เหงื่อออกมือ ออกเท้า ปัญหาน่ารำคาญใจ

เหงื่อออกมือ ออกเท้า ปัญหาน่ารำคาญใจ
การขับเหงื่อเป็นกลไกที่ช่วยควบคุมอุณหภูมิหรือความร้อนในร่างกายให้อยู่ในระดับปกติ แต่หากมากกว่าปกติแม้การใช้ชีวิตประจำวันจะไม่ได้กระทบมาก แต่ทำให้เกิดความทุกข์ วิตกกังวลใจ

การขับเหงื่อเป็นกลไกที่ช่วยควบคุมอุณหภูมิหรือความร้อนในร่างกายให้อยู่ในระดับปกติ โดยมักพบบ่อยบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า รักแร้ ใบหน้า หู หนังศีรษะ หรือแผ่นหลัง เมื่อกลไกนี้เกิดขึ้นร่างกายก็จะมีอุณหภูมิเย็นลงนั่นเอง 

แต่บางกรณีที่เกิดเหตุการณ์เหงื่อออกมือ และเท้ามากผิดปกติ จนกลายเป็นเรื่องน่ารำคาญใจ และยังรู้สึกหวั่นใจว่าร่างกายมีความผิดปกติหรือไม่ แม้การใช้ชีวิตประจำวันจะไม่ได้กระทบมาก แต่ทำให้เกิดความทุกข์ วิตกกังวล ต้นตอของเหงื่อออกมือ ออกเท้าเกิดได้หลายสาเหตุ

สาเหตุของเหงื่อออกมือ 

ฝ่ามือของคนเรามีจำนวนต่อมเหงื่อมากกว่าอวัยวะอื่น จึงทำให้เรารู้สึกได้ว่าปริมาณเหงื่อที่มือมีมากกว่าส่วนอื่น ๆ โดยเหงื่อออกมืออาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่

  • ผ่านการถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากคนในครอบครัว
  • ถูกกระตุ้นให้มีเหงื่อออกจากการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ความเครียด อากาศร้อน การทำกิจกรรมทางกาย หรือการรับประทานอาหารรสจัด 

แต่คนที่มีเหงื่อออกมือหรือบริเวณอื่น ๆ มากผิดปกติ โดยไม่ได้สัมพันธ์กับความร้อนหรือการออกกำลังกายทั่วไป และหากพบอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย ก็เป็นไปได้ว่าบุคคลนั้นกำลังเผชิญกับภาวะทางสุขภาพที่ในทางการแพทย์เรียกกันว่าภาวะเหงื่อออกมาก (Hyperhidrosis) ซึ่งเป็นผลจากโรคประจำตัวหรือสภาวะสุขภาพบางประการ  ยกตัวอย่างเช่น

  • โรคเบาหวาน
  • ปัญหาเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์
  • โรคหัวใจขาดเลือด
  • โรคในระบบประสาท การติดเชื้อ
  • โรคมะเร็งบางชนิด
  • การใช้ยารักษาโรคอย่างยาแก้ปวด ยาต้านเศร้า ยาเบาหวานบางชนิด หรือยาฮอร์โมน
  • การเข้าสู่วัยทอง
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 

สาเหตุของเหงื่อออกเท้า

โดยธรรมชาติแล้ว เหงื่อออกเท้าอาจเกิดขึ้นจากการถูกกระตุ้นจากปัจจัยตามธรรมชาติหรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตในแต่ละวัน เช่น

  • ความร้อน อากาศร้อน 
  • การออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมทางกาย 
  • การสวมรองเท้าหรือถุงเท้าที่คับแน่น ระบายอากาศได้ไม่ดี 
  • การอยู่ในท่ายืนติดต่อกันเป็นเวลานานหรือตลอดทั้งวัน 
  • ความเครียด วิตกกังวล หรือการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ 

วิธีลดเหงื่อออกมือ ออกเท้าเบื้องต้น

โดยทั่วไปไม่ได้เกิดจากปัญหาสุขภาพที่ต้องได้รับการรักษาที่เหมาะสม เราอาจดูแลและลดปริมาณเหงื่อที่ออกได้ด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้ 

  • ไม่สวมถุงมือหนา ๆ ที่ผลิตจากวัสดุที่ไม่มีรูระบายอากาศหรือระบายอากาศได้ยาก เลือกถุงเท้าหรือถุงน่องที่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติอย่างผ้าฝ้าย หรือมีคุณสมบัติช่วยในการดูดซับเหงื่อ โดยควรเปลี่ยนถุงเท้าหรือถุงน่อง 1–2 ครั้ง/วัน
  • ทำความสะอาดเท้าด้วยน้ำและสบู่  
  • ตัดเล็บเท้าให้สั้นและกำจัดเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วออกด้วยการขัดเท้า 
  • งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มร้อนอย่างชาหรือกาแฟ รวมถึงรับประทานอาหารที่มีรสจัดที่อาจทำให้เราเหงื่อออกได้ 
  • ลองทำกิจกรรมเบา ๆ คลายความเครียดอันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีเหงื่อออก 

วิธีการลดเหงื่ออีกทางคือการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดเหงื่อ หรือส่วนผสมที่ช่วยป้องกันแบคทีเรียได้เช่น

  • ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารระงับเหงื่อ (Antiperspirant) อย่างอะลูมิเนียมคลอไรด์ (Aluminium Chloride) ความเข้มข้น 6–20% ช่วยลดการขับเหงื่อให้น้อยลง โดยทาลงฝ่ามือก่อนนอนและล้างออกให้สะอาดหลังตื่นนอน 
  • ผสมเบคกิ้งโซดา 2–3 ช้อนชากับน้ำในปริมาณเล็กน้อยจากนั้นนำมาถูบริเวณฝ่ามือประมาณ 5 นาที แล้วจึงล้างออกให้สะอาด โดยเบคกิ้งโซดามีส่วนช่วยลดเหงื่อและทำให้เหงื่อระเหยออกไปได้เร็วขึ้น

ในกรณีที่มีเหงื่อออกมากร่วมกับเวียนศีรษะ คลื่นไส้ สั่น มีไข้ เจ็บหน้าอก ลำคอ ขากรรไกร แขน หรือหัวไหล่ ผิวเย็น หรือชีพจรเต้นเร็ว ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและเข้ารับการรักษาโดยเร็ว

ทั้งนี้ หากผู้ที่มีเหงื่อออกมือมากรู้สึกกังวลว่าอาการของตนเองอาจเกิดจากสาเหตุที่ผิดปกติ สามารถไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุอย่างละเอียด ซึ่งหากการมีเหงื่อออกมากเป็นผลจากปัญหาสุขภาพจริง แพทย์จะพิจารณาการรักษาหรือให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยอย่างเหมาะสม

ที่มา: pobpad

TAGS: #สุขภาพ #เหงื่อ