สำนักงาน กกพ.เดินหน้าตรวจสอบงบกองทุนฯ แม่เมาะ พร้อมงัดมาตรการคุมเข้ม ตัดทิ้งโครงการเกินครึ่ง จับมือ ปปท. สร้างความโปร่งใส ยึดหลักธรรมาภิบาล
ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงาน กกพ. ในฐานะผู้จัดการกองทุนพัฒนาไฟฟ้าและโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยถึง กรณีการเผยแพร่ข้อมูล อดีตนายก อบต. แม่เมาะ และชาวสบป้าด อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง พร้อมตั้งข้อกล่าวหาว่า งบกองทุนรอบโรงไฟฟ้าฯ ที่สนับสนุนโครงการลงหมู่บ้านอาจมีความไม่โปร่งใสเกิดขึ้น 4 โครงการ วงเงินรวม 2.5 ล้านบาทนั้น สำนักงาน กกพ. ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยตรวจสอบข้อเท็จจริงทันทีเมื่อได้รับหนังสือร้องเรียนตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2567
ขณะเดียวกัน อดีตนายก อบต. ยังเข้าแจ้งความกับ สภ.แม่เมาะ ให้ดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เมื่อตำรวจสอบปากคำผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว จึงส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ประจำจังหวัดลำปาง พิจารณา ต่อมาสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดลำปาง เห็นว่า คำกล่าวหาไม่อยู่ในเขตอำนาจของ ป.ป.ช. จึงส่งเรื่องคืนให้กับ สภ. แม่เมาะ
นอกจากนี้ สำนักงาน กกพ. แจ้งให้คณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชุมชนรอบโรงไฟฟ้า (คพรฟ.) แม่เมาะ สอบข้อเท็จจริงตามที่ระเบียบกำหนด ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตการดำเนินโครงการชุมชนและเจ้าหน้าที่มีส่วนได้เสียในการดำเนินโครงการชุมชนกองทุนพัฒนาไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง (คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ) เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 ต่อมา คพรฟ. แม่เมาะ แจ้งผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อสำนักงาน กกพ. ว่า ยังไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอว่ามีการทุจริต จึงเห็นควรยุติการสอบสวน
ทั้งนี้ได้มอบหมายให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ จากส่วนกลาง ลงพื้นที่สอบข้อเท็จจริงทั้งจากผู้ร้องและผู้ถูกร้อง ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่ามีผู้ที่เข้าข่ายการกระทำผิด ทั้งในฝั่งผู้ร้องและผู้ถูกร้อง รวมประมาณ 70 คน เมื่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ รายงานผลการตรวจสอบให้ กกพ. ทราบแล้ว กกพ. จึงมีมติให้ส่งเรื่องดังกล่าวไปยัง ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป สำหรับโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการรอรับรายงานสรุปผลข้อเท็จจริงจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ
ดร.พูลพัฒน์ กล่าวว่า สำนักงาน กกพ. ได้ดำเนินการกำกับดูแลการใช้เงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้ามาโดยตลอด เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณทุกบาททุกสตางค์เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการผลิตไฟฟ้า โดยเน้นให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและโปร่งใส
อย่างไรก็ตามล่าสุดได้เข้มงวดโครงการของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าแม่เมาะ ในงบประมาณปี 2568 ขอมา 1,003 โครงการ ผ่านการพิจารณา 337 โครงการ และไม่ผ่านการพิจารณา 666 โครงการ โดย สำนักงาน กกพ. ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2565 เพื่อร่วมกันสร้างระบบธรรมาภิบาลในการบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ลดโอกาสหรือความเสี่ยงต่อการทุจริต และใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าอย่างคุ้มค่าต่อสาธารณะ