”อยากอยู่เรื่อยๆ ไม่อยากเก่ง ไม่อยากตำแหน่งสูง จะอะไรก็ช่าง“ หนุ่มสาวชาวจีนเซ็งชีวิตการทำงานแบบเอาเป็นเอาตาย สุดท้ายอยากอยู่เท่าที่มี ให้มันจบๆ ไป
กำลังเป็นที่วิจารณ์ในโซเชียลถึงคำคมของซีอีโอคนดังโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุข้อความว่า "ดูจากบรรยากาศเศรษฐกิจ 1-2 ปีต่อจากนี้ บอกเลยว่าใครยังทำงานชิล work life balance slow life อยู่ไม่รอดแน่นอน ตอนนี้ต้องกลับเข้าสู่บรรยากาศ work hard to survive แล้ว" ที่ล่าสุดยอดแชร์กว่า 1.9 หมื่นครั้งพร้อมคอมเมนต์แสดงความคิดเห็นมากมายทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เพราะเมื่อมองย้อนกลับไปแล้ว ประโยค work hard to survive เปรียบเสมือนวาทกรรมที่กระตุ้นให้ลูกจ้างตั้งใจทำงานอย่างถวายหัว ไม่ใช่เพื่อให้มีฐานะที่ดีขึ้น แต่กลับกลายเป็นว่าเพื่อให้อยู่รอดก็เท่านั้น
เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาหนุ่มสาว Gen Z และคนรุ่น Millennials ชาวจีนหันมาใช้เทรนด์การทำงานแบบ "ปล่อยให้มันเน่าเปื่อย" หรือ bailan (摆烂) ที่หมายถึงกรอบความคิดใช้ชีวิตแบบไม่อยากดิ้นรนหรือทำอะไรเลย แม้จะเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของตนก็ตาม เพราะไม่เห็นประโยชน์จากการทำแบบนั้น ห่างไกลจากความคาดหวังในชีวิตที่ดูเหมือนไม่มีความหมาย หรือบรรลุไม่ได้
ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปก่อนหน้าในปี 2021 ก็เกิดกระแส “นอนราบ” หรือ Lying flat รณรงค์ให้ตั้งเป้าหมายชีวิตแบบเสมอตัว ไม่ต้องขยันเกินตัวหรือทำงานนอกเหนือหน้าที่ รู้ว่าการทำงานหนัก ย่อมได้รับผลตอบแทนสูง ที่สามารถใช้จ่ายสิ่งที่ดีขึ้นได้ แต่ต้องแลกมาด้วยการพักผ่อนน้อย ไม่มีเวลาส่วนตัว การทำอะไรง่ายๆ กินง่าย อยู่ง่ายแบบราบเรียบจึงดูจะเข้าท่า หรือคล้าย ๆ กับเทรนด์ “ลาออกเงียบ” (Quiet Quitting)
ส่วนกระแส "ปล่อยให้มันเน่าเปื่อย" หรือ bailan คำศัพท์ใหม่นี้ แปลความหมายได้ในทั้งทางที่สนุกและทุกข์เช่นกัน เช่นการยอมแพ้ในสถานการณ์ที่สิ้นหวัง ยกตัวอย่างทีมบาสเก็ตบอลที่ยอม bailan ในที่นี้หมายถึงทีมที่แพ้ หรือหยุดพยายามจะเอาชนะเพื่อที่จะจบๆ เกมไป
คนหนุ่มสาวในจีนกำลังเผชิญกับปัญหามากมายและน่าท้อใจ รวมถึงอัตราการว่างงานของเยาวชน ราคาบ้านที่อาจสูงกว่าเงินเดือนเฉลี่ยถึง 14 เท่า สภาพแวดล้อม การออกเดตที่ซับซ้อน และยังต้องมีหน้าที่ดูแลพ่อแม่ผู้สูงอายุในขณะที่ยังต้องเลี้ยงดูลูกด้วย
ป่ายล่าน กับเทรนด์นอนราบ แตกต่างตรงที่ เทรนด์นอนราบ มีเป้าหมายเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคม ขณะที่ป่ายล่าน มีเป้าหมายอยากอยู่เฉยเฉยเพราะดิ้นรนไปก็ไม่มีอนาคตไม่ได้อยากเปลี่ยนแปลงอะไร เป็นการแสดงออกทางลบซึ่งดูเหมือนเป็นสิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจสูญเสีย แต่ยังเป็นแค่การรับมือสำหรับคนรุ่นใหม่ในการปกป้องตัวเอง ท่ามกลางการแข่งขันและแรงกดดันของสังคม