น้ำมัน-ก๊าซ-ไฟฟ้าพุ่งปรี๊ด สินค้าจ่อขยับ

น้ำมัน-ก๊าซ-ไฟฟ้าพุ่งปรี๊ด สินค้าจ่อขยับ
ทุกข์คนไทย น้ำมัน-ก๊าซ-ไฟฟ้าพุ่ง ราคาสินค้าจ่อขยับตาม

เปิดต้นปีคนไทยต้องเผชิญกับวิกฤตค่าครองชีพที่ทยอยปรับขึ้น โดยเฉพาะราคาพลังงานที่กลายเป็นค่าใช้จ่ายสำคัญในชีวิตประจำวัน  แม้ว่าภาครัฐจะพยายามออกมาตรการพยุงราคาไม่ให้เกิดผลกระทบแล้วก็ตาม

ล่าสุดการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เป็นประธาน มีมติให้ตรึงราคาก๊าซหุงต้ม หรือ ก๊าซ LPG  อีกแค่ 1 เดือน ถึงวันที่ 28 ก.พ. โดยคงราคาถังขนาด 15 ก.ก. ไว้ที่ 408 บาท แต่หลังจากนั้นเดือนมี.ค. จำเป็นต้องปรับขึ้นอีก ถังละ 15 บาท เป็น 423 บาทต่อถัง

เหตุผลที่ต้องปรับเนื่องจากราคา LPG  ตลาดโลกยังคงผันผวนตามราคาน้ำมันดิบ จากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งกดดันต่อความต้องการใช้น้ำมันและก๊าซ LPG ของโลก 
ขณะเดียวกันตลาดยังคงจับตามาตรการต่างๆ ที่หลายประเทศทั่วโลกอาจออกมาควบคุมผู้เดินทางจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายหลังจากที่จีนประกาศเปิดประเทศ เมื่อช่วงต้นเดือนม.ค. ซึ่งอาจส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมีความไม่แน่นอน 

ที่ผ่านมาหากเทียบราคา LPG นำเข้าอยู่ที่ 698 เหรียญสหรัฐต่อตัน กับราคาขายปลีกก๊าซ LPG ควรอยู่ที่ 450 บาทต่อถัง แต่รัฐใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปพยุงราคาไว้ ทำให้ยังมีราคาขายปลีก LPG ในประเทศอยู่ที่ 408 บาทต่อถัง 

การใช้เงินกองทุนน้ำมันฯดังกล่าวส่งผลต่อสภาพคล่อง บัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 813 ล้านบาทต่อเดือน ปัจจุบันขาดทุนสะสมอยู่ที่ 44,963 ล้านบาท และเข้าใกล้กรอบวงเงินกองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของบัญชีก๊าซ LPG ที่ให้ติดลบได้ไม่เกิน 48,000 ล้านบาท  

แน่นอนสิ่งสำคัญที่จะตามมาหากรัฐยังปล่อยให้ราคาก๊าซ LPG ทยอยปรับขึ้นย่อมส่งผลกระทบกับบรรดาผู้ประกอบการร้านอาหาร และประชาชน  ที่ต้องมีภาระเพิ่ม ท้ายสุดราคาอาหารจะต้องปรับขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 
ราคาน้ำมันยังผันผวน ดีเซลอั้นสุดลิตรละ 35 บาท

ขณะที่ราคาน้ำมัน ถือเป็นต้นทุนพลังงานที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนไทยแทบทุกวงจรชีวิต ยังมีความผันผวนจากปัจจัยนอกประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2566 หลายสำนักคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยเคลื่อนไหวที่ 85-95 เหรียญสหรัฐ แม้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยน้อยกว่าปีก่อน ที่ราคาอยู่ที่ 90-100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ก็ยังเป็นระดับราคาที่สะเทือนกระเป๋าของผู้ใช้รถยนต์

ปัจจัยสำคัญคือ กลุ่มผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก(โอเปก) พยายามลดกำลังการผลิต ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกันภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทำให้การใช้น้ำมันลดลง มีผลต่อราคาลดลงในเวลาเดียวกัน จึงจะเห็นได้ว่าทั้งสองปัจจัยส่งผลให้ราคาน้ำมันตลาดโลกปรับขึ้นลงผันผวน

การดูแลราคาน้ำมันของภาครัฐที่ผ่านมาได้ใช้เงินกองทุนน้ำมันฯเข้าไปพยุงราคาในช่วงขาขึ้นไว้จำนวนมาก ยึดนโยบายตรึงราคาดีเซลไม่เกินลิตรละ 35 บาทไว้ ส่งผลให้บัญชีน้ำมันติดลบอยู่ 69,448 ล้านบาท  เมื่อรวมกับบัญชีLPG ติดลบรวม
ปัจจุบันหลายคนอาจตั้งคำถามราคาตลาดโลกลง ทำไมดีเซลจึงไม่ลดราคาตาม สาเหตุคือกองทุนน้ำมันฯยังมีภาระหนี้ก้อนใหญ่ที่ต้องใช้จังหวะนี้บริหารเงินไหลเข้าออกให้เหมาะสม เพราะที่ผ่านมาได้ใช้เงินกองทุนน้ำมันฯเข้าไปตรึงราคาไว้  บางช่วงคนไทยใช้ดีเซลถูกกว่าราคาจริง 10 กว่าบาทต่อลิตร ดังนั้นมาวันนี้จำเป็นต้องทยอยเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯจากดีเซลบ้าง ซึ่งล่าสุดเก็บได้ลิตรละ 3.74 บาท

ค่าไฟแพงทั่วหน้า ปีนี้จ่ายคนละเท่าไหร่

การประกาศอัตราค่าไฟฟ้ารอบเดือนม.ค.-เม.ย. 2566 แม้ค่าไฟฟ้าผันแปร(เอฟที) ต้องปรับขึ้น 24.77 สตางค์(สต.)ต่อหน่วยเป็น 93.43 สต.ต่อหน่วย ตามราคาเชื้อเพลิงที่เพิ่ม และค่าเงินบาทอ่อน

ก่อนหน้ารัฐบาลเคยสัญญาจะตรึงค่าไฟกลุ่มบ้านที่อยู่อาศัยจ่ายเท่าเดิมหน่วยละ 4.72 บาทต่อหน่วย แต่ล่าสุดมติกบง.ขยับอัตราค่าไฟใหม่ พร้อมออกมาตรการบรรเทาผลกระทบ 

-ผู้ใช้ไฟฟ้า 1-151 บาทต่อหน่วย ให้ส่วนลดช 92.04 สต.ต่อ หน่วย จ่ายอัตราเดิม 4.72 บาทต่อหน่วย

-ผู้ใช้ไฟฟ้า 151-300 หน่วย ให้ส่วนลด 67.04 สต.ต่อหน่วย อัตราค่าไฟ  4.98 บาทต่อหน่วย

-ผู้ใช้ไฟฟ้า 300 หน่วยขึ้นไปจ่ายอัตรา  5.65  บาทต่อหน่วย   

ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น กลุ่มผู้ประกอบกิจการ ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่อัตรา 5.33 บาทต่อหน่วย  

3 ต้นเหตุราคาพลังงานที่เกิดขึ้นทั้ง ไฟฟ้า น้ำมัน และก๊าซ หลายคนเป็นกังวลจะมีผลต่อค่าครองชีพในอนาคต  โดยเฉพาะราคาหมวดสินค้าอาหาร ที่ทยอยปรับขึ้น ก่อนหน้าภาคเอกชนประเมินปีนี้อาจจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาสินค้า 5-12 % 
นับเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลสมัยหน้าที่ต้องเจอปมร้อนต่างๆเหล่านี้และควรระมัดระวังการออกนโยบายเศรษฐกิจประชานิยมด้านพลังงาน  ไม่ควรสร้างภาระให้กับอนาคต และซุกปัญหาไว้จนแก้อะไรไม่ทันการณ์
 


 

TAGS: #ค่าไฟ #น้ำมันแพง #สินค้าแพง #เศรษฐกิจ #พลังงาน