โยนกฟผ-ปตท.รับภาระอุ้มค่าไฟช่วยประชาชนเคาะอัตรา 3.99 บาท/หน่วย

โยนกฟผ-ปตท.รับภาระอุ้มค่าไฟช่วยประชาชนเคาะอัตรา 3.99 บาท/หน่วย
บอร์ดกกพ.ถกร่วม กฟผ.-ปตท.เปิดสูตรลดค่าไฟ 46 สต. กดราคาก๊าซต่ำลง หยุดจ่ายหนี้ค้างแสนล้านคืนกฟผ. แย้มอนาคตจ่อเก็บคืนจากผู้ใช้ไฟภายหลัง

รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ได้มีการเชิญการไฟฟ้าฝ่ายผลิต
แห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) มาชี้แจงและกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายและต้องเป็นการดำเนินการอย่างเร่งด่วนให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีนโยบายลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้แก่ประชาชน โดยเรียกเก็บค่าไฟฟ้างวดเดือน กันยายน - ธันวาคม 2566 จากเดิมหน่วยละ 4.45 บาท ให้เหลือ 3.99 บาท

ก่อนหน้าได้มีการกำหนดอัตราเรียกเก็บค่าไฟฟ้าหน่วยละ 4.45 บาทนั้น เป็นการคำนวณที่สะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาตรา 65 และประกาศ กกพ. เรื่องกระบวนการ ขั้นตอนการใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ พ.ศ. 2565 แต่เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายปรับลดเรียกเก็บค่าไฟฟ้าหน่วยละ 3.99 บาท เป็นผลให้เกิดส่วนต่างหน่วยละ 46 สตางค์ จำเป็นต้องให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่ง แบกรับภาระไปก่อนจนกว่าสถานการณ์พลังงานผ่อนคลายจึงเรียกเก็บคืนค่าไฟฟ้าคงค้างจากผู้ใช้ไฟฟ้าภายหลัง

อย่างไรก็ตามการปฏิบัติตามมติ ครม. ซึ่งเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงพลังงานที่กำหนดให้ ปตท. ปรับลดค่าก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บจากกิจการผลิตไฟฟ้าซึ่งแต่เดิมกำหนดไว้ 323.37 บาทต่อล้านบีทียู เป็นไม่เกิน 304.79 บาทต่อล้านบีทียู ในส่วนของ กฟผ. ซึ่งแบกภาระค่าไฟฟ้าคงค้าง (Accumulated Factor: AF) ก่อนหน้านี้รวมประมาณ 1 แสนกว่าล้านบาท และอยู่ระหว่างการเรียกเก็บคืนเงินคงค้างซึ่งอยู่ในค่าไฟฟ้างวดเดือน กันยายน - ธันวาคม 2566 หน่วยละ 38.31 สตางค์นั้น เมื่อ ครม. มีมติให้ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าเหลือเพียงหน่วยละ 3.99 บาท กฟผ.จึงต้องเว้นการเรียกเก็บคืนเงินคงค้างดังกล่าว

ทั้งนี้รัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่งในฐานะผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจะต้องเสนอราคาก๊าซธรรมชาติและไฟฟ้ามายัง กกพ. เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน  พ.ศ. 2550 มาตรา 67 และสามารถเรียกเก็บค่าไฟฟ้าให้ได้หน่วยละ 3.99 บาท ตั้งแต่บิลค่าไฟฟ้าประจำเดือนกันยายน 2566

 

TAGS: #ลดค่าไฟ #ยืดหนี้กฟผ. #อุ้มค่าไฟ