จับสัญญาณรัฐ กดค่าไฟเอกชนไม่เกิน 5 บาท

จับสัญญาณรัฐ กดค่าไฟเอกชนไม่เกิน 5 บาท
เอกชนงัดสารพัดเหตุผลบีบรัฐลดค่าไฟไม่เกิน 5 บาท ชี้ บาทอ่อน ราคาก๊าซฯถูกลง อ่าวไทยผลิตเพิ่ม

การออกมาเรียกร้องของภาคเอกชนในช่วง 1-2 สัปดาห์ก่อน ในประเด็นขอลดอัตราค่าไฟฟ้าในรอบถัดไป (พ.ค.-ส.ค.) จากล่าสุดมีอัตราค่าไฟอยู่ที่ 5.33 บาทต่อหน่วยถูกจัดเก็บในเดือนม.ค.-เม.ย. โดยยังยืนยันที่ต้องการใหุ้ค่าไฟฟ้าปรับลดลงมาไม่เกินหน่วยละ 5 บาท กลายเป็นโจทย์ร้อนที่รัฐบาลต้องตัดสินใจให้ชัดเจน

คำถามคือมีเหตุผลอะไรที่ค่าไฟฟ้าจะลดลงได้  อย่างแรกอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นมากกว่า 15% หรืออยู่ที่ 32-33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ นั่นหมายถึงราคาซื้อขายเชื้อเพลิงย่อมมีต้นทุนที่ต่ำลง

ขณะเดียวกันแนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี)ที่ต้องนำเข้ามีราคาลดลง ล่าสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 17-18 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู จากที่เคยทำสถิติสูงสุดแตะ 40-50 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู

นอกจากนี้ปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่มีราคาถูกกว่าการนำเข้าแอลเอ็นจี เริ่มมีปริมาณมากขึ้น จากเดิมที่มีปัญหาในช่วงเปลี่ยนผ่านแหล่งก๊าซเอราวัณ

ล่าสุดทางบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) แจ้งแผนการเพิ่มกำลังผลิตก๊าซฯจาก 200 ล้านลูกบาศก์ฟุต(ลบ.ฟุต)ต่อวัน เป็น 400 ล้านลบ.ฟุตต่อวันในช่วงกลางปี และเพิ่มเป็น 600 ล้านลบ.ฟุตต่อวันในช่วงปลายปี

ทั้งนี้หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนอัตราการผลิตก๊าซฯจะ ขึ้นไปอยู่ที่ 800 ล้านลบ.ฟุตต่อวันได้ตามสัญญาในเดือนเม.ย. 2567 โดยหากเทียบราคาก๊าซฯจากอ่าวไทยณ เดือนธ.ค.อยู่ที่  238 บาทต่อล้านบีทียู  ก๊าซฯจากเมียนมาร์  375 บาทต่อล้านบีทียู และแอลเอ็นจี 599 บาทต่อล้านบีทียู

อิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต  รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากปัจจัยบวกต่างๆที่เกิดขึ้น ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะทำให้ค่าไฟฟ้ารอบเดือนถัดไปลดลงไม่ได้  และต้องไม่เกิน 5 บาท ภาคเอกชนต้องการให้กระทรวงพลังงานมีการทบทวนในเรื่องนี้บนพื้นฐานของเหตุการณ์ ที่เปลี่ยนไปจากปีก่อน

ขณะเดียวกันภาครัฐต้องปรับวิธีบริหารต้นทุนเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง โดยเฉพาะการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่เชื้อเพลิงถูก อย่างน้ำมันดีเซล ไบโอแก๊ส แทนโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซฯนำเข้า เป็นการชั่วคราว 

ส่วนปัญหาที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) มีภาระสะสม 1.5 แสนล้านบาท จากการเข้าไปพยุงค่าเอฟทีในช่วงที่ผ่านมาจนกระทบกับผลการดำเนินงานและต้องเร่งชำระคืนนั้น  ภาครัฐควรเพิ่มเพดานหนี้ให้กฟผ.อย่างน้อย 2 ปีพร้อมทั้งจัดหาวงเงินกู้ยืมเฉพาะกิจให้  และชะลอการนำส่งรายได้เข้าคลัง 

อย่างไรก็ตามหลายคนตั้งคำถามว่า ต้นเหตุที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงมาจากอะไรบ้าง  พบว่า

1.แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า(พีดีพี) พึ่งพาก๊าซฯมากเกินไป รวมทั้งการขาดแผนสำรองที่ดี ในการบริหารก๊าซฯจากอ่าวไทยที่ลดน้อยลง

2.ระบบการซื้อไฟฟ้าแบบ Cost Plus จากพลังงานฟอสซิล

3.Supply ของโรงไฟฟ้ามีมากกว่า Demand ถึง 52%  จากปกติควรอยู่ที่ 15% ถือเป็นภาระต้นทุนของประเทศในระยะยาว และการซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนมากเกินความจำเป็น

4.ขาดกลไกตลาดเสรีของพลังงาน และไฟฟ้า

ขณะที่สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาไทยเจอกับวิกฤตราคาเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าหลังเกิดกรณีข้อขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ต้องยอมรับว่ากระทบต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เข้ามาช่วยแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นจะมีภาระหนี้กว่า1.3 แสนล้านบาท และทำให้ต้องปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร(เอฟที) ปรับตัวสูงขึ้นตาม ซึ่งรัฐบาลได้ออกมาตรการบรรเทาผลกระทบให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มเปราะบางไปแล้ว

ส่วนภาคเอกชนที่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรม และเป็นกลุ่มที่ใช้ไฟฟ้ามากถึง 70 %  ได้ปรับลดค่าไฟให้อยู่ในอัตรา 5.33 บาทต่อหน่วยจากาเดิม 5.69 บาทต่อหน่วย   ซึ่งจากการหารือกับภาคเอกชนถึงเป้าหมายที่ต้องการให้ค่าไฟฟ้าถูกลง ก็มีความ จึงเชื่อมั่นว่าค่าไฟรอบหน้าในภาคอุตสาหกรรมจะไม่เกิน 5 บาทต่อหน่วย และแนวโน้มค่าไฟฟ้าของไทยหลังจากนี้น่าจะลดลงได้

อย่างไรก็ตามภาคเอกชนยังต้องติดตามท่าทีของรัฐบาลให้ชัดเจนว่า ค่าไฟฟ้าที่ต้องการให้ปรับลดลง จะดำเนินการได้แค่ไหน หากค่าไฟฟ้ายังอยู่ในระดับที่สูง ย่อมส่งผลกระทบทุกๆด้าน โดยเฉพาะภาคการผลิตและเชื่อมโยงไปถึงราคาสินค้าที่ต้องปรับขึ้น ท้ายสุดประชาชนก็ต้องรับภาระโดยตรง

นอกจากนี้ยังสงผลต่อขีดความสามารถการแข่งขันทางธุรกิจเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ หากต้นทุนการผลิตแพงก็มีโอกาสที่การตัดสินใจโยกย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนถูกกว่าไทยก็เป็นได้

 

 

TAGS: #ค่าไฟฟ้า #ค่าเอฟที #ค่าเงินบาท #โรงไฟฟ้า