‘แม็คซ์ฟู๊ด’ จากวัยรุ่นขายของตลาดนัด กับโอกาสสุดท้ายลองผิดลองถูกทำไอศครีมในลูกผลไม้จนเกือบเจ๊ง ก่อนพลิกสู่ยอดขาย 500 ล.

‘แม็คซ์ฟู๊ด’ จากวัยรุ่นขายของตลาดนัด กับโอกาสสุดท้ายลองผิดลองถูกทำไอศครีมในลูกผลไม้จนเกือบเจ๊ง ก่อนพลิกสู่ยอดขาย 500 ล.
จุดเริ่มต้นจากการใช้เวลาว่างในวันเสาร์-อาทิตย์ ไปขายไอศกรีมโมจิแป้งนุ่มเหนียวหนึบ ที่ตลาดนัดรถไฟจตุจักร แหล่งยอดฮิตวัยรุ่นสร้างตัวในยุคนั้น จนมาเป็นเจ้าของธุรกิจหลักร้อยล้านในเวลาไม่ถึง 10 ปี

แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ก็เกือบถอดใจถ้าไม่ได้โอกาส มาทดสอบความแข็งแกร่งของหัวใจนักสู้ ในครั้งสุดท้าย…

ฐานพงศ์ จุ้ยประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แม็คซ์ฟู๊ด กรุ๊ป จำกัด เล่าถึงเส้นทางการทำธุรกิจครั้งแรก ในปี 2555 ช่วงนั้นเขายังเป็นพนักงานประจำบริษัท และมีไอเดียอยากหารายได้เสริมโดยนำไอศกรีมโมจิ ไปวางขายที่ตลาดนัดรถไฟสวนจตุจักร ในทุกสุดสัปดาห์วันเสาร์-อาทิตย์

“ตอนนั้นผมอายุ28 ปี อยากใช้วันหยุดหารายได้เพิ่ม โดยเอาของไปขายที่ตลาดนัดรถไฟ สวนจตุจักร ซึ่งเป็นแหล่งที่ได้รับความนิยมจากวัยรุ่นยุคนั้นอย่างมาก ซึ่งไอศครีมโมจิที่ผมขายมีความแปลกใหม่ด้วยเป็นสูตรเฉพาะตัวไอศครีมมีความเย็น คงรสชาติอร่อยได้โดยไม่ต้องใช้ตู้แช่แข็ง และขายดีมากจนต่อยอดไปสู่การขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์มากถึง 300 สาขา ในชื่อโมจิลาโต้” ฐานพงศ์ เล่า

กระทั่งธุรกิจมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เป็นทั้งวิกฤตและโอกาสในขณะเดียวกัน ด้วยในช่วงนั้น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยเติบโตสูงมาก ขณะที่สินค้าไอศครีมโมจิของแม็คซ์ฟู๊ด เองมีช่องทางรายได้หลักที่เกี่ยวข้องกับกำลังซื้อนักท่องเที่ยว เช่นกัน เมื่อโควิดมานักท่องเที่ยวก็หายวับไปทันใด 

หลังจากโควิดเข้ามาบล็อกเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศไปเกือบช่วงสองปีเต็ม ทำให้บริษัทฯ ต้องเร่งหาช่องทางสร้างรายได้ใหม่ในตลาดส่งออก ด้วยจุดตั้งต้นไอเดียว่า หากแม็คซ์ฟู๊ด มียอดขายเพียงแค่ 1% ได้ในตลาดต่างประเทศทั่วโลกก็เป็นที่น่าพอใจแล้ว

ทำให้บริษัทเร่งวิจัยพัฒนาสินค้านวัตกรรมใหม่ออกมา ด้วยการใช้ผลไม้ท้องถิ่นในประเทศมาแปรรูปเป็นไอศกรีมบรรจุในลูกผลไม้

โดยใช้สับปะรด ภูแล จังหวัดเชียงราย เป็นวัตถุดิบแรกในการพัฒนาไอศครีมซอร์เบ (Sorbet Ice cream) ในลูกผลไม้ ซึ่งเป็นการเริ่มต้นแตกไลน์สินค้า(ไอศครีม)ใหม่แบบลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ และด้วยขาดความรู้ในการพัฒนาสินค้าในเชิงเทคนิคหลายจุดทำให้ธุรกิจเริ่มประสบปัญหาขาดทุนหนักสะสมหลักสิบล้านบาทจนแทบจะหมดตัว และเกือบถอดใจทิ้งธุรกิจนี้ไป

แต่เมื่อได้คุยกับหุ้นส่วนถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ก็ได้รับกำลังใจการทำธุรกิจกลับมาอีกครั้ง ด้วยไพ่ใบสุดท้าย ที่เรียกว่า โอกาสที่ยังเหลืออยู่เพียงอีก 50% เท่านั้น

“ในตอนที่กำลังจะถอดใจ หุ้นส่วนผมบอกว่าเรายังมีโอกาสให้ลองอีก 50:50 เป็นโอกาสครั้งสุดท้ายและจุดประกายให้ต้องไปต่อ จากนั้นแม็คซ์ฟู๊ด ก็เริ่มลงลึกในรายละเอียดต่างๆมากขึ้น โดยเฉพาะงานวิจัยที่เกี่ยวกับอาหารเพื่อนำมาใช้พัฒนาสินค้าจนออกมาเป็นนวัตกรรมไอศกรีมเชอร์เบทออกมาสำเร็จ”

เมื่อได้สินค้าออกมาแล้วแม็กซ์ฟู้ด ได้เดินแผนการทำตลาดตามโรดแมปที่วางไว้ คือไปต่างประเทศได้อย่างที่ตั้งใจ ในรูปแบบโออีเอ็มให้กับพันธมิตรธุรกิจทั้งในเกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ซาอุดิอาระเบีย จีน และ ยุโรปในประเทศฝรั่งเศส และ  ออสเตรีย ตั้งแต่ปลายปี 2562 ล่วงมาถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลาเกือบ3 ปีที่ แม็กซ์ฟู้ด มีอัตราการเติบโตธุรกิจได้ 100% ทุกปี ตามเป้าหมายที่วางไว้

ฐานพงศ์ บอกว่ากลยุทธ์สำคัญที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ มาจากการให้ความสำคัญในการลงพื้นที่จริงเพื่อทำตลาด เพื่อศึกษาพฤติกรรมเชิงลึกผู้บริโภคในแต่ละประเทศท้องถิ่น ถึงความชื่นชอบในรสชาติ หรือ มีวัฒนธรรมการบริโภคแบบใด อย่างใน ประเทศฝรั่งเศส บริษัทฯได้ส่งทีมอาร์แอนด์ดี เข้าไปศึกษาตลาดซึ่งพบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นวีแกน นิยมบริโภคมังสวิรัติ ดังนั้นการพัฒนาสินค้าไอศครีมจะต้องไปในทิศทางเดียวกับตลาด ด้วยรสชาติวานิลลา ช็อคโกแลต งาดำ เป็นต้น

“ตลาดในเกาหลีใต้มีความน่าสนใจมาก คือเทรนด์ความนิยมของวัยรุ่นเกาหลี จะกินไอศครีมซอร์เบร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอลท้องถิ่นอย่างโซจูในรูปแบบค็อกเทล โดยช่องทางจำหน่ายหลักจะอยู่ในผับ บาร์ ร้านอาหาร กว่า80% ซึ่งบริษัทร่วมกับพันธมิตรเกาหลีใต้ในการนำสินค้าหลักกลุ่มไอศครีมซอร์เบ เข้าไปทำตลาด” ฐานพงศ์ อธิบาย  

อย่างไรก็ตามนอกจากการทำตลาดในต่างประเทศแล้ว บริษัทยังวางแผนทำตลาดไอศครีมเชอร์เบทแม็กซ์ฟู้ด เพื่อให้ผู้บริโภคชาวไทยได้ลิ้มลองด้วยทั้งในรูปแบบ ธุรกิจต่อธุรกิจ (บีทูบี) และธุรกิจต่อผู้บริโภค (บีทูซี) โดยมีแผนเปิดตัวสินค้าในปี 2567

จากปัจจุบันโมจิ ไอศกรีม มีทั้งหมด 13 รสชาติ ประกอบด้วย รสงาดำ, วานิลลา, มะม่วงเชอร์เบท, สตรอเบอร์รี่เชอเบท, ช็อคโกแลต, ชาเขียว, มะพร้าว, เผือก, มะม่วงเบสกะทิ, มะนาว, เมล่อน, ลาเต้ และ เสาวรสเชอร์เบท

นอกจากนี้ บริษัทยังใช้งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 60 ล้านบาท สร้างโรงเย็นเพื่อจัดเก็บสำรองผลไม้จากเกษตรกรผู้ผลิตในแต่ฤดูกาล เพื่อให้บริษัทมีวัตุดิบแปรรูปในการผลิตไอศครีมผลไม้ได้ตลอดทั้งปี รวมถึงขยายโรงงานที่ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 80 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อเดือน จากเดิมเดือนละ 60 ตู้คอนเทนเนอร์ (1 ตู้คอนเทนเนอร์ ประมาณ 25,000 ชิ้น) เพื่อรองรับความต้องการตลาดทั้งใน/ต่างประเทศในอนาคต

โดยปี2566 บริษัทวางเป้าหมายรายได้อยู่ที่ 500 ล้านบาท เติบโตจากปี 2565 อยู่ที่ 330 ล้านบาท จากที่ตั้งเป้าไว้ 250 ล้านบาท จากปัจจัยบวกของตลาด การบริโภค และการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวหลังโควิดที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงยอดขายจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะการสั่งสินค้าในกลุ่มไอศครีมซอร์เบในลูกผลไม้ มีสัดส่วนสูงถึง 90% โดยส่วนใหญ่นำไปจำหน่ายทั้งในร้านอาหาร คาเฟ่ บาร์ โรงแรมและซูเปอร์มาร์เก็ต

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของ แม็คซ์ฟู๊ด กรุ๊ป มีทั้งหมด 3 กลุ่ม ประกอบด้วยกลุ่มไอศครีมซอร์เบในลูกผลไม้ กลุ่มไอศครีมผลไม้แท่ง และกลุ่มโมจิ ไอศครีม

จากการลองผิดลองถูกด้วยตนเอง พร้อมพัฒนาสูตรสินค้าในแบบเฉพาะจนเป็นเอกลักษณ์ และกลายมาเป็นจุดขายของแม็กซ์ฟู้ด จนก้าวมาสู่ยอดขายหลักหลายร้อยล้านบาทในเวลาไม่ถึงสิบปี

 

TAGS: #แม็คซ์ฟู๊ด