เดิมทีการรับบุตรบุญธรรมสามารถดำเนินการได้ โดยไม่ต้องรอกฎหมายสมรสเท่าเทียม ชาว LGBTQIAN+ ต้องรู้อะไรบ้างก่อนรับบุตรบุญธรรม
การรับบุตรบุญธรรมสำหรับชาว LGBTQIAN+ เดิมทีสามารถรับเป็นผู้ปกครองได้เพียงคนเดียวเท่านั้น เนื่องจากกฎหมายการรับบุตรบุญธรรมระบุไว้ว่า สามารถรับเป็นบุตรบุญธรรมได้กับบุคคลเดียว ยกเว้นจะเป็นคู่สมรสกัน ในกรณีการมีบุตรบุญธรรมสำหรับคู่รัก LGBTQIAN+ เมื่อพรบ.สมรสเท่าเทียมได้รับการบังคับใช้ คู่รัก LGBTQIAN+ สามารถเป็นผู้ปกครองของบุตรบุญธรรมร่วมกันได้
การรับบุตรบุญธรรม (Adoption) คือ การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งไปรับบุคคลหนึ่งมาอุปการะเลี้ยงดูเหมือนบุตรของตนเอง โดยบุคคลนั้นไม่ใช่บุตรโดยกำเนิดของตน และข้อกำหนดอีกหนึ่งคือ ผู้รับบุตรบุญธรรมกับผู้ที่จะมาเป็นบุตรบุญธรรมจะมีความเกี่ยวพันกันในทางเครือญาติหรืออาจไม่ใช่ญาติสืบสายโลหิต
ในส่วนของผู้ที่จะมาเป็นบุตรบุญธรรมอาจจะเป็นผู้เยาว์หรือบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้ว อาจไม่ได้มีสัญชาติเดียวกันกับผู้รับบุตรบุญธรรมก็ได้ อย่างไรก็ตาม การรับบุตรบุญธรรมดังกล่าวจะต้องดำเนินการจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย มิฉะนั้นแล้วย่อมไม่ก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ระหว่างผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมแต่อย่างใด
ทะเบียนรับบุตรบุญธรรม คือ เอกสารที่ใช้เป็นหลักฐานรับรองสิทธิทางกฎหมายระหว่างบุตรบุญธรรมกับผู้รับบุตรบุญธรรม ทำให้บุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมนั้น
สิทธิที่บุตรบุญธรรมจะได้ มีสิทธิได้รับมรดก มีสิทธิใช้นามสกุลของบิดาหรือมารดาบุญธรรม เป็นต้น แต่ผู้รับบุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิรับมรดกของบุตรบุญธรรม ทั้งนี้ การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมไม่ทำให้บุตรบุญธรรมสูญสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่ได้กำเนิดมา และบิดามารดาโดยกำเนิดหมดอำนาจปกครองนับแต่วันที่เด็ก (ผู้เยาว์) เป็นบุตรบุญธรรม
คุณสมบัติของผู้ที่จะจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม
- ผู้รับบุตรบุญธรรมต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และต้องมีอายุแก่กว่าผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี
- ผู้เป็นบุตรบุญธรรมที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี ต้องให้ความยินยอมด้วยตนเอง
- ผู้เป็นบุตรบุญธรรมที่เป็นผู้เยาว์ต้องได้รับความยินยอมจาก บิดา และมารดา หรือผู้ปกครอง
- ผู้จะรับบุตรบุญธรรม หรือผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม ถ้ามีคู่สมรสอยู่ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสก่อน
- ผู้เยาว์ที่เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลใดอยู่จะเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นอีก ในขณะเดียวกันไม่ได้เว้นแต่เป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/26 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน บัญญัติถึงผู้ที่มีสิทธิรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมร่วมกันว่าได้แก่ "คู่สมรส" ซึ่งเป็นข้อความที่มีลักษณะเป็นกลางทางเพศอยู่แล้ว จึงไม่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้ และเมื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้ คู่สมรสไม่ว่าจะมีเพศใดก็ตามย่อมสามารถรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1598/26 ทันที