3แนวทาง ‘แอชตัน อโศก’ ไม่ต้องทุบทิ้งโครงการฯ เรียกมั่นใจนักลงทุน-ลูกบ้าน

3แนวทาง ‘แอชตัน อโศก’  ไม่ต้องทุบทิ้งโครงการฯ เรียกมั่นใจนักลงทุน-ลูกบ้าน
อนันดาฯ แจง 3 แนวทางแก้ปัญหา ‘แอชตัน อโศก’ ยืนยันสามารถชำระหนี้-ทำธุรกิจต่อไปได้ ยังมีช่องศาลปกครองสูงสุด ไม่กำหนดระยะเวลาสั่งเพิกถอนอาคาร

หลังศาลปกครอง มีคำตัดสินเพิกถอนใบอนุญาตโครงการแอชตันอโศก มูลค่ากว่า 6400 ล้านบาท ไปเมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา พร้อมส่งแรงสั่นสะเทือนต่อวงการอสังหาริมทรัพย์ ไปถ้วนหน้า

สำหรับโครงการแอชตัน อโศก เป็นของ บริษัทอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN บริษัทแม่ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ได้ร่วมทุนบริษัท มิตซุย ฟูโดะซัง พันธมิตรผู้พัฒนาอสังหาฯ ประเทศญี่ปุ่น ผู้พัฒนาโครงการแอชตัน อโศก มูลค่า 6,481 ล้านบาท จำนวน783 ยูนิต อาคารสูง 51 ชั้น ปัจจุบันมีผู้อยู่อาศัยกว่า 600 ครัวเรือน ไม่ต่ำกว่า 1,000 ราย

ล่าสุดในวันนี้ (31 ก.ค .2566) ชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ANAN ได้ทำหนังสือแจ้'ตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทย (ตลท.) ถึงผลกระทบจากคำพิพากษาคดีโครงการแอชตัน อโศก และแนวทางการแก้ไขของบริษัท

บริษัทฯ ได้รับผลกระทบเฉพาะในสัดส่วนที่ลงทุนไว้ในบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ซึ่งเป็นโครงการร่วมลงทุน ระหว่างบริษัทฯ กับ ชี อินเวสเม้นท์ ไฟว์ ไพรเวท ลิมิเต็ด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ บริษัท มิตซุย ฟูโดซัง จำกัดในสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 51 และร้อยละ 49 ตามลำดับ

โดยบริษัท อนันดา เอ็มเอฟฯ เป็นบริษัทผู้พัฒนาโครงการ แอชตัน อโศก โครงการดังกล่าวมีมูลค่ารวมจำนวน 6,481 ล้านบาท บริษัทฯ ยังมีความ

สามารถในการชำระหนี้ตามตราสารหนี้ และภาระผูกพันต่างๆ ที่มีผล ผูกพันกับบริษัทฯ ได้ตามปกติ

บริษัทฯ ขอเรียนเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลแห่งคำพิพากษาตัดสินดังกล่าว และแนวทางที่จะแก้ไขต่อไปโดยเร็ว ดังนี้

(1) คณะกรรมการของบริษัท นันดา เอ็มเอฟฯ บริษัทฯ และบริษัทร่วมทุนจึงได้ร่วมกันรวบรวมความเสียหาย และแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อติดต่อ เจรจากับส่วนงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต่อไปโดยเร่งด่วน

ส่วนมูลค่าความเสียหายในเบื้องต้น อยู่ระหว่างการประเมิน ร่วมกับผู้สอบบัญชีของบริษัท และผู้เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน และเพื่อพิจารณาการตั้งสำรองในไตรมาส 2 นี้

(2) กรณีที่ศาลเพิกถอนใบอนุญาตโครงการ ไม่จำเป็นต้องรื้อถอนอาคาร ซึ่ง บริษัท อนันดา เอ็มเอฟฯ กำลัง พิจารณาหาแนวทางแก้ไขที่มีอยู่หลายแนวทาง

โดยบริษัทฯ และบริษัท อนันดา เอ็มเอฟฯ จะขอเข้าพบกับ หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงหัวหน้าหน่วยงานรัฐ ซึ่งถูกฟ้องในคดีเดียวกัน อันได้แก่

ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร และผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ภายใน 14 วันทำการ นับถัดจากวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ซึ่งเป็นวันที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา เพื่อเจรจาหาทางแก้ไขกับหน่วยงานของรัฐต่อไป ด้วย

อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองสูงสุดมิได้กำหนดกรอบระยะเวลาที่สั่งเพิกถอนอาคาร ว่าหน่วยงานของ กรุงเทพมหานครจะต้องดำเนินการภายในเมื่อใดและมิได้กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมอื่นๆ

ทั้งนี้ หน่วยงานของ กรุงเทพมหานครจะเป็นผู้สั่งการให้บริษัทดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

(3) บริษัท อนันดา เอ็มเอฟฯ อยู่ระหว่างการประชุมหารือร่วมกันกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางในการ อนุมัติ หรืออนุญาตให้ทำโครงการแอชต้น อโศก เพื่อแก้ไขความเสียหายให้แก่ประชาชนผู้ซื้อห้องชุด หรือ เจ้าของร่วม

รวมถึงความเสียหายของบริษัท อนันดา เอ็มเอฟฯ ผู้พัฒนาโครงการตังกล่าวด้วยความสุจริต และเป็นไปตามกฎหมายตามที่หน่วยงานของรัฐได้รับรองไว้หลายหน่วยงานมาโดยตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งการหารือ กับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะเป็นการดำเนินการควบคู่กับการพิจารณาแนวทางอื่นที่มีอยู่หลายแนวทางด้วย ซึ่งบริษัทฯ จะได้รายงานความศึบหน้าให้ทราบเพิ่มเติมต่อไป

TAGS: #แอชตันอโศก #อนันดา #ANAN