พาณิชย์เร่งปิดจุดอ่อนช่วง 4 เดือนสุดท้ายคงเป้าส่งออก1-2% แม้ 8 เดือนยังติดลบ 4.5% ชี้รับสัญญาณฟื้นภาคการผลิตโลกออเดอร์ขยายตัว คงเป้าปีนี้โต 1-2%
นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงภาวะการค้าระหว่างประเทศเดือนส.ค. 2566 ว่า การส่งออกเดือนส.ค.ปรับตัวดีขึ้นขยายตัว 2.6% เป็นบวกครั้งแรกในรอบ 11 เดือน มีมูลค่า 24,279.6 ล้านเหรียญสหรัฐ สะท้อนถึงสัญญาณฟื้นตัว โดยคาดว่าในช่วงที่เหลือของปีจะมีการขยายตัวต่อเนื่อง
ทั้งนี้ภาพรวม 8 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออก มีมูลค่า 187,593.1 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 4.5 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 195,518.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 5.7 ดุลการค้า 8 เดือนแรกของปี 2566 ขาดดุล 7,925.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่มูลค่ารูปเงินบาท การส่งออก มีมูลค่า 6,379,734 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 3.9 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ตามการส่งออกที่ดีขึ้นได้รับแรงหนุนจากสัญญาณการฟื้นตัวของภาคการผลิตโลกที่ดีขึ้นกว่าเดือนก่อนหน้า แม้ว่าจะยังอยู่ระดับต่ำกว่าปกติ การใช้จ่ายของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นตามภาคบริการของประเทศคู่ค้าที่ขยายตัว ส่งผลดีต่อสินค้าส่งออกที่เกี่ยวเนื่อง
รวมทั้งการส่งเสริมนโยบายพลังงานสะอาดและความต้องการสินค้าเทคโนโลยีทำให้หมวดสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวอีกครั้ง ประกอบกับการอ่อนค่าของเงินบาทในระดับที่เหมาะสมส่งผลดีต่อการส่งออก ตลาดคู่ค้าสำคัญฟื้นตัวได้ดี อาทิ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน ออสเตรเลียซาอุดีอาระเบีย และแอฟริกาใต้ โดยการส่งออกของไทยในเดือนนี้ยังทำได้ดีกว่าหลายประเทศในภูมิภาค และกลับมาเกินดุลการค้าอีกครั้ง
สำหรับสินค้าเกษตรกลับมาขยายตัวในรอบ 4 เดือน ขยายตัวร้อยละ 4.2 โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ข้าว สิ่งปรุงรสอาหาร เป็นต้น ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น
ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน มีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามแนวโน้มการส่งออกระยะถัดไป นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้มอบนโยบายผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ พาณิชย์จังหวัด และทูตพาณิชย์ทั่วโลก เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา โดยยังคงให้รักษาเป้าหมายการส่งออกในปี 2566 ไว้อยู่ที่ร้อยละ 1 - 2 และมีนโยบาย “เร่งขยับตัวเลขการส่งออก เปลี่ยนจากติดลบให้เป็นบวก” ดังนี้
1. ใช้ประโยชน์จาก Soft Power สร้างเรื่องราวให้กับสินค้าและบริการไทยโดยเชื่อมโยงกับภาคบริการและการท่องเที่ยว 2. จัดทำและนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคเชิงลึกในตลาดทั่วโลก 3. แก้ไขปัญหาและอุปสรรคการค้าชายแดน เป็นปัญหาคอขวดและเป็นอุปสรรคต่อสินค้าไทยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
4. ผลักดันและสร้างระบบนิเวศน์ในการยกระดับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย เป็นผู้ให้บริการระดับภูมิภาค นอกจากนี้มีนโยบาย “ผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์จาก FTA” โดยให้ภาครัฐเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการในการปรับตัว สร้างความรู้ความเข้าใจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็ก และเตรียมความพร้อมให้ดำเนินธุรกิจสอดรับกับกฎกติกาใหม่ ๆ ของโลก เช่น Carbon Credit BCG และ SDGs เป็นต้น
การส่งออกในช่วงที่เหลือของปี จะมีแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สินค้าที่เกี่ยวข้องกับเมกะเทรนส์ด้านพลังงานสะอาด และเทคโนโลยีดิจิทัลมีทิศทางที่ขยายตัวได้ดี ส่วนความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารที่เป็นสินค้าศักยภาพของไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
รวมทั้งในช่วงปลายปีมูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากคำสั่งซื้อสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับเทศกาลเฉลิมฉลองในประเทศคู่ค้า สำหรับภาพรวมตลาดส่งออกเริ่มเห็นการฟื้นตัวของตลาดหลัก อย่างสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น กลับมาบวก ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี และตลาดส่งออกใหม่ ๆ ที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกจากการคงอัตราดอกเบี้ยระดับสูงยาวนานที่จะชะลอการผลิตและการบริโภคสินค้าโดยเฉพาะสินค้าที่ไม่จำเป็น ภาวะภัยแล้งที่อาจจะกระทบต่อผลผลิตเพื่อการส่งออก และปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ ล้วนเป็นปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกแทบทั้งสิ้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป