ไทยผลิตน้ำมันได้เองแต่ยังต้องนำเข้าต่างประเทศ โดยอิงราคาตลาดสิงคโปร์ จุดศูนย์กลางซื้อขายภูมิภาคเอเชีย โค้ดราคาสะท้อนต้นทุนจริง
หลายคนเคยตั้งคำถามถึงราคาน้ำมันในประเทศไทยทำไมต้องขึ้นลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ทั้งที่เรามีโรงกลั่นน้ำมันของตัวเอง และบางพื้นที่ก็มีแหล่งผลิตน้ำมันดิบ หากประเทศไทยผลิตน้ำมันเองได้ก็ควรตั้งราคาขายเองได้ โดยไม่ต้องอ้างอิงกับต่างประเทศหรือไม่
สาเหตุที่ว่าทำไมราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทยต้องอ้างอิงตามตลาดโลก และปัจจัยอะไรที่ทำให้ราคาน้ำมันในประเทศเปลี่ยนแปลงไปตามราคาสากล ซึ่งหากเราเข้าใจในเรื่องนี้จะช่วยให้สามารถวางแผนการใช้ชีวิตและการเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
“น้ำมัน” สำคัญต่อชีวิตประจำวันอย่างไร ?
น้ำมันเป็นปัจจัยสำคัญในชีวิตของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางด้วยรถยนต์ รถโดยสาร หรือเครื่องบิน ล้วนต้องใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง ขณะเดียวกันยังเป็นต้นทุนสำคัญในการขนส่งสินค้า ทำให้ราคาน้ำมันมีผลต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่เราซื้อใช้ทุกวัน เมื่อราคาน้ำมันขึ้น ค่าเดินทางและค่าขนส่งก็สูงขึ้นตาม ส่งผลให้ค่าครองชีพแพงขึ้น ในทางกลับกันถ้าราคาน้ำมันลดลง ต้นทุนหลายอย่างก็ลดลง ทำให้เศรษฐกิจเคลื่อนไหวได้ง่ายขึ้น ด้วยเหตุนี้ราคาน้ำมันจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทุกคนควรให้ความสนใจเพราะมีผลต่อทั้งเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของเราโดยตรง
น้ำมันไม่ใช่ของใครคนเดียว ! แต่เป็นสินค้าหลักของตลาดโลก
น้ำมันถือเป็น “สินค้าสากล” (Global Commodity) เพราะเป็นสินค้าที่มีการซื้อขายกันในระดับโลก ไม่ใช่แค่ภายในประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งลักษณะของสินค้าประเภทนี้จะมีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก โดยมีความแตกต่างกันเชิงคุณภาพขึ้นอยู่กับแหล่งผลิต โดยหลักแล้วน้ำมันดิบอ้างอิงแหล่งที่สำคัญของโลก ได้แก่
Dubai เป็นน้ำมันดิบจากแหล่งตะวันออกกลาง
Brent มีแหล่งผลิตที่อยู่ในทะเลเหนือ โดยอยู่ระหว่างเกาะอังกฤษ และคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย
West Texas Intermediate (WTI) เป็นน้ำมันดิบอ้างอิงที่สำคัญในทวีปอเมริกา
นอกจากนี้ตลาดกลางซื้อขายน้ำมัน ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางและมักถูกนำมาใช้เป็นมาตรฐานในการอ้างอิงราคา เนื่องจากมีความน่าเชื่อถือ และมีปริมาณการซื้อขายสูง มี 3 แห่งหลัก ๆ ได้แก่
New York Mercantile Exchange (NYMEX) หรือตลาดนิวยอร์ก เป็นตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่สำคัญที่สุดสำหรับน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป โดยใช้ราคาที่สะท้อนความต้องการในอเมริกาเหนือเป็นหลัก
Intercontinental Exchange (ICE) หรือตลาดลอนดอน เป็นศูนย์กลางการซื้อขายน้ำมันในยุโรป โดยราคาจากตลาดนี้มักสะท้อนถึงความต้องการในยุโรป แอฟริกา และบางส่วนของเอเชีย
Singapore International Monetary Exchange (SIMEX) หรือตลาดสิงคโปร์ เป็นศูนย์กลางการค้าและกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยใช้ราคาที่สะท้อนความต้องการน้ำมันในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงประเทศไทย อินโดนีเซียและ มาเลเซีย
สำหรับราคาน้ำมันที่ใกล้ตัวกับผู้บริโภคชาวไทยก็คือราคาน้ำมันหน้าสถานีบริการหรือราคาขายปลีกของสถานีบริการต่าง ๆ ซึ่งมีราคาของน้ำมันสำเร็จรูปเป็นต้นทุนหลักอ้างอิงราคาจากตลาดสิงคโปร์
ราคาน้ำมันโลกขึ้นลงอย่างไร ? ถอดรหัสกลไกที่คุณต้องรู้ !
ความเข้าใจกลไกตลาดน้ำมันเป็นสิ่งสำคัญ เพราะน้ำมันเป็นหนึ่งในสินค้าที่มีผลกระทบโดยตรงต่อค่าครองชีพ เศรษฐกิจ และความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญหลายอย่างในตลาดโลก ดังนี้
- อุปสงค์ - อุปทาน (Demand & Supply)
ถ้าอุปสงค์สูง (คนต้องการใช้น้ำมันเยอะ) แต่มีอุปทานน้อย (ผลิตไม่พอ) → ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น
ถ้าอุปสงค์ลดลง (คนใช้น้อย) แต่มีอุปทานสูง (ผลิตน้ำมันมากเกิน) → ราคาน้ำมันลดลง
กรณีตัวอย่าง: หากเกิดสงครามในประเทศผู้ผลิตน้ำมัน จะทำให้กำลังการผลิตน้อยลง → ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น
ช่วงโควิด-19 คนเดินทางน้อย ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง → ราคาน้ำมันลดลง
- นโยบายของกลุ่ม OPEC และประเทศผู้ผลิตน้ำมัน กลุ่ม OPEC และประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น ซาอุดิอาระเบีย และรัสเซีย มีบทบาทสำคัญในการกำหนดราคาเพราะสามารถควบคุมปริมาณการผลิตน้ำมันในตลาดโลก
ถ้า OPEC และประเทศผู้ผลิต "ลดกำลังการผลิต" จะทำให้น้ำมันหายากขึ้น → ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น
ถ้า OPEC และประเทศผู้ผลิต "เพิ่มกำลังการผลิต" จะทำให้มีน้ำมันมากขึ้นในตลาด → ราคาน้ำมันลดลง
- เหตุการณ์เศรษฐกิจและการเมืองโลก เหตุการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจและการเมืองโลก เช่น สงคราม วิกฤตเศรษฐกิจ หรือความขัดแย้งระหว่างประเทศ มีผลโดยตรงต่อราคาน้ำมัน เพราะส่งผลต่ออุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) ในตลาดโลก
ถ้าเกิดสงครามหรือความขัดแย้งในประเทศผู้ผลิตน้ำมัน จะทำให้การผลิตลดลง → ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น
ถ้าเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก จะทำให้คนใช้พลังงานน้อยลง → ราคาน้ำมันลดลง
กรณีตัวอย่าง: สงครามรัสเซีย - ยูเครน ปี 2022 ทำให้รัสเซียลดการส่งออกน้ำมัน → ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น
วิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 และช่วงโควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง → ราคาน้ำมันลดลง
น้ำมันไทยมาจากไหน ? ทำไมราคาน้ำมันไทยต้องขึ้นลงตามตลาดโลก ?
"ไทยผลิตน้ำมันเองได้ แต่ไม่พอใช้ ! ต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากตลาดโลก” แม้ว่าไทยจะมีแหล่งน้ำมันดิบในทะเลอ่าวไทย แต่ปริมาณสำรองและอัตราการผลิตค่อนข้างจำกัด ทำให้ผลิตได้เพียง 15-20% ของความต้องการใช้ทั้งหมดของประเทศ
ดังนั้นเราจึงต้องพึ่งพาน้ำมันดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ตะวันออกกลาง และเอเชียแปซิฟิก ประมาณ 80-85% เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการกลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปใช้ภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและจำนวนประชากร
โดยราคาน้ำมันสำเร็จรูปของประเทศไทยมีการอ้างอิงมาจากตลาดสิงคโปร์ หรือ Singapore International Monetary Exchange (SIMEX) เพราะตลาดสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการซื้อขายน้ำมันในภูมิภาคเอเชีย และมีปริมาณการซื้อขายที่สูง ทำให้ราคาเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ตลาดสิงคโปร์จึงเป็นราคาที่สะท้อนสภาพตลาด ภาวะอุปสงค์และอุปทานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการกำหนดมาตรฐานราคาน้ำมันอย่างโปร่งใส เป็นระบบ และได้รับการยอมรับในระดับสากล ของ Platts Singapore
ประกอบกับความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ ทำให้ตลาดสิงคโปร์เป็นเกณฑ์อ้างอิงที่เหมาะสมที่สุดสำหรับตลาดน้ำมันในประเทศไทย นอกจากประเทศไทยแล้ว ก็ยังมีประเทศอื่นที่ใช้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ราคาตลาดสิงคโปร์เป็นราคาอ้างอิง อีกทั้งหลายประเทศในทวีปเอเชียก็ใช้ราคาอ้างอิงดังกล่าวเป็นฐานการคำนวณต้นทุนราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศเช่นกัน
ทั้งนี้โครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกของประเทศไทยประกอบด้วยด้วยต้นทุนเนื้อน้ำมันสูงถึง 60 - 70% ดังนั้นหากต้นทุนเนื้อน้ำมัน (ซึ่งอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดสิงคโปร์) เพิ่มขึ้น ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย การเชื่อมโยงกับราคาสากลจะช่วยสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ความโปร่งใสของกลไกตลาด การแข่งขันที่เป็นธรรม และการบริหารความเสี่ยงด้านอุปทาน ซึ่งช่วยให้ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้บริโภคสามารถปรับตัวตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ถ้าไทยกำหนดราคาน้ำมันเอง: ทางรอดหรือทางตันของเศรษฐกิจไทย?
หากประเทศไทยกำหนดราคาน้ำมันให้ ต่ำกว่าตลาดโลก โดยไม่อ้างอิงราคาสากล อาจช่วยลดค่าครองชีพของประชาชนในระยะสั้น แต่ในระยะยาวอาจเกิดผลกระทบหลายอย่างที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพพลังงานของประเทศ ดังนี้
1.ผู้นำเข้าไม่อยากนำเข้าน้ำมัน และโรงกลั่นขาดแรงจูงใจในการลงทุนและผลิตน้ำมัน เนื่องจากเกิดการขาดทุน ทำให้การนำเข้าน้ำมันลดลง และมีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ภายในประเทศ
2.ภาระทางการเงินของรัฐบาลเพิ่มขึ้นจากการอุดหนุนราคาน้ำมันให้กับผู้ผลิตเป็นเวลานาน กองทุนน้ำมันอาจหมดลง หรือรัฐต้องกู้เงินเพื่อชดเชย ทำให้ส่งผลต่อหนี้สาธารณะ
3.ผู้ผลิตจะให้ความสำคัญกับการส่งออกเป็นหลัก ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำมันภายในประเทศ
4.เกิดการลักลอบนำออกไปขายต่างประเทศ เพราะจะได้ราคาสูงกว่า ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำมันภายในประเทศ
5.เกิดการกักตุนสินค้าเพื่อขายต่อในช่วงที่ราคาสูงขึ้น และตลาดมืดที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม
นอกจากนี้หากประเทศไทยกำหนดราคาน้ำมันให้ สูงกว่าตลาดโลก โดยไม่อ้างอิงราคาสากล อาจเกิดผลกระทบหลายอย่างที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพพลังงานของประเทศ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้
1.ต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพสูงขึ้น จากราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และกำลังซื้อของประชาชนลดลง
2.อุตสาหกรรมและภาคธุรกิจได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น รวมถึงการท่องเที่ยวลดลง
3.รัฐบาลอาจต้องใช้มาตรการแทรกแซงในการอุดหนุนราคาน้ำมัน ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน และสนับสนุนพลังงานทางเลือกและโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถยนต์ไฟฟ้า EV
4.เกิดการลักลอบนำเข้าน้ำมันจากประเทศที่มีราคาถูกกว่า ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสูญเสียเงินตราต่างประเทศ จากการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปโดยไม่จำเป็น อาจทำให้ไทยขาดดุลการค้าและส่งผลต่อค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลง
"รับมือกับราคาน้ำมัน: กลยุทธ์ฝ่าความผันผวนอย่างชาญฉลาด"
ที่ผ่านมาราคาน้ำมันที่ขึ้นลงตามตลาดโลกส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน ต้นทุนของภาคธุรกิจ และเสถียรภาพของเศรษฐกิจโดยรวม การเข้าใจและปรับตัวต่อความผันผวนของราคาน้ำมัน จะช่วยลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและค่าครองชีพในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน ดังนี้
ปรับพฤติกรรมการใช้พลังงานให้คุ้มค่า โดยการขับรถแบบ Eco-Driving ควบคุมความเร็วให้เหมาะสม (80-100 กม./ชม.) หลีกเลี่ยงการเร่งและเบรกกะทันหัน ดับเครื่องยนต์เมื่อจอดนานเกิน 5 นาที บำรุงรักษารถยนต์อย่างสม่ำเสมอ ตรวจลมยางให้เหมาะสม ลดแรงเสียดทาน เปลี่ยนน้ำมันเครื่องและไส้กรองตามระยะ ใช้เชื้อเพลิงให้เหมาะกับรถ เลือกเดินทางให้มีประสิทธิภาพ วางแผนเส้นทางล่วงหน้า หลีกเลี่ยงรถติด
ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า, รถเมล์ ตลอดจนใช้แอปพลิเคชันแชร์รถ หรือ Carpooling
นอกจากนี้ต้องเลือกใช้พลังงานทางเลือก หันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) หรือรถยนต์ไฮบริด รวมถึงการใช้พลังงานทดแทน ติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Rooftop) มีการวางแผนงบประมาณรับมือค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ติดตามราคาน้ำมัน
ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ควบคุมการเดินทางเพื่อลดการใช้น้ำมันใช้เทคโนโลยี เช่น การประชุมออนไลน์เพื่อลดการเดินทาง
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาได้เรียนรู้ผลกระทบจากเหตุการณ์สำคัญของโลกที่ทำให้เกิดความผันผวนของราคาน้ำมัน ทั้งวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน (2022 - ปัจจุบัน) เมื่อรัสเซียบุกยูเครนในปี 2022 ประเทศตะวันตกตอบโต้ด้วยการคว่ำบาตรการส่งออกพลังงานของรัสเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก ราคาน้ำมันพุ่งสูงถึง 120 ดอลลาร์/บาร์เรล ในช่วงกลางปี 2022 เพราะอุปทานลดลง ประเทศยุโรปต้องหันไปนำเข้าน้ำมันจากแหล่งอื่น เช่น ตะวันออกกลาง ส่งผลให้ความต้องการน้ำมันจากภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้น ไทยต้องจ่ายค่าน้ำมันแพงขึ้นตามราคาตลาดโลก เนื่องจากต้องนำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลาง
นอกจากนี้การลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC+ (2023) OPEC+ (กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันนำโดยซาอุดีอาระเบีย และรัสเซีย) ประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมันลงหลายล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อลดปริมาณน้ำมันในตลาดและดันราคาให้สูงขึ้น ทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำมันที่ออกสู่ตลาดลดลง ราคาน้ำมันในไทยจึงเพิ่มขึ้นตาม เพราะต้องซื้อน้ำมันในราคาที่สูงขึ้น
รวมถึงการระบาดของโควิด-19 (2020-2021) ในช่วงต้นปี 2020 โควิด-19 ระบาดหนักทั่วโลก ทำให้หลายประเทศล็อกดาวน์ ส่งผลให้การเดินทางและกิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง ความต้องการใช้น้ำมันลดลงอย่างมาก ราคาน้ำมันดิบลดต่ำสุดในรอบหลายสิบปี โดย WTI Crude เคยติดลบที่ -37 ดอลลาร์/บาร์เรล ราคาน้ำมันในไทยปรับลดลงเหลือ ต่ำกว่า 20 บาท/ลิตร ในช่วงกลางปี 2020