KResearch เตือนหมูไทยอาจเสียหายกว่าแสนล้าน หากเปิดเสรีนำเข้าเนื้อหมูสหรัฐฯ

KResearch เตือนหมูไทยอาจเสียหายกว่าแสนล้าน หากเปิดเสรีนำเข้าเนื้อหมูสหรัฐฯ
ตลาดเนื้อหมูไทยอาจเผชิญความเสียหายทางเศรษฐกิจ หากรัฐบาลไทยเปิดเสรีให้นำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มกดดันให้ไทยต้องเปิดตลาดสินค้า เพื่อแลกกับการยกเลิกภาษีนำเข้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch) ออกรายงานเตือนว่า ตลาดเนื้อหมูไทยอาจเผชิญความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 112,330 ล้านบาท หากรัฐบาลไทยเปิดเสรีให้นำเข้าเนื้อหมูและเครื่องในจากสหรัฐอเมริกา หลังจากสหรัฐฯ มีแนวโน้มกดดันให้ไทยต้องเปิดตลาดสินค้าดังกล่าว เพื่อแลกกับการยกเลิกภาษีนำเข้าระดับสูงที่เตรียมบังคับใช้กับสินค้าไทย

หมูไทยเสียเปรียบทุกมิติ

ข้อมูลจาก KResearch ระบุว่า หมูไทยมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าหมูสหรัฐฯ อย่างชัดเจน โดยตลอดช่วงปี 2563–2567 ราคาเนื้อหมูไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.3 ดอลลาร์สหรัฐฯ/กิโลกรัม สูงกว่าราคาเนื้อหมูสหรัฐฯ ที่เฉลี่ย 1.7 ดอลลาร์สหรัฐฯ/กิโลกรัม หรือราว 1.3 เท่า

ขณะที่หมูสหรัฐฯ มาจากฟาร์มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง มีระบบการผลิตแบบ Economy of Scale และสามารถผลิตได้มากกว่าความต้องการบริโภคภายในประเทศถึง 1.27 เท่า ส่วนหมูไทยยังพึ่งพาฟาร์มขนาดเล็กที่มีประสิทธิภาพต่ำ และต้นทุนสูงเป็นหลัก

ผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตในประเทศ

การเปิดตลาดให้หมูสหรัฐฯ ไหลทะลักเข้าสู่ไทยอย่างเสรี อาจสร้างแรงกระแทกต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการไทยทั่วห่วงโซ่ ตั้งแต่ผู้เลี้ยงหมูไปจนถึงเขียงหมู โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 97% จากเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทั้งหมด 149,000 ราย ขณะที่ผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพด รำสด และปลายข้าว ซึ่งมีจำนวนรวมราว 5 ล้านครัวเรือน ก็จะได้รับผลกระทบทางรายได้จากราคาตกต่ำตามไปด้วย

KResearch ประเมินว่า โรงชำแหละสุกรขนาดเล็กถึงกลางอาจต้องปิดตัวลงทั้งหมด หากถูกแย่งตลาดโดยผลิตภัณฑ์แปรรูปนำเข้าที่พร้อมบริโภคได้ทันที ขณะที่ผู้ค้ารายย่อยอย่างเขียงหมู ก็อาจสูญเสียรายได้บางส่วน

ความกังวลด้านสุขภาพจากสารเร่งเนื้อแดง

แม้ผู้บริโภคไทยอาจได้ประโยชน์จากราคาหมูที่ถูกลงในระยะสั้น แต่ KResearch เตือนว่าอาจมีความเสี่ยงต่อสุขภาพในระยะยาว โดยเฉพาะจากการบริโภคหมูสหรัฐฯ ที่ใช้ สารเร่งเนื้อแดง ซึ่งยังคงถูกห้ามใช้ในไทย

กรมอนามัย เผยว่า สารดังกล่าวอาจส่งผลต่อระบบประสาทและกล้ามเนื้อ และมีความเสี่ยงต่อระบบสืบพันธุ์ของสตรี รวมถึงอาจเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง กลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

การเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ

การผลักดันให้ไทยเปิดตลาดเนื้อหมู เป็นหนึ่งในประเด็นที่สหรัฐฯ ใช้ในการเจรจาการค้าภายใต้แนวทาง “Reciprocal Tariffs” ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยไทยจะถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าสูงถึง 36% เริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 1 สิงหาคม 2568

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงเตือนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยเตรียมแผนรับมือทั้งด้านเศรษฐกิจ เกษตรกรรม สุขภาพ และการเจรจาทางการค้าอย่างรอบคอบ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมหมูในประเทศที่ยังคงเปราะบางในหลายด้าน

TAGS: #KResearch #เศรษฐกิจ #เกษตรกรรม #สุขภาพ #นำเข้าเนื้อหมู