ค้นหาความงามในความไม่แน่นอนผ่านผลงานของ Tomo Campbell ศิลปินอังกฤษมากฝีมือกับนิทรรศการ “Over the Top” ที่พาผู้ชมดำดิ่งสู่โลกศิลปะที่ทั้งคุ้นเคยและคาดไม่ถึง
โทโม แคมป์เบลล์ (Tomo Campbell) ศิลปินชาวอังกฤษที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ นำเสนอผลงานใหม่ในนิทรรศการ Over the Top ซึ่งจับมือร่วมกับ คิง เพาเวอร์ มหานคร ด้วยการขยายขอบเขตการทำงานที่ทรงพลังของเขา ชวนสำรวจความสองขั้วของความเกินเลยทั้งในด้านวัตถุและในเชิงเปรียบเทียบ ซึ่งวันนี้ The Better Social ได้พาผู้อ่านมาทำความรู้จักทั้งผลงาน ความคิด และตัวตนในความเป็นศิลปินของแคมป์เบลล์
“นี่เป็นครั้งแรกที่ผมนำงานมาจัดแสดงในประเทศไทย เมื่อปีที่แล้วผมจัดแสดงที่ฮ่องกง เลยได้มีโอากาสลองมาเที่ยวเมืองไทย และคิดว่าต้องกลับมาอีกครั้ง แต่การกลับมาครั้งนี้เป็นการกลับมาเพื่อจัดแสดงงาน ที่นี่ให้ความรู้สึกสดใหม่ น่าตื่นเต้นมาก แตกต่างจากอังกฤษหรืออเมริกาโดยสิ้นเชิง ที่นั่นผมรู้จักผู้คนเยอะ แต่ที่นี่ทุกอย่างใหม่หมด และผู้คนก็ใจดีมาก ผู้คนที่นี่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น เหมือนทุกคนพยายามอย่างมากเพื่อดูแลผม” แคมป์เบลล์กล่าว นิทรรศการ “Over the Top” มาจากวลีภาษาอังกฤษที่คนมักพูดกันแบบสบายๆ ซึ่งมีหลายความหมาย เช่น การทำอะไรเกินความคาดหวัง หรือได้รับการดูแลอย่างดีเยี่ยม นิทรรศการนี้ปกติจะจัดอยู่บนชั้นบนสุดของอาคารด้วย ซึ่งเราล้อกับการเล่นคำได้ดี พอทุกอย่างมารวมกัน มันก็รู้สึกว่าเหมาะมาก
สมดุลของ Abstraction and Figuration
ในทุกงานของผมมันจะมีสิ่งหนึ่งที่มองเห็นได้ชัดเจนนั่นคือความขัดแย้งระหว่างความเป็นนามธรรม และความเป็นรูปธรรม ทั้งรูปวาด การใช้สี ดังนั้นสิ่งที่ยากที่สุดในการทำงานคือการหาสมดุลระหว่างความเป็นนามธรรมกับความเป็นรูปธรรม ถ้ามีความเป็นรูปร่างชัดเกินไป งานก็จะดูเข้าใจง่ายเกินไป แต่ถ้านามธรรมมากไป ผู้ชมก็อาจหลงทาง ผมพยายามหาจุดที่เมื่อคนมองนานๆ ซึ่งยิ่งคุณมองภาพวาดนานขึ้น ภาพเหล่านั้นก็จะค่อยๆ เปิดเผยตัวเองออกมา ตอนแรกที่คนมอง พวกเขาอาจจะเห็นแค่ภาพนามธรรม เห็นแค่เงาๆ ของรูปร่างบ้างเล็กน้อย แต่พอยิ่งดูไปเรื่อยๆ ก็จะเริ่มเห็นรายละเอียดต่างๆ โผล่ออกมาเรื่อยๆ เช่น เงารูปคน ม้า สุนัข หรือแม้แต่ต้นไม้ ซึ่งบางอย่างชัดเจน บางอย่างแอบซ่อนอยู่
แต่สิ่งที่ยากที่สุดก็คือ ผมรู้ว่ามีอะไรอยู่ในภาพ แต่ยากที่จะตัดสินใจว่าจะเปิดเผยมากแค่ไหน และจะซ่อนอะไรไว้บ้าง บางภาพก็ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากกว่า ในขณะที่บางภาพก็นามธรรมมากกว่าผมอยากให้ภาพวาดดูแล้วไม่เบื่อง่าย ต้องมองซ้ำถึงจะเห็นสิ่งใหม่ๆ อย่างภาพม้า — ม้า ม้า ม้า — มีทั้งแบบซ่อนๆ และแบบชัดเจน มีร่างกายของคนขี่ม้าอยู่ด้านบนของม้า ผมชอบให้ทุกภาพเป็นแบบนั้น คือให้คนดูต้องค้นหาองค์ประกอบต่างๆ เอง
ผมมักจะใช้สีที่ดูเข้ากันไม่ได้เลย แล้วพยายามสร้างผลงานจากตรงนั้น เพื่อทำให้ตัวเองทำงานยากขึ้น ถ้าใช้แต่สีสวยๆ ตลอด มันก็จะดูสวยเกินไป ผมอยากให้มันมีความเป็นตัวเองอยู่ในนั้น เลยเลือกใช้สิ่งที่ดูไม่เข้ากัน สีตัดกันแรงๆ อย่างนีออนกับเขียวเข้มซึ่งฟังดูแย่มาก ผมก็เลยคิดว่า ลองวาดภาพแบบนั้นดูสิ วางแผ่นสีแบบแปลกๆ ทับลงไปบนภาพ ผมไม่ชอบภาพที่ดูเหมือนจริงเกินไป อยากให้รู้สึกเหมือนอยู่ในโลกอีกใบ ไม่ใช่สิ่งที่เห็นในชีวิตประจำวัน ซ่อนสิ่งที่ชัดเจนเกินไป แต่ภาพพวกนี้ไม่มีอะไรที่เป็นสีที่ “ถูกต้อง” สำหรับการวาดภาพเลย
ภาพที่ถ่ายทอดความเป็น "Tomo"
มันเป็นภาพที่ยากที่สุด และเปลี่ยนแปลงมากที่สุด ภาพที่ผมประทับใจ และบ่งบอกความเป็นตัวผมที่สุดมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่มีภาพหนึ่งที่เมื่อเริ่มวาดกับผลลัพท์เปลี่ยนไปมากระหว่างการทำงาน (ชี้ไปที่ภาพ) คือภาพนี้ ตอนแรกไม่มีม้าเลย แล้วอยู่ๆ วันหนึ่งผมว่ามันต้องมีออะไรที่มีการเคลื่อนไหวผมวาดอะไรเร็วๆ ลงไป มันกลับเวิร์ก ซึ่งมันเป็นภาพที่ผมไม่มั่นใจที่สุดระหว่างทำ แต่พอเสร็จแล้วกลับรู้สึกผูกพัน เพราะมันคาดไม่ถึงที่สุด ภาพนั้นดูแตกต่างจากภาพอื่น ๆ และนั่นแหละทำให้มันพิเศษ บ่อยครั้ง ภาพที่ฉันชอบก็คือภาพที่ฉันไม่รู้ว่ามันดีหรือเปล่านี่แหละ
เวลาส่วนตัว ครอบครัว และเพื่อน
ชีวิตการทำงานในทุกๆ วันคือ การผสมกันบางครั้งก็ทำตามรูปแบบเดิมๆ ซ้ำๆ บางครั้งก็ลองฉีกไปบ้าง บางวันมันก็แย่มาก บางวันก็ดี แต่ผมทำงานเสมอ อย่างไรก็ตามมันจะมีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นเสมอ ผมไม่ได้รอแรงบันดาลใจจากที่ไหน ผมสร้างแรงบันดาลใจของตัวเองมากกว่า แค่เริ่มลงมือทำ ทดลองสิ่งต่างๆ แล้วก็หวังว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นตามมา
ส่วนในวันว่าง (จะเรียกว่าว่างหรือเปล่า?) ผมมีลูกสามคน พวกเขาใช้เวลามากมายอยู่ในสวน ว่ายน้ำ ทำตัวเหมือนเด็กทั่วไป อยากทำอะไรก็ทำ พวกเราอยู่ใกล้ป่า ก็จะออกไปเดินป่า สำรวจ เล่นผจญภัย หาทางของตัวเองไปเรื่อยๆ ในป่า คุณไม่หลงทางหรอก ถ้าไปกับเด็กๆ พวกเขาแค่ทำสิ่งที่อยากทำเอง ผมมีเพื่อนที่ดี “แฮร์รี่ สไตล์” ให้การสนับสนุนผมมาอย่างยาวนานเขาซื้อภาพไปหลายชิ้น แต่ผมก็ยังทำงานในแบบของผม ไม่ปล่อยให้สิ่งนั้นมาเปลี่ยนวิธีการสร้างสรรค์
ความเป็นศิลปินที่แท้จริง
หากอนาคตไม่มีคนดูงานอาร์ตแล้ว ผมก็ยังคงทำงานอาร์ตต่อไป ย้อนกลับไปตอนเด็ก 5-6 ขวบที่เพิ่งหัดวาดภาพก็ไม่มีใครมามองงานคุณอยู่แล้ว หรือแม้แต่ตอนที่เริ่มทำงานอาร์ตจริงจังที่คุณไม่มีชื่อเสียง ที่ไม่มีใครมาชมงานของคุณ ผมก็ยังคงทำงานอาร์ตต่อไป ผมวาดภาพโดยไม่ได้คิดว่าจะมีคนมาเห็น ไม่ได้หวังว่าต้องขายงานหรือเข้ากับตลาดศิลปะ ต่อให้ผมทำงานเป็นพนักงานธนาคารผมก็ยังคงวาดภาพในวันหยุดอยู่ดี ผมแค่อยากวาดรูป และยังคงรู้สึกแบบนั้นอยู่จนวันนี้
ก้าวเข้าสู่เส้นทางศิลปินที่มีชื่อเสียง
ผมไม่รู้จริงๆ เพราะศิลปินแต่ละคนที่ผมรู้จัก ต่างก็มีเส้นทางของตัวเอง มันไม่ง่ายเลย ผมคิดว่าคุณต้องลองเอางานออกไปแสดง หลายคนตอนยังเด็กมักคิดว่ายังไม่พร้อม แต่ผมว่าคุณแค่ต้องไปเลย ทำเลย ออกไปพบปะผู้คน ไปเปิดนิทรรศการ ไปเจอศิลปิน และอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนั้น ถ้าคุณมีเพื่อนสัก 4 คน ก็จัดนิทรรศการของตัวเองได้แล้ว อะไรๆ ก็อาจเริ่มเกิดขึ้น ศิลปินเก่งๆ ที่ประสบความสำเร็จก็มี ศิลปินที่แย่แต่ก็ประสบความสำเร็จก็มี สิ่งสำคัญคืออย่าคาดหวังมากเกินไป แค่ลงมือทำ แล้วหวังว่าจะมีบางอย่างเกิดขึ้น
คุณไม่จำเป็นต้องมีไอเดียของตัวเองทั้งหมดในตอนแรก แค่มีนิดหน่อยแล้วค่อยๆ คิดต่อยอดเอง การค่อยๆ ค้นหาสิ่งที่คุณไม่ชอบเป็นสิ่งสำคัญมาก ทำไมคุณถึงไม่ชอบมัน? คุณต้องตั้งคำถามกับตัวเอง ผลักดันตัวเอง ลองอะไรที่แตกต่าง อย่าหยุดนิ่ง เปลี่ยนวิธีการทำงานไปเรื่อยๆ เล่นกับมันแบบนั้น แต่อย่าหมกมุ่นกับสไตล์หรือแบรนด์ของตัวเองมากเกินไป แค่พยายามมองดูงานศิลปะให้เยอะๆ ก็พอ
ในภาพวาดของผมมีการอ้างอิงถึงศิลปะตะวันตกอยู่มาก ทั้งภาพวาดอิตาเลียน ภาพฝรั่งเศส แล้วก็สงสัยว่า คนในอังกฤษรู้ไหมว่างานแบบนี้มาจากไหน ผมสนใจว่าเวลาผู้ชมดูแล้วจะรู้ไหม หรือพวกเขามองว่ามันคือสิ่งใหม่ไปเลย ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าชอบแบบไหนนะ ตอนนี้ในงานของผมก็มีอิทธิพลจากฝั่งตะวันออกมากขึ้น มีองค์ประกอบมากขึ้นเรื่อยๆ มันก็คงดีถ้าได้เปิดมุมมองให้กว้างขึ้นกว่านี้ เช่น ผมไปดูภาพวาดถ้ำของอินเดีย แล้วก็คิดว่าอยากเอาสิ่งนั้นมาใส่ในงานของตัวเองมากขึ้น ผมหวังว่าการจัดแสดงนิทรรศการที่ไทยในครั้งนี้จะสามารถทำให้คนที่เข้ามาเยี่ยมชมประทับใจในงานของผม เขาจะรับรู้สิ่งที่ผมตั้งใจจะสื่อสารออกไป
นิทรรศการที่มองเห็นความแตกต่างทับซ้อนกันเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน อยากจะเชิญชวนผู้ชมเข้าสู่โลกที่ทั้งคุ้นเคยและหลบซ่อน สีสันปะทะกันและประสานกัน รูปทรงเกิดขึ้นและสลายไป สะท้อนถึงความไม่แน่นอนของการรับรู้เอง พร้อมจัดแสดงให้ทุกท่านได้มารับชมวันพุธที่ 9 - วันศุกร์ที่ 11 เมษายน 2568 ตั้งแต่เวลา 10.00 -19.00 น. ที่ชั้น 3 โรงแรมเดอะ สแตนดาร์ด แบงค็อก มหานคร ไม่เสียค่าเข้าชม