ตลาด FMCG (Fast Moving Consumer Goods) สินค้าอุปโภคบริโภค ที่มีการซื้อขายรวดเร็วด้วยราคาไม่สูงจากต้นทุนต่ำ ที่ปัจจุบันมีผู้เล่นแบรนด์ระดับโลกอายุร่วมร้อยปีครองตลาดไม่กี่ราย
แต่ก็ยังมีช่องว่างที่ยังมากพอให้ ‘Hayat’ (ฮายัท) ผู้ผลิตและทำตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคสัญชาติตุรกี เข้ามาเจาะได้
‘เอมเร่ เซน’ กรรมการผู้จัดการ บริษัทฮายัท ไฮจีนิค โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าในปี 2565 ที่ผ่านมา ‘ฮายัท’ ได้เข้ามาแนะนำตัวเองด้วยสินค้าตัวแรกในประเทศไทยด้วย ‘ผ้าอ้อมเด็ก’ ผ่านแบรนด์โมลฟิกซ์ (Molfix) พร้อมใช้อินฟลูเอ็นเซอร์นางแบบ/นักแสดง ‘ศรีริต้า เจนเซ่น ณรงค์เดช’ มาเป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้า และได้การตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภคชาวไทย ด้วยสามารถสร้างการจดจำแบรนด์ได้ถึง83% พร้อมเป้าหมายเป็นเบอร์2 ตลาดผ้าอ้อมเด็กในไทย ปี2566
ตลาดผ้าอนามัย 6 พันล. ยังมีช่องให้เล่น
เซน กล่าวว่า “จากความสำเร็จด้านการรับรู้ และมองว่าผู้บริโภคชาวไทยในตลาด FMCG ยังเปิดใจให้กับแบรนด์สินค้าใหม่ๆเข้าสู่ตลาดได้เป็นอย่างดี ทำให้ ‘ฮายัท’ ตัดสินใจเปิดตัวผ้าอนามัยแบรนด์ โมลเพด (Molped) เข้ามาทำตลาดเป็นไอเทม ล่าสุดในครึ่งหลังปี 2566 นี้”
โดย ฮายัท ใช้งบลงทุนกว่า 3,600 ล้านบาท เพื่อรุกเต็มที่ในตลาดผ้าอนามัยในประเทศไทย ที่ปัจจุบันมีมูลค่ารวมกว่า 6,000 ล้านบาท หรือเท่ากับการใช้ผ้าอนามัยของผู้หญิงในประเทศไทยกว่า 140 ล้านชิ้นต่อปี มีการเติบโตของตลาดเฉลี่ย 5% ต่อปี โดยแบ่งเป็นตลาดผ้าอนามัยสำหรับกลางวันประมาณ 67% และตลาดผ้าอนามัยสำหรับกลางคืนประมาณ 33%
ช่องว่าง ‘ผ้าอนามัยออร์กานิก’
สำหรับ Molped (โมลเพด) วางตำแหน่งสินค้าให้เป็นแบรนด์ผ้าอนามัยเจาะกลุ่มเป้าหมายผู้หญิงยุคใหม่อายุ 15 ถึง 49 ปี ซึ่งมีกว่า 16,000,000 คน ในไทย ที่มองว่าตลาดผ้าอนามัยในไทยยังมีช่องว่างทางตลาดอยู่ อีกมาก
จากจุดนี้ทำให้ ฮายัท มุ่งให้ความสำคัญต่อการวิจัยและพัฒนา(อาร์แอนด์ดี) ผ้าอนามัยโมลเพด นานร่วม4 ปี ก่อนทำตลาดในประเทศไทย โดยวางจุดเด่นทั้งด้านสินค้า ที่ตอบโจทย์ครอบคลุมทั้งกลุ่มพรีเทียม กลุ่มพรีเมียม แมส และ กลุ่มแมส ด้วยคุณภาพวัตถุดิบฝ้ายออร์กานิคของสินค้า ที่มีฐานผลิตในประเทศเวียดนาม
“ปัจจุบันโมลเพด เป็นผู้นำตลาดผ้าอนามัยเบอร์หนึ่งในตุรกี และอีกกว่า 60 ประเทศในทวีปเอเชีย และแอฟริกา โดยในทุก ๆ 1 นาที จะมีผู้หญิงได้มีโอกาสใช้ผ้าอนามัยโมลเพดมากกว่า 2,100 ชิ้น” เซน กล่าว
โดยฮายัท เตรียมเปิดตัวและทำตลาดผ้าอานามสัยโมลเพดอย่างเป็นทางการ ด้วยสินค้าทั้งแบบกลางวัน รุ่น Soft and Dry, รุ่น Icy Cool, รุ่น Safe Night 29 ซม. และผลิตภัณฑ์แผ่นอนามัย โมลเพด อีก 3 รุ่น ทั้ง Molped Daily Fresh, Molped Icy Cool และ Molped Bamboo Fresh ด้วยกลยุทธ์ราคาที่แข่งขันได้กับตลาดทุกลุ่มสินค้า
พร้อมทำตลาดทั้งในช่องทางร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ร้านค้าปลีกดั้งเดิมทั่วไป อีคอมเมิร์ซ รวมถึงช่องทางติ๊กต๊อก (TikTok) ด้วย
โดยวางเป้าหมาย จะมีส่วนแบ่งทางการตลาด 20% ภายใน 3 ปี และเป็นผู้นำหนึ่งในสามของตลาดผ้าอนามัยภายใน 5 ปี ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาด 30 %
ลงทุน 5,000 ล.ตั้งโรงงานในไทย
ฮาซาน อูร์ รองประธานบริหาร ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัทฮายัท กรุ๊ป กล่าวว่า ฮายัท’ ในฐานะแบรนด์สินค้าคอนซูเมอร์รายใหญ่จากประเทศตุรกี ได้เริ่มธุรกิจ FMCG ในปี 2530 ถึงปัจจุบันมีอายุร่วม 36 เป็นการขยายธุรกิจเดิมด้านไม้แปรรูป และการบริหารจัดการท่าเรือ ในประเทศตุรกี
ปัจจุบัน ‘ฮายัท’ เข้าไปดำเนินการใน 13 ประเทศ ทั้งตุรกี อัลจีเรีย บัลกาเรีย อิหร่าน อียิปต์ โมร็อคโค รัสเซีย ไนจีเรีย ปากีสถาน เคนยา เวียดนาม มาเลเซีย และ ไทย พร้อมส่งออกสินค้าไปกว่า 100 ประเทศทั่วโลก และมียอดขายมากกว่า 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา
โดยกลุ่ม ฮายัท ถือเป็นผู้ผลิตผ้าอ้อมเด็กสำเร็จรูปรายใหญ่อันดับ4 ของโลก และเป็นผู้ผลิตกระดาษชำระรายใหญ่อันดับ1 ในตลาดยุโรปตะวันออกกลาง และแอฟริกา ด้วยสินค้าคอนซูเมอร์กว่า 16 แบรนด์
“ด้วยจุดแข็งด้านผู้ผลิตและทำตลาดสินค้าที่มีความแข็งแกร่งในตลาดโลก ทำให้ ‘ฮายัท’ มองเห็นโอกาสใหม่ในตลาดภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากปัจจัยภาพรวมเศรษฐกิจ (GDP) ที่ยังมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับตลาดยุโรป ในช่วงที่ผ่านมา ที่ค่อนข้างนิ่งกว่า”อ
โดยเฉพาะตลาด 3 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาเลเซีย เวียดนาม และ ไทย ที่ฮายัท ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการขยายตลาดสินค้าในกลุ่มบริษัท
ทั้งนี้บริษัทอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเพื่อเข้ามาลงทุนก่อตั้งโรงงานผลิตสินค้าคาดในเบื้องต้นจะเป็นกลุ่มกระดาษชำระ คาดใช้งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา หรือ เกือบ 5,000 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างพิจารณาทำเลทั้งในประเทศไทย จังหวัดชลบุรึ ในเขตเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ด้วยเช่นกัน
จากปัจจุบัน ฮายัท มีสัดส่วนรายได้หลักมาจาก ตุรกี ตลาดยุโรป รวมกว่า 54% ส่วนที่เหลือ 46% กระจายในตลาดแอฟริกา และเอเชียแปซิฟิก
สัญญาณการลงทุนครั้งใหม่นี้ คาดจะเข้ามาปลุกตลาดคอนซูเมอร์ โปรดักสฺในบ้านเรา ให้คึกคักขึ้นมาอีกไม่มากก็น้อย จากทั้งสินค้าแบรนด์ใหม่ และเกมการตลาดที่เข้ามาชิงฐานลูกค้าเดิมที่คุ้นเคยกับแบรนด์ดั้งเดิม ที่อยู่ในตลาดมาเนิ่นนาน