วันนี้วงการบันเทิงได้สูญเสียพระเอกร้อยล้าน นายวินัย ไกรบุตร หรือ เมฆ นักแสดงชื่อดัง ในอายุเพียง 54 ปี หลังจากต่อสู้กับโรคตุ่มน้ำพอง หรือ เพมฟิกอยด์ (Bullous pemphigoid) ทุกวิถีทางตลอดระยะเวลา 5 ปี
โรคตุ่มน้ำพอง หรือ Bullous pemphigoid อาจเรียกอีกแบบว่า "ภูมิเพี้ยน" เป็นโรคผิวหนังเรื้อรัง ที่พบได้ไม่บ่อยมาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคตุ่มน้ำพองว่า เป็นโรคที่ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ เกิดการสร้างสารโปรตีนกลุ่มอิมมูโนโกลบูลินไปทำลายการยึดเกาะกันของเซลล์ผิวหนัง จึงเกิดการแยกตัวของผิวหนัง ในชั้นหนังกำพร้า หรือบริเวณรอยต่อระหว่างหนังกำพร้าและหนังแท้ ทำให้เกิดตุ่มน้ำพองขึ้นที่ผิวหนังหรือเยื่อบุต่าง ๆ เช่น ในปาก เป็นต้น ตัวอย่างของโรคเหล่านี้ คือ โรคเพ็มฟิกัส (Pemphigus) เพ็มฟิกอยด์ (Bullous pemphigoid)
อาการและอาการแสดง
โรคกลุ่มนี้บางชนิดพบในวัยเด็ก บางชนิดพบในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ พบได้ทั้งเพศหญิงและชาย อาการคือ มีตุ่มน้ำพองขนาดต่าง ๆ เกิดขึ้นที่ผิวหนัง บางรายอาจเกิดที่เยื่อบุต่าง ๆ ร่วมด้วย เมื่อตุ่มน้ำแตกจะเกิดแผล หรือรอยถลอก ทำให้มีอาการเจ็บ ถ้าเกิดตุ่มน้ำพองหรือแผลในปากจะทำให้เจ็บแสบ กลืนอาหารไม่สะดวก บางรายผิวหนังที่ถลอกหรือเป็นแผล อาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียเป็นหนอง ถ้าเป็นรุนแรง เชื้อโรคอาจเข้าสู่กระแสเลือดทำให้มีไข้ หรืออาการอื่น ๆ ได้
ผู้ป่วยจะมีแผลเหมือนถูกน้ำร้อนลวก และส่วนใหญ่มักมีแผลถลอกในช่องปากร่วมด้วย รวมถึงอาจพบแผลถลอกที่เยื่อบุบริเวณอื่น เช่น ทางเดินหายใจ เยื่อบุช่องคลอดและอวัยวะเพศ บริเวณผิวหนังมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำ แตกได้ง่าย กลายเป็นแผลถลอก มีอาการปวดแสบ หรือคัน เมื่อแผลหายมักทิ้งรอยดำโดยไม่เป็นแผลเป็น
ตำแหน่งที่พบบ่อย คือ ศีรษะ หน้าอก หน้าท้อง และบริเวณที่ผิวหนังเสียดสีกัน
สังเกตอาการ หากมีอาการดังต่อไปนี้แนะนำให้พบแพทย์
- มีผื่นคันที่ไม่หายไปภายในสองสามสัปดาห์
- มีแผลพุพองจำนวนมากหรือมีแผลพุพองขนาดใหญ่ที่เจ็บปวด
- มีตุ่มพองที่กลับมาเรื่อยๆ
- ผิวหนังร้อน บวม และแดง หรือมีตุ่มพองเต็มไปด้วยหนองหรือเลือด
ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจสอบอาการอีกครั้งเพื่อส่งตัวรักษา
การรักษาโรคตุ่มน้ำพอง ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ผู้ป่วยที่มีอาการมากควรได้รับรักษาในโรงพยาบาลเพื่อทำแผลอย่างถูกวิธี และเฝ้าระวังแผลติดเชื้อ ผู้ป่วยต้องทานยาต่อเนื่องภายใต้การดูแลของแพทย์เพื่อควบคุมให้โรคสงบ สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่อาจเป็นได้คือ
- ผู้ป่วยที่มีเสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือด
- เด็ก เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่
- ผู้สูงอายุ เนื่องจากการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันเริ่มเสื่อม
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำ
- ผู้ที่มีหลายโรคร่วม เช่น เบาหวาน ไตวายเรื้อรัง เป็นต้น