นอกจากอาการแขนขาอ่อนแรงยังเป็นอาการของโรคหลอดเลือดสมองตีบตันแล้วนั้น ยังเป็นอาการทางโรคทางระบบประสาทที่หลายคนไม่รู้จักที่เรียกว่า “โรคโมยาโมยา”
นพ. สุรัตน์ บุญญะการกุล ผู้อำนวยการศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลพญาไท 1 ได้อธิบายถึงภาวะแขนขาอ่อนแรง ว่า เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ หรือเซลล์ประสาทนำคำสั่ง จึงส่งผลให้แขนขาอ่อนแรงลง หรืออาจมีอาการอื่นร่วมด้วย ได้แก่ กลืนลำบาก พูดไม่ชัด พูดไม่ออก เป็นต้น
ทั้งนี้ อาการแขนขาอ่อนแรง มักจะเริ่มต้นจากบริเวณมือ แขน ขา หรือ เท้าข้างใดข้างหนึ่งก่อน โดยอาจจะเป็นการแสดงอาการในลักษณะต่างๆ เช่น ยกแขนไม่ขึ้น กำมือไม่ได้ หยิบจับของอะไรแล้วหล่นง่าย เป็นต้น จากนั้น หากมีอาการที่หนักหรือรุนแรงขึ้น ก็จะเริ่มลุกลามไปสู่อวัยวะอื่นๆ โดยอาจเป็นไปในลักษณะของการอ่อนแรงครึ่งซีก หรือ ทั้งตัว ซึ่งหากพบสัญญาณดังกล่าว นั่นเป็นสัญญาณเตือนว่า มีความผิดปกติของโรคที่อยู่ในระดับอันตรายแล้ว
แขนขาอ่อนแรง เป็นอาการแสดงหนึ่งของโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งหมายถึง ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงหรือมีเลือดออกและไปเบียดทับเนื้อสมอง โดยโรคนี้ถือว่าร้ายแรงเป็นอย่างมาก เพราะมีโอกาสทำให้เกิด อัมพฤกษ์ อัมพาต (แขนและขาอ่อนแรงครึ่งซีก) ทำให้มีปัญหาทางด้านความคิด สูญเสียความจำ มีปัญหาทางด้านการพูด และมีอารมณ์แปรปรวน ได้
ภาวะสมองขาดเลือดที่มีเนื้อสมองตาย เกิดจากการขาดเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง หลอดเลือดแดงบริเวณคอที่นำเลือดไปเลี้ยงบริเวณสมองเกิดการอุดตัน ภาวะสมองขาดเลือด ส่วนใหญ่จะเกิดจากหลอดเลือดสมองตีบ (Ischemic stroke) หรือหลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic stroke) คือ เกิดจากการที่ผนังหลอดเลือดแตก ทำให้มีเลือดคั่งในเนื้อสมอง
ในส่วนของอาการแขนขาอ่อนแรงนอกจากเป็นอาการแสดงโรคหลอดเลือดสมองตีบตันแล้วนั้น ยังเป็นอาการแสดงโรคทางระบบประสาทอีกชนิดหนึ่งชื่อว่า “โรคโมยาโมยา” โรคทางระบบประสาทที่หลายคนไม่รู้จัก ผู้ป่วยจะมีอาการแสดงที่ผิดปกติไปจากเดิม คือพูดไม่รู้เรื่อง แขนขาอ่อนแรง แต่โรคดังกล่าวสามารถอธิบายทางการแพทย์ได้ ซึ่งเกิดจากความผิดปกติในเส้นเลือดสมอง ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ จึงแสดงอาการผิดปกติให้เห็น
โรคโมยาโมยา เกิดจากเส้นเลือดใหญ่ที่เลี้ยงสมองส่วนด้านหน้าและด้านข้างทั้งสองข้างเกิดการตีบตัน ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ไม่เพียงพอ ร่างกายมีการปรับตัวสร้างเส้นเลือดฝอยเล็ก ๆ ไปเลี้ยงสมองแทน เส้นเลือดฝอยดังกล่าวดูเหมือนกลุ่มควันจากการเอ็กซเรย์หลอดเลือดสมอง
อาการของโรคส่วนใหญ่เป็นอาการของสมองขาดเลือด ผู้ป่วยจึงมีอาการได้หลายหลาย และอาการอาจจะเกิดเป็นพักๆ อาการที่พบได้แก่
- สมองขาดเลือดชั่วคราว ยังไม่ถึงกับสมองตาย ทำให้มีอาการต่าง ๆ อยู่ชั่วขณะ เช่น ชา แขนขาอ่อนแรง พูดไม่ชัด มึนงง เป็นต้น สามารถกลับคืนเป็นปกติได้ในเวลาไม่เกินหนึ่งวัน
- สมองขาดเลือดรุนแรงจนเกิดภาวะสมองตาย เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ อาจมีอาการอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ได้ บางรายหากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอนาน ๆ อาจมีอาการปวดหัว การเรียนและความจำแย่ลง พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง เป็นต้น
- ปวดหัวรุนแรงจากมีเลือดออกในสมอง
- อาการชัก
โรคโมยาโมยามีอาการแสดงหลายอย่าง บางอาการอาจคล้ายคลึงกับโรคอื่น เช่น แขนขาอ่อนแรงที่คล้ายกับโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต วิธีการสังเกตว่าเป็นโรคโมยาโมยาหรือไม่ ต้องดูจุดเด่นของโรคคืออาการอาจเกิดขึ้นกับสมองทั้งสองข้าง โดยอาจแสดงอาการไม่พร้อมกัน เช่น แขนขาซีกซ้ายอ่อนแรงบ้าง แข่นขาซึกขวาอ่อนแรงบ้างสลับกันไปมา อย่างไรก็ตามต้องยืนยันด้วยการตรวจเอกซเรย์ดูเส้นเลือดสมอง