Miramax สตูดิโอหนังอิสระ ที่เริ่มจากก้าวเล็กๆ ผ่านผลงานความสำเร็จ และการสะดุดความผิดพลาดในอดีต สู่บทพิสูจน์ใหม่ พา “หลานม่า” สู่สายตาคอหนังระดับฮอลลีวูด
“หลานม่า” (How to Make a Millions Before Grandma Dies) เป็นภาพยนตร์ไทยอีกหนึ่งเรื่องที่เข้าตา “มิราแม็กซ์ (Miramax)” บริษัทผลิตภาพยนตร์ของต่างชาติ ที่ล่าสุดได้ซื้อลิขสิทธิ์ หลานม่า ไปสร้างใหม่ในระดับฮอลลีวูด หลังภาพยนตร์ไทยเรื่องนี้ได้ไปโลดแล่นสร้างความประทับใจให้กับผู้ชมทั้งในไทยและต่างประเทศ และอาจมีชื่อเสนอเข้าชิงรางวัลออสการ์อีกด้วย
แต่ด้วยชื่อเสียงของ Miramax ที่ในวันนี้ยังไม่ได้เทียบเท่ากับบริษัทระดับแนวหน้าของฮอลลีวูด อย่าง ค่ายหนังยักษ์ใหญ่ในอเมริกา เช่น Warner Bros. Entertainment, Universal Pictures, Walt Disney หรือ Netflix น้องใหม่ไฟแรงของธุรกิจผลิตหนัง ทำให้หลายคนยังสงสัยในความสามารถของ Miramax ว่า จะประสบความสำเร็จในการนำ หลานม่า ไปสร้างใหม่ได้หรือไม่
แต่หากใครรู้จักมาก่อนคงทราบดีว่า ในอดีต Miramax เคยประสบความสำเร็จและมีอิทธิพลอย่างมาก หลังก่อตั้งในปี 1979 โดย “Harvey” และ “Bob” 2 พี่น้องจากตระกูล Weinstein (ไวน์สตีน) โดยชื่อ Miramax มาจากการผสมชื่อพ่อและแม่ของพวกเขา คือ Miriam และ Max
Miramax เป็นบริษัทผลิตและจัดจำหน่ายภาพยนตร์อิสระในอเมริกา ที่เคยถูกตราหน้าจากค่ายภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งว่า ไม่สามารถที่จะสร้างรายได้ในเชิงพาณิชย์ได้ แต่ Miramax ก็ไม่ได้ยอมแพ้ และเดินหน้าพิสูจน์ผลงานด้วยภาพยนตร์เรื่อง “The Secret Policeman's Other Ball” ด้วยการจับมือกับโปรดิวเซอร์ชาวอังกฤษ อย่าง “Martin Lewis” ที่ร่วมกันซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์เพื่อการกุศลของ Amnesty International องค์กรสิทธิมนุษยชน และนั่นถือเป็นความสำเร็จครั้งแรก พร้อมกับเปิดตัว Miramax ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ในช่วงปี 1982
ระหว่างช่วงปลายทศวรรษ 1980 จนถึงช่วงต้นทศวรรษ 1990 มีภาพยนตร์อินดี้ชื่อดังมากมายที่ประสบความสำเร็จโดย Miramax ในฐานะผู้จัดจำหน่าย ได้แก่ เรื่อง Pulp Fiction, Scandal, Sex Lies and Videotape, Tie Me Up! Tie Me Down!, The Crying Game และเรื่อง Clerks และในฐานะผู้สร้างภาพยนตร์ อย่างเรื่อง Flirting with Disaster, Heavenly Creatures และ Shakespeare in Love
ตามมาด้วยภาพยนตร์อีกหลายเรื่องที่สร้างรายได้ให้กับบริษัท แต่ที่สร้างปรากฎการณ์ทำรายได้ถล่มทลายที่สุด ก็คือ Chicago ภาพยนตร์แนวอาชญากรรม ที่แฝงความตลกร้ายเอาไว้ จนซื้อใจคนดูและทำรายได้ไปกว่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐทั่วโลก
และด้วยผลงานเหล่านี้ ทำให้ Miramax ขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในผู้นำของวงการภาพยนตร์อิสระ จนได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ อย่างเรื่อง Shakespeare in Love ที่คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาได้
กระทั่งในปี 1993 Walt Disney ได้เซ็นสัญญาซื้อกิจการของ Miramax films ด้วยมูลค่า 60 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ยังอยู่ภายใต้การบริหารงานของ Harvey และ Bob ทั้ง 2 พี่น้องได้บริหารงานอย่างอิสระ แต่การตัดสินใจเลือกผลงานภาพยนตร์ที่จะออกฉายยังคงเป็นของ Disney โดยสัญญาในครั้งนั้นได้ดำเนินการเรื่อยมา จนในปี 2005 ตระกูล Weinsteins ได้ตัดสินใจอำลา Walt Disney ไปตั้งบริษัทใหม่ ที่ชื่อว่า The Weinstein Company หรือ TWC ที่ยังคงผลิต และจัดจำหน่ายภาพยนตร์อิสระอยู่
และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นในการเดินทางครั้งใหม่ของ 2 พี่น้อง ตระกูล Weinsteins ที่เกิดขึ้นในปี 2005
แต่แล้วความฝันของ 2 พี่น้องก็ต้องจบลง เพราะเรื่องอื้อฉาวของ Harvey ผู้เป็นพี่ชาย ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานล่วงละเมิดทางเพศ และทำร้ายร่างกายผู้หญิงหลายสิบคน ซึ่งนั่นเป็นเวลาเดียวกับที่บริษัท ประสบวิกฤตทางการเงินอย่างหนัก จนถึงวันสิ้นสุด บริษัทได้ประกาศล้มละลายในปี 2018 ทำให้สิทธิ์การครอบครองคลังภาพยนตร์จาก TWC ทั้งสิ้น 277 เรื่อง พร้อมทรัพย์สินของบริษัท ได้ตกเป็นของ Lantern Entertainment บริษัทผลิตภาพยนตร์อิสระของอเมริกา ที่ชนะการประมูลมาได้
ส่วน Miramax หลังจากหลุดมือ Walt Disney ได้ถูกส่งต่อและเปลี่ยนมือการบริหาร พร้อมกับราคาขายที่สูงขึ้นแตะหลักพันล้านดอลลาร์ จนล่าสุด ผู้ที่ยังครอบครอง Miramax จนถึงปัจจุบันคือ beIN Media Group และ Paramount Global ภายใต้การบริหารงานของซีอีโอที่ชื่อว่า Jonathan Glickman
และการซื้อลิขสิทธิ์ “หลานม่า” ไปรีเมคในครั้งนี้ นอกจากจะสร้างเสียงฮือฮา และความตื่นเต้นให้กับภาพยนตร์ไทยเป็นอย่างมากแล้ว น่าจะเป็นบทพิสูจน์ใหม่ของ Miramax สตูดิโอภาพยนตร์เก่าแก่ ว่าจะสามารถพาภาพยนตร์ไทยไปสู่ระดับฮอลลีวูด อย่างที่เคยทิ้งร่องรอยความสำเร็จไว้ในอดีตได้หรือไม่