เตือน!! "ย้อมผมหงอก" ทุกเดือน เสี่ยงสัมผัสกับสารย้อมต่อเนื่อง พบผู้ป่วยมีค่าเอนไซม์ตับที่เพิ่มขึ้น-ไตเสื่อมจากการสัมผัสสารย้อม
นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สีผมธรรมชาติโดยเฉพาะคนไทยและคนเอเชียทั่วไป จะมีสีน้ำตาลเข้มไปจนถึงเกือบดำ สีดำในเส้นผมธรรมชาติมาจากเม็ดสีเมลานินที่สร้างจากเซลล์เมลาโนไซต์ในรากผม ซึ่งผมจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีขาว เนื่องจากการทำงานของเมลาโนไซต์ที่ลดลง และมีจำนวนน้อยลงตามอายุที่มากขึ้นและกรรมพันธุ์
สำหรับผู้ที่ต้องการปิดผมขาว อาจต้องใช้ผลิตภัณฑ์ปิดผมขาว ซึ่งการย้อมสีผมบ่อยๆ ทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนังบริเวณศีรษะ และก่อให้เกิดอาการแพ้
โดยอาการแพ้นั้นอาจเป็นผื่นเล็กน้อยบริเวณที่สัมผัส หรืออาจมีการแพ้ในระดับรุนแรง ผิวหนังมีอาการผื่นบวมคัน มีน้ำเหลืองซึม หน้าบวม ตาบวม ต่อมน้ำเหลืองบริเวณศีรษะและคอบวมโต โดยอาจมีไข้ร่วมด้วยได้ในบางราย
ทางด้าน แพทย์หญิงนันท์นภัส โปวอนุสรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวเพิ่มเติมว่า Permanent hair dye มีส่วนประกอบหลักๆ ดังนี้
1. Developer คือสารที่ใช้ล้างสีผมเดิม ส่วนประกอบหลักคือ hydrogen peroxide ทำหน้าที่กัดสีผมเดิมออก เพื่อให้ได้สีผมใหม่ที่มีความสดและสม่ำเสมอ hydrogen peroxide นี้ นอกจากทำให้เส้นผมแห้งเสียและยังระคายเคืองหนังศีรษะด้วยความที่เป็นด่างสูง
2. Alkaline agent คือสารที่ทำลายโปรตีนเส้นผม ทำให้เกล็ดผมเปิดออกเพื่อให้สีย้อมเข้าไปถึงแกนของเส้นผมได้ง่าย ส่วนประกอบหลักคือแอมโมเนีย เมื่อเส้นผมต้องสัมผัสกับแอมโมเนียบ่อยๆ จะทำให้ผมขาดร่วงง่าย
3. Color คือสารย้อมหลักๆ ที่ใช้กันโดยทั่วไปคือ PPD (para-phenylenediamine) และ PTDS (para-toluenediamine sulfate) ซึ่งเป็นสารย้อมทางเลือกสำหรับใครที่แพ้ PPD แต่สามารถแพ้ข้ามชนิดกันได้ สีย้อมที่ยิ่งเข้มดำยิ่งมีสารย้อมที่เข้มข้นกว่าสีอ่อน
4. ส่วนประกอบอื่นๆ ซึ่งแล้วแต่แบรนด์ต่างๆ จะเพิ่มเติมเข้าไปเพื่อจุดประสงค์การขาย เช่น สารสกัดจากธรรมชาติต่างๆ น้ำหอม และสารกันเสีย
นอกจากนี้ ยังมีรายงานผู้ป่วยที่มีการสัมผัสกับสารย้อมต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหนึ่ง มีค่าเอนไซม์ตับที่เพิ่มขึ้น และมีผู้ป่วยที่มีไตเสื่อมจากการสัมผัสสารย้อมเช่นกัน ดังนั้นหากเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำสีผม ควรยืดระยะเวลาระหว่างการทำสีแต่ละครั้งให้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อลดการสัมผัสกับสารที่ก่ออันตรายต่อร่างกายให้น้อยที่สุด
ข้อควรรู้ทำสีผมอย่างไรให้ปลอดภัย
นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึง การทำสีผมมีความนิยมสูงในปัจจุบัน เนื่องจากทำให้บุคลิกภาพเปลี่ยนไปและหลายคนยังทำสีผม เพื่อปกปิดผมขาวที่มากขึ้นตามวัย แต่การทำสีผมอาจทำให้เส้นผมหยาบกระด้าง ผมเสีย หรือผมขาดง่าย
เนื่องจากสารเคมีที่ใช้ย้อมผมนั้นมีผลต่อเส้นผม หากสารเคมีสัมผัสหนังศีรษะ ทำให้เกิดการระคายเคือง หรือในคนที่มีการแพ้ยาย้อมผม อาจทำให้หนังศีรษะเป็นผื่นมาก เกาเป็นแผล หรือมีผื่นทั่วทั้งร่างกายได้ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายและทำให้เกิดอาการคันซึ่งมีผลต่อคุณภาพชีวิตได้
แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ได้กล่าวเพิ่มเติม การทำสีผมหรือย้อมผมอาจมีผลต่อสุขภาพของเส้นผม หนังศีรษะและร่างกายได้ ประชาชนควรมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด ดังนี้
1. เลือกยาย้อมผมที่ปลอดภัย ควรเลือกยาย้อมผมที่มีคุณภาพ และมาตรฐานจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ควรสังเกตจากฉลากว่ามีการระบุข้อความที่จำเป็น เช่น เลขที่ใบรับแจ้งของอย. ชื่อของสารที่เป็นส่วนประกอบ วิธีใช้ ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า เลขครั้งที่ผลิตและวันเดือนปีที่ผลิตและ วันหมดอายุ เป็นต้น
อย่าเลือกยาย้อมผมนั้นเพียงเพราะยาย้อมผมนั้นนำเข้ามาจากต่างประเทศหรือเป็นสมุนไพร เนื่องจากสารหลายชนิดในยาย้อมผมเป็นสารที่ต้องควบคุมประมาณการใช้หรือเป็นสารที่ห้ามใช้ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข
2. ผู้ใช้ควรอ่านฉลากและปฎิบัติตามวิธีใช้ที่ระบุไว้ในฉลากให้ถูกต้อง และให้ระวังคำเตือนที่ระบุไว้ที่ฉลากด้วย เช่น มีสารพาราฟินีลีนไดอะมีนส์ (Paraphenylenediamine; PPD) อาจก่อให้เกิดการแพ้ได้ ระวังอย่าให้เข้าตา สวมถุงมือที่เหมาะสมขณะใช้ อย่าย้อมผมถ้ามีผื่นหรือแผลที่หนังศีรษะ
3. ท่านที่สงสัยว่าอาจจะมีการแพ้ ควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อทำการทดสอบ patch test
4. ควรสวมถุงมือทุกครั้งเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ย้อมผม แต่ในช่างย้อมผมที่มีการแพ้สารพาราฟินีลีนไดอะมีนส์ ควรใช้ถุงมือไนไตร (nitrile glove) เนื่องจากสารพาราฟินีลีนไดอะมีนส์ และสารอื่นบางชนิดในยาย้อมผมสามารถทะลุถุงมือยางธรรมดาได้
5. ไม่ควรปล่อยให้สีย้อมอยู่บนเส้นผมหรือหนังศีรษะนานกว่าที่ระบุไว้ที่ฉลาก เพราะสารเคมีอาจทำให้เส้นผมขาดหรืออาจซึมผ่านหนังศีรษะเข้าสู่ร่างกายทำให้มีโอกาสเกิดการแพ้ได้มากขึ้นหรือเกิดอันตรายแก่ร่างกาย
6. สระผมให้สะอาด อย่าให้มีสีผมค้างที่เส้นผมหรือหนังศีรษะหลังจากย้อมผมแล้ว เนื่องจากอาจเกิดการระคายเคืองหรือทำให้เส้นผมขาดง่าย
7. ควรใช้ครีมนวดผมที่มีคุณภาพดี เช่น ครีมนวดผมที่มีส่วนประกอบของไดเมทิโคน (Dimethicone) หรือโพลีเมอร์ (Polymer) จะช่วยลดการเสียดสีของผมและช่วยทำให้ผมไม่แห้งขาดง่าย
8. ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น มีผื่นคันที่หนังศีรษะหรือที่ตัวหลังจากใช้ยาย้อมผม อาจเกิดจากการแพ้สารพาราฟินีลีนไดอะมีนส์ หรือสารอื่น ๆ ในยาย้อมผม ควรหยุดใช้ทันทีและปรึกษาแพทย์ผิวหนัง ไม่ควรย้อมผมในหญิงตั้งครรภ์หรือหญิงให้นมบุตรหรือเด็กเล็ก
9. ควรมีการย้อมผมหรือทำสีผมไม่บ่อยมากจนเกินไป เนื่องจากความร้อน หรือสารเคมี จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของส่วนประกอบในเส้นผมและเปลือกผมถูกทำลายทำให้เส้นผมขาดง่าย หรือหยาบกระด้าง ถ้ามีอาการผมแห้งหรือผมเสีย ให้ใช้ครีมนวดผมเพื่อลดการเสียดสีของผมหรือตัดผมที่แตกปลายออก
การใช้ผลิตภัณฑ์ย้อมผม ควรเลือกชนิดชั่วคราวจะปลอดภัยกว่า อ่านข้อความบนฉลาก โดยต้องมีข้อความภาษไทยครบถ้วน ปฏิบัติตามคำเตือนและวิธีการใช้อย่างเคร่งครัด ทดสอบการแพ้ก่อนใช้ โดยทาผลิตภัณฑ์ย้อมผมที่ผสมแล้วใต้ท้องแขนหรือหลังใบหูทิ้งไว้ 24 - 48 ชั่วโมง หากมีอาการคัน เป็นผื่นแดง บวมหรือมีอาการผิดปกติอื่นใดห้ามใช้อย่างเด็ดขาด
ควรใช้ในกรณีที่จำเป็นเช่น เมื่อผมเริ่มหงอก ไม่ใช้บ่อย และไม่ใช่ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ห้ามใช้เมื่อหนังศีรษะมีรอยถลอก เป็นแผลหรือโรคผิวหนัง ไม่ทิ้งระยะเวลาให้สีย้อมผมอยู่บนศีรษะนาน หลังย้อมเสร็จสระผมให้สระอาด ใส่ถุงมือขณะย้อม ห้ามผสมผลิตภัณฑ์ย้อมผมต่างชนิดเข้าด้วยกัน เพราะอาจเพิ่มอันตรายจากการใช้ได้
หากใช้แล้วมีความผิดปกติขึ้นเพียงเล็กน้อย เช่น คัน แสบ ร้อน แดง ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใช้ครั้งแรก หรือเคยใช้มาระยะหนึ่งแล้วก็ตาม ต้องหยุดใช้ทันทีแล้วล้างออกด้วยน้ำ หากอาการยังไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ พร้อมนำฉลาก ซอง กล่องของผลิตภัณฑ์ย้อมผมที่ใช้ไปให้แพทย์ดู ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ย้อมผมย้อมขนตาและขนคิ้ว เพราะอาจเข้าตาก่อให้เกิดอันตรายต่อตาได้