ปวดหลังนานๆ อย่าชะล่าใจ สาเหตุภาวะเนื้องอก

ปวดหลังนานๆ อย่าชะล่าใจ สาเหตุภาวะเนื้องอก
อาการปวดหลังเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่หากอาการปวดหลังไม่ได้ทุเลา หรือหายไป อาจจะเป็นสัญญาณอันตรายกว่าที่คิดไว้

อาการปวดเมื่อย ตึง ร้าว หรือเจ็บที่หลัง สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่บริเวณคอลงไปจนถึงก้นและขา ส่งผลมาจากหลายสาเหตุ เว็บไซต์พบแพทย์เผยอาการปวดหลังเกิดจากหลากสาเหตุ เช่น กิจกรรมในชีวิตประจำวัน ยืน เดินหรือนั่งไม่ถูกท่า ยกของหนักเกินไป อุบัติเหตุ การกระแทก การเล่นกีฬา หรือเป็นผลมาจากโรคต่าง ๆ

ปวดหลังเป็นอาการที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่ใช่แค่กับผู้สูงอายุเท่านั้นที่จะเผชิญกับอาการปวดหลัง แต่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะคนวัยทำงาน แต่อาการปวดหลังอันตรายกว่าที่คิดอาจจะเป็นต้นตอของภาวะเนื้องอก หรือเส้นประสาทถูกกดทับ

นพ.รัฐพล นิธินันท์กุลภัทร ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเกษมราษฏร์กล่าวว่า อาการปวดหลังอันตรายกว่าที่คิด พบว่าหากอาการปวดหลังมากขึ้นเรื่อยๆเป็นระยะเวลานานพอสมควร มากกว่า 2-3 อาทิตย์ขึ้นไป และมีอาการ "ปวดกลางคืน" ซึ่งทำให้นึกถึง "ภาวะเนื้องอก หรือการติดเชื้อของกระดูกสันหลัง"

ส่วนอีกอาการที่อันตรายไม่แพ้กันคือ อาการปวดหลังที่มีการ "ร้าวลงขาร่วมกับมีอาการชา หรืออ่อนแรง" แสดงว่ามีการ "กดทับเส้นประสาท"

อาการปวดหลังสามารถเกิดขึ้นได้หลายจุดในร่างกาย ส่วนมากจะพบอาการในบริเวณที่เกี่ยวข้องกับกระดูกสันหลัง ตั้งแต่คอลงไปถึงขา โดยทั่วไปจะแสดงอาการเริ่มต้นดังต่อไปนี้

  • ปวดเมื่อย ตึง หรือเจ็บแปลบที่กล้ามเนื้อ
  • อาการปวดขยายผ่านขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง ลงไปถึงเท้า
  • ไม่สามารถเคลื่อนไหว เช่นยืน เดิน นั่ง ขยับขาหรือหลังได้เต็มที่เหมือนเดิม หรือเกิดอาการเจ็บปวดบริเวณรอบกระดูกสันหลังในขณะเคลื่อนไหวร่างกาย
  • มีไข้ร่วมกับอาการปวดหลัง อาจเกิดจากการติดเชื้อที่กระดูกสันหลังหรือกระดูกสันหลังอักเสบ

หากพบว่าอาการปวดหลังไม่ดีขึ้นภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์ ถ้าอาการดังกล่าวไม่บรรเทาลง มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น หรือมีการขยายบริเวณที่ปวดออกไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย

แนวทางการรักษาอาการปวดหลัง มีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการ หรือสาเหตุของการทำให้เกิดอาการปวดหลัง ไม่ใช่เพียงแค่ฉีดยา ทานยาแก้ปวดตามอาการ แต่ยังมีการทำกายภาพบำบัด การบริหารกล้ามเนื้อให้แข็งแรง หรือการปรับสภาพแวดล้อมการทำงานในกรณีที่รักษาแล้วไม่ดีขึ้น อาจใช้วิธีฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลัง

อาการปวดในระยะสั้น หรือเพิ่งปวด ยังปวดไม่มาก สามารถบรรเทาได้ด้วยตัวเองโดยการทาครีมบรรเทาอาการปวด หรือรับประทานยาแก้ปวดที่วางขายตามร้านขายยาทั่วไป หากใช้ยาแก้ปวดติดต่อกันเป็นเวลานานอาจส่งผลข้างเคียงต่อการทำงานของไตและเกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารได้ 

อาการปวดรุนแรงหรือเรื้อรัง แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาแก้ปวดควบคู่ไปกับการรักษารูปแบบอื่น เช่น การทำกายภาพบำบัด การฝังเข็ม หรืออาจรวมไปถึงการตรวจจำพวกเอกซเรย์หรือ Magnetic Resonance Imaging (MRI) และการผ่าตัดร่วมด้วย

ภาวะแทรกซ้อนของอาการปวดหลัง สามารถเกิดขึ้นได้ หากปล่อยไว้นานและไม่รีบเข้ารับการรักษาให้ทันเวลา หากพบว่ามีอาการปวดหลังติดต่อกันนานเกินกว่า 2 สัปดาห์ ไม่บรรเทาหรือมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์

การรักษาโดยด้วยตนเองและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การพักผ่อนเป็นส่วนสำคัญของการฟื้นฟูจากอาการต่าง ๆ ปรับเปลี่ยนท่านอน การประคบร้อนหรือประคบเย็น ออกกำลังกาย บางครั้งสาเหตุของอาการเจ็บหลังมาจากการยืนหรือนั่งผิดท่า หรือยกของหนักเกินไป

หลายคนคิดว่านอนพักอยู่บนเตียงจะสามารถฟื้นตัวได้ดีกว่า แต่การออกกำลังกายที่ได้มีการเคลื่อนไหวร่างกายในท่าทางที่ถูกต้องและเสริมสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อบริเวณหลัง จะสามารถบรรเทาอาการปวดได้ เช่น การว่ายน้ำ การเดินการปั่นจักรยาน การเล่นโยคะ การเล่นพิลาทิส การบริหารและการยืดกล้ามเนื้อ เป็นต้น

การรักษาโดยใช้ยา ประเภทยาแก้ปวด ยาที่แพทย์มักจะจ่ายให้กับผู้ที่มีอาการปวดหลัง มีดังต่อไปนี้ ยาอะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen) เช่น พาราเซตามอล ไทลินอล หรือยาในกลุ่ม NSAIDs เช่น ไอบูโปรเฟน นาโปรเซน หรือยาที่ออกฤทธิ์แรงกว่า ยาคลายกล้ามเนื้อ ถ้ามีอาการปวดไม่มาก แพทย์อาจจ่ายยาคลายกล้ามเนื้อให้รับประทาน ยาทาบรรเทาอาการปวด อาจอยู่ในรูปแบบครีมหรือขึ้ผึ้ง

ยาแก้อาการซึมเศร้า เช่น ยาอะมิทริปไทลีน (Amitriptyline) เพื่อบรรเทาอาการปวดที่หลังได้ โดยอาจไม่เกี่ยวกับภาวะซึมเศร้า ยาฉีด หากการใช้ยาบรรเทาอาการปวดรูปแบบอื่น ไม่สามารถบรรเทาอาการปวดได้ แพทย์อาจแนะนำให้ฉีดสเตียรอยด์เข้าที่บริเวณรอบ ๆ เส้นประสาทไขสันหลัง หรือในบริเวณที่ปวด ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบรอบเส้นประสาทไขสันหลังได้

การรักษาหลังการรักษาโดยใช้ยา เช่นการทำกายภาพบำบัด สำหรับการบาดเจ็บหรือมีปัญหาสุขภาพระยะยาว เช่น การปวดเรื้อรัง โรคข้ออักเสบ เป็นต้น วิธีการรักษาอาจแตกต่างกันออกไป เช่น การออกกำลังกาย การกระตุ้นด้วยไฟฟ้า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการและเงื่อนไขของผู้ป่วยแต่ละราย

การบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioural Therapy) มีจุดประสงค์เพื่อปรับเปลี่ยนความคิด ความเชื่อ ความรู้สึก และพฤติกรรม โดยนักบำบัดจะวิเคราะห์ความคิดและพฤติกรรม และให้ผู้ป่วยลองคิดและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางบวก หลังจบการรักษาแล้วสามารถช่วยให้ผู้ป่วยรับมือกับสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น

การรักษาโดยการผ่าตัด จะใช้รักษาอาการปวดหลังจากบางสาเหตุ เช่น การติดเชื้อที่กระดูกสันหลัง หรือปวดหลังที่เกิดจากการกดทับเส้นประสาทจนมีอาการอ่อนแรงที่ขาร่วมด้วย โดยทั่วไปมักจะเป็นทางเลือกท้าย ๆ  เมื่อรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่มีอาการดีขึ้น การผ่าตัดอาจช่วยลดการกดทับของเส้นประสาท แต่ก็อาจทำให้เกิดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงหลังผ่าตัด ทั้งนี้วิธีการผ่าตัดขึ้นอยู่กับชนิดและอาการของผู้ป่วยแต่ละราย

การรักษาโดยการแพทย์ทางเลือก ไคโรแพรคติก (Chiropractic) เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งของการดูแลสุขภาพ สรีระและโครงสร้างของมนุษย์ เป็นการรักษาที่ไม่ใช้ยาและไม่มีการผ่าตัด มุ่งเน้นไปที่การจัดกล้ามเนื้อ ข้อต่อ และกระดูกบริเวณกระดูกสันหลังโดยใช้มือ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังหรือปวดคอจากการเคล็ดขัดยอกตอนยกของหนักเกินไป ไม่เหมาะกับผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุน หรือโรคไขข้ออักเสบ

การฝังเข็ม เป็นศาสตร์การรักษาทางเลือกรูปแบบหนึ่งของจีนโบราณ โดยจะฝังเข็มที่มีขนาดและความยาวแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับลักษณะของผู้ป่วย ฝังลงไปตามจุดฝังเข็มที่ถูกพิจารณาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการกระตุ้นเส้นประสาทรับความรู้สึกใต้ผิวหนังและกล้ามเนื้อ ส่งผลให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นโดรฟินส์ (Endrophins) เพื่อบรรเทาอาการปวด โดยจะใช้เวลาในการรักษาประมาณ 20-40 นาทีต่อครั้ง ในปัจจุบัน การรักษาด้วยวิธีการฝังเข็มยังไม่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์มายืนยันหรือสนับสนุนว่าสามารถรักษาโรคได้ 100%

TAGS: #ปวดหลัง #สุขภาพ