโรคไทรอยด์ชนิดเป็นพิษ คือกลุ่มที่ฮอร์โมนทำงานมากเกินไป กลุ่มนี้จะไม่อ้วนแต่กลับจะผอมลง โรคกลุ่มนี้จะทำให้หิวบ่อย แต่กินมากเท่าไหร่น้ำหนักก็มักจะไม่ขึ้น
ไทรอยด์ชนิดอ้วนและผอมมีอาการต่างกันอย่างไร?
ไทรอยด์ชนิดอ้วน เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ ทำให้มีการเผาผลาญพลังงานน้อยกว่าปกติ ส่งผลให้มีอาการเหล่านี้
- รู้สึกเฉื่อยชา เบื่อ ขี้เกียจ ไม่อยากทำอะไร
- อ่อนเพลีย ง่วงนอนบ่อย ขี้หนาว
- เหนื่อยง่าย ทำอะไรไม่ค่อยไหว
- น้ำหนักขึ้น อ้วนแบบบวมฉุ
- ท้องผูก
- ผู้หญิงบางคนอาจมีประจำเดือนผิดปกติร่วมด้วย
ส่วนไทรอยด์ชนิดผอม เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับฮอร์โมนไทรอยด์สูง จึงทำให้มีการเผาผลาญพลังงานมากกว่าปกติ และมักมีอาการเหล่านี้
- ใจสั่น มือสั่น ตื่นเต้นตกใจง่าย
- เหนื่อยง่าย
- ขี้โมโห หงุดหงิดง่าย เครียดง่าย
- ขี้ร้อน เหงื่อออกมากกว่าปกติ
- รู้สึกหิวบ่อย กินเก่ง แต่น้ำหนักไม่ขึ้น หรือน้ำหนักอาจลดลง
- บางคนอาจมีประจำเดือนน้อยลง
ข้อมูลจาก ศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลกรุงเทพ เผยเช็กลิสต์อาการไทนอยด์ด้วย 10 สัญญาณอาการไทรอยด์ผิดปกติ
1) อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น
ผู้ป่วยที่มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษจะส่งผลกระทบไปถึงการทำงานของหัวใจทำให้รู้สึกเหนื่อยง่าย ใจสั่น หรืออ่อนเพลีย ไม่กระฉับกระเฉงในภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำ
2) ผมร่วง
ภาวะไทรอยด์เป็นพิษหรือไทรอยด์ทำงานต่ำสามารถเกิดผมร่วงได้
3) นอนไม่หลับ
อาการนอนไม่หลับมาคุกคามบ่อย ๆ ทั้งที่ปกติเป็นคนที่นอนหลับง่ายและหลับได้สนิทโดยตลอด เนื่องจากหากไทรอยด์ผิดปกติอาจหลั่งฮอร์โมนมามากเกินไปจนกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางและรบกวนการพักผ่อนได้
4) รู้สึกง่วงตลอดเวลา
เกิดได้ในภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำจะเกิดอาการอ่อนเพลียไม่สดชื่นร่วมด้วย
5) อ้วนขึ้นหรือผอมลงอย่างผิดปกติ
ต่อมไทรอยด์ผิดปกติในลักษณะหลั่งฮอร์โมนออกมามากจะกระตุ้นระบบเมตาบอลิซึมให้ขยันเกินไปในภาวะไทรอยด์เป็นพิษจะพบว่าน้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ส่วนในไทรอยด์ทำงานต่ำจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นง่าย เนื่องจากการเผาผลาญที่ต่ำลง
6) หิวบ่อยหรือไม่หิวกินไม่ค่อยลง
หากต่อมไทรอยด์ทำงานมากขึ้นอาจทำให้เกิดความรู้สึกหิวบ่อยขึ้น ทานมากขึ้น แต่น้ำหนักตัวลดลง หากไทรอยด์ทำงานน้อยลงอาจกินไม่ค่อยลง บวม อ้วนง่าย
7) ขับถ่ายไม่เป็นปกติ
เข้าห้องน้ำน้อยกว่าปกติหรือท้องผูกบ่อย ๆ แม้จะกินพวกผัก ผลไม้ เกิดจากร่างกายมีภาวะขาดไทรอยด์ได้ ในภาวะไทรอยด์เป็นพิษจะมีการทำงานของลำไส้มากขึ้น ทำให้ถ่ายอุจจาระบ่อยขึ้นกว่าปกติ ส่วนในไทรอยด์ต่ำอาจพบอาการท้องผูก
8) รู้สึกหนาวตลอดเวลาหรือขี้ร้อนมากขึ้น
ต่อมไทรอยด์ไม่หลั่งฮอร์โมนออกมาในปริมาณเพียงพอ ทำให้ระบบเผาผลาญทำงานช้าลง ความร้อนในร่างกายก็จะลดน้อยลง ภาวะไทรอยด์เป็นพิษจะมีอาการขี้ร้อน เหงื่อออกมากกว่าปกติ ส่วนภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำจะมีอาการขี้หนาวมากขึ้น
9) ผิวแห้ง
ภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำจะมีระบบเผาผลาญทำงานได้ช้าลงส่งผลต่อผิวแห้งมากขึ้นหรือเหงื่อลดน้อยลง
10) ใจสั่น
ภาวะที่ฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไปจะเร่งกระบวนการการทำงานส่วนต่าง ๆ ของร่างกายทั้งหมดจะทำให้หัวใจเต้นเร็ว
สามารถตรวจเช็กไทรอยด์ทำงานผิดปกติง่าย ๆ ด้วยตัวเองได้ จาก กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต
- ส่องกระจกและยืดลำคอขึ้น ค่อย ๆ หันทางซ้ายและทางขวาช้า ๆ เพื่อหาความผิดปกติของลำคอ
- ใช้นิ้วชี้และนิ้วหกลางของมือทั้งสองข้างคลำลำคอพร้อม ๆ กันแต่ละด้าน จากด้านหลังไปด้านหน้า และจากบนลงล่าง
- หากพบการสัมผัสที่ติดขัดเหมือนมีก้อน ให้ลองคลึงดู
- หากพบก้อนผิดปกติให้ไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจอย่างละเอียดอีกครั้ง