Work from home อาจไม่ตอบโจทย์คนยุคใหม่ ทั้งที่เคยเป็นชีวิตในฝันของวัยทำงาน

Work from home อาจไม่ตอบโจทย์คนยุคใหม่ ทั้งที่เคยเป็นชีวิตในฝันของวัยทำงาน
ใครหลายคน อาจจะยังคุ้นชินและมีความสุขกับการได้ Work from home แต่ในขณะเดียวกัน ผลการศึกษาก็พบว่า นั่นอาจกลายเป็นภาวะ Burn out และบั่นทอนสุขภาพจิตของวัยทำงานโดยไม่รู้ตัว

องค์กรไหนที่มี Work from home มักจะสะดุดตาคนที่กำลังมองหางานอย่างปฏิเสธไม่ได้ และหากเทียบกันระหว่าง 2 บริษัท ที่มีที่ใดที่หนึ่ง Work from home ก็ดูว่า จะได้เปรียบและได้รับความสนใจจากเหล่าวัยทำงานมากกว่าทันที 

แต่แท้จริงแล้ว การ Work from home ในระยะยาวส่งผลดีจริงหรือไม่? เพราะนับตั้งแต่หลังช่วงวิกฤติโควิด-19 ได้มีงานวิจัยหลายชิ้นที่รายงานผลการศึกษาว่า การ Work from home แม้จะมีข้อดี แต่ก็ส่งผลเสียตามมาเช่นกันโดยเฉพาะเรื่อง “สุขภาพจิต” ที่มีหลายปัจจัยเป็นองค์ประกอบ 

แม้แต่ JPMorgan Chase ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ และมีพนักงานทั่วโลกกว่า 3 แสนคน ได้ประกาศปรับรูปแบบการทำงานของพนักงานให้กลับมาทำงานที่บริษัท 5 วันต่อสัปดาห์ เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา หลังผ่านวิกฤติโควิด-19 มาแล้ว 5 ปี 

ผู้บริหารระดับสูงมองเห็นตรงกันว่า ตอนนี้ถึงเวลาที่เหมาะสมที่จะพัฒนาแนวทางการทำงานในบริษัทแบบเต็มเวลาให้แข็งแกร่งขึ้น พร้อมมองว่า การทำงานแบบตัวต่อตัว มีประโยชน์มากกว่าและไม่มีวิธีไหนที่จะสามารถทดแทนได้ และหากได้ใช้เวลาร่วมกันมากขึ้น ก็จะได้รับประโยชน์มากขึ้นเช่นกัน 

แนวคิดนี้ไม่เพียงแต่ JPMorgan Chase เท่านั้นที่ปลุกความตื่นตัวให้กับพนักงาน แต่ก่อนหน้านี้ในช่วงปลายปี 2024 ที่ผ่านมา Amazon ก็ได้แจ้งยกเลิก Work from home พร้อมเรียกพนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ 5 วันต่อสัปดาห์ด้วยเช่นกัน โดยมีผลไปเมื่อช่วงต้นมกราคมที่ผ่านมานี้เอง  

ไม่เพียงแต่มุมมองและความเห็นของผู้บริหารของบริษัทยักษ์ใหญ่เท่านั้น แต่งานวิจัยที่ศึกษาผลกระทบของการทำงาน Work from home ก็มีออกมาอย่างต่อเนื่อง หลังเกิดวิกฤติโควิด-19 ดังเช่น ในงานวิจัยมหาวิทยาลัยวอลเดน เกี่ยวกับความท้าทายด้านสุขภาพจิตที่อาจเกิดขึ้นของพนักงานทำงานจากที่บ้านในช่วงโควิด-19 โดย Jena Graham ที่พบว่า แม้การ Work from home จะตอบโจทย์เหล่าคนทำงานในช่วงโควิด-19 ทั้งความสะดวกสบายในการเดินทาง ความยืดหยุ่นของเวลาการทำงาน แต่ผลการศึกษาก็พบว่า รูปแบบการทำงานดังกล่าว กลับส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของพนักงานได้เช่นกัน 

การขาดปฏิสัมพันธ์ เหนื่อยล้า ตลอดจนเกิดปัญหาที่ไม่สามารถแยกแยะเวลาทำงานกับเวลาส่วนตัวได้อย่างชัดเจน สิ่งเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาที่พบจากการทำงานที่บ้านทั้งสิ้น 

เช่นเดียวกับการศึกษา ผลกระทบของการทำงานระยะไกลต่อสุขภาพจิตและประสิทธิภาพการทำงาน ที่เผยแพร่อยู่บน Scientific Research พบว่า สภาพแวดล้อมส่วนบุคคล มีผลกระทบต่อสุขภาพจิต ทั้งความวิตกกังวล ภาวะหมดไฟ หรือภาวะซึมเศร้า 

แต่ก็ใช่ว่าปัญหานี้จะไม่มีทางแก้ไข เพราะการศึกษานี้ยังได้แนะนำสิ่งที่องค์กรควรปรับ หากยังอยากคงวัฒนธรรมรูปแบบ Work from home ไว้อยู่ นั่นคือ รูปแบบการทำงานแบบผสม หรือ Hybrid Work ที่จัดสรรเวลาการทำงานที่บ้าน และทำงานเต็มเวลาได้อย่างลงตัว เช่น “ทำงานที่บ้าน 3 วันต่อสัปดาห์ ส่วนอีก 2 วันก็เข้าออฟฟิศ” ก็สามารถสร้างความพึงพอใจทั้งต่อองค์กรและพนักงานได้ดีเช่นกัน 

และดูเหมือนว่า จะสอดคล้องกับผลสำรวจ Harris Poll โดย Freeman บริษัทจัดงานอีเวนต์ระดับโลก ที่พบว่า ในปี 2025 Gen Z กว่า 91% มองว่า เป็นเรื่องที่ดีหากสามารถบาลานซ์ระหว่างการพบปะต่อหน้า กับการพบปะในโลกเสมือนจริง เพื่อสร้างความสัมพันธ์ในองค์กร 

อีก 89% พบว่า Gen Z เห็นด้วยการสร้างความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างงานอีเวนต์จะสร้างความมั่นใจในอาชีพของพวกเขาได้ และอีกกว่า 86% เห็นด้วยว่า การพบปะกันในสถานที่จริงเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาอาชีพ และอาจยิ่งทำให้ชัดไปกว่านั้น เพราะมีถึง 79% ที่มองว่า เป้าหมายของพวกเขา คือการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน “ในโลกแห่งความเป็นจริง” มากขึ้น

แม้ว่า มาตรการของบริษัท และผลการศึกษาข้างต้น อาจจะยังขัดกับความเห็นและความพึงพอใจของคนวัยทำงานอยู่บ้าง เพราะแต่ละคนก็มีองค์ประกอบในชีวิตที่แตกต่างกันออกไป และนั่นก็เพราะทั้งหมดนั้น ไม่ได้การันตีได้อย่างครอบคลุม ว่า “ทุกคน” จะ “เสียสุขภาพจิต” จากการ Work from home เสียทีเดียว แต่อาจต้องขึ้นอยู่กับบริบทของบุคคล องค์กร และวัฒนธรรมในพื้นที่นั้นด้วย ซึ่งผู้ที่เป็นผู้บริหารอาจจะต้องคอยหมั่นตรวจสอบ ดูแลเอาใจใส่ และปรับตัวไปพร้อมๆ กัน 

TAGS: #workfromhome #mentalhealth #สุขภาพจิต