ยอดตั้งกิจการใหม่ 4 เดือน ลดลง 4 % ขณะที่มูลค่าทุน 1.1 แสนล้านเพิ่มขึ้นจากปีก่อน สะท้อนรายใหญ่ยังทำธุรกิจต่อเนื่องขณะที่รายย่อยชะลอการตั้งกิจการ ส่วนนต่างชาติยังลงทุนเพิ่ม 5.7 หมื่นลบ.
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่เดือนเมษายน 2568 พบว่า มีธุรกิจจัดตั้งใหม่ 6,325 ราย ลดลง 205 ราย (-3.14%) เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2567 (6,530 ราย) และทุนจดทะเบียนรวม 32,141 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,870 ล้านบาท (17.86%) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
สำหรับธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 502 ราย ทุนจดทะเบียน 988 ล้านบาท 2. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 439 ราย ทุนจดทะเบียน 1,569 ล้านบาท 3. ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 264 ราย ทุนจดทะเบียน 469 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.94%, 6.94% และ 4.17% ของจำนวนการจัดตั้งธุรกิจในเดือนเมษายน 2568 ตามลำดับ
ขณะที่มีธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนจัดตั้งเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 2 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนรวม 16,520 ล้านบาท ได้แก่ 1. บมจ.กัลฟ์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) มูลค่าทุนจดทะเบียน 14,940 ล้านบาท ประกอบกิจการเข้าเป็นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วน หรือเป็นผู้ถือหุ้นในนิติบุคคลใดๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศเพื่อประโยชน์ของบริษัท
และ2.บจ.อิเดมิตสึ อพอลโล (ประเทศไทย) จำกัด มูลค่าทุนจดทะเบียน 1,580 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่น ผลิตภัณฑ์จารบี และสินค้าอื่นๆ หรือผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้งานคล้ายคลึงกัน
ทั้งนี้ยอดจัดตั้งกิจการใหม่ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2568 (ม.ค.-เม.ย.2568) มีจำนวน 30,148 ราย ลดลง 1,385 ราย (-4.39%) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ทุนจดทะเบียน 112,062 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16,849 ล้านบาท (17.70 %) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 2. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และ 3. ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร
ด้านการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการเดือนเมษายน มีจำนวน 814 ราย เพิ่มขึ้น 4 ราย (0.49%) และมีทุนจดทะเบียนเลิก 4,131 ล้านบาท ลดลง 965 ล้านบาท (-18.94%) ภาพรวมรอการจดทะเบียนเลิก 4 เดือนแรกของปี 2568 มีจำนวน 3,921 ราย เพิ่มขึ้น 302 ราย (8.34%) โดยธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 2.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และ 3. ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 เมษายน 2568) มีธุรกิจที่จดทะเบียนนิติบุคคลรวมทั้งสิ้น 1,994,979 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 30.61 ล้านล้านบาท โดยมีนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่ 947,791 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 22.34 ล้านล้านบาท
สำหรับนิติบุคคลในกลุ่มธุรกิจบริการเป็นประเภทธุรกิจที่มีสัดส่วนการจดทะเบียนมากที่สุดมีจำนวน 512,359 ราย ทุนจดทะเบียน 12.85 ล้านล้านบาท รองลงมาคือ กลุ่มธุรกิจค้าส่ง/ค้าปลีก 310,856 ราย ทุน 2.57 ล้านล้านบาท และธุรกิจผลิต 124,576 ราย ทุน 6.92 ล้านล้านบาท
เมื่อวิเคราะห์การจัดตั้งธุรกิจ ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2568 (ม.ค.-เม.ย.) ที่ลดลง 4.39% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2567 จะพบว่าธุรกิจที่มีการจัดตั้งลดลง เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต ธุรกิจขายปลีกสินค้าในร้านทั่วไป และธุรกิจตัวแทนนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น จากความผันผวน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ปัญหาหนี้สินครัวเรือนของไทย ความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกา
ขณะที่ธุรกิจบางประเภทยังคงมีการจัดตั้งเพิ่มขึ้นในช่วง 4 เดือนของปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เช่น ธุรกิจขายส่งสินค้าทั่วไป ธุรกิจขายส่งผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจโรงพยาบาล และธุรกิจขายยานยนต์เก่า เป็นต้น สืบเนื่องจากกิจกรรมและมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล เทรนด์เรื่องสุขภาพ และไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่
ในส่วนของการจดทะเบียนเลิกธุรกิจในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2568 (มค.-เม.ย.) ที่เพิ่มขึ้น 8.34% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา สืบเนื่องจากธุรกิจบางประเภทมีการจดเลิกเพิ่มขึ้น เช่น ธุรกิจให้คำปรึกษาด้านบริหารจัดการ ธุรกิจขายปลีกสินค้าในร้านค้าทั่วไป และธุรกิจตัวแทนนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งเป็นธุรกิจที่ต้องปรับตัวให้ไวตามพฤติกรรมของผู้บริโภค และกลไกการแข่งขัน
สำหรับการลงทุนของชาวต่างชาติ 4 เดือนแรกของปี 2568 มีจำนวน 363 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 57,860 ล้านบาท มีจำนวนเพิ่มขึ้นจำนวน 110 ราย (43%) เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2567 และมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 2,902 ล้านบาท (5%) โดย ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1. ญี่ปุ่น 71 ราย คิดเป็น 20% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 17,255 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจจัดหาจัดซื้อ วัตถุดิบ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ ธุรกิจบริการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ การเปลี่ยนและทำการเชื่อมต่อท่อส่งใต้ทะเล ระหว่างแท่นหลุมผลิตในโครงการขุดเจาะน้ำมัน ธุรกิจบริการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานพาหนะไฟฟ้า และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า
2. สหรัฐอเมริกา 51 ราย คิดเป็น 14% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 2,485 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุน ในธุรกิจค้าปลีกสินค้า ธุรกิจบริการคลังสินค้า ธุรกิจบริการ Data Center และธุรกิจบริการรับจ้างผลิต
3. สิงคโปร์ 45 ราย คิดเป็น 12% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 9,126 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนใน ธุรกิจบริการออกแบบ จัดซื้อ จัดหา ติดตั้ง ทดสอบ ตลอดจนการฝึกอบรม การให้คำปรึกษาแนะนำด้านการปฏิบัติการของงานระบบควบคุมกำกับดูแลและเก็บข้อมูลสำหรับโครงการรถไฟฟ้า ธุรกิจบริการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า
4. จีน 43 ราย คิดเป็น 12% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 6,471 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจจัดหาจัดซื้อวัตถุดิบ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อค้าส่งในประเทศ ธุรกิจบริการดำเนินพิธีการศุลกากรในเขตปลอดอากร (Free Zone) ธุรกิจบริการให้เช่าอาคารโรงงานพร้อมสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า
5. ฮ่องกง 40 ราย คิดเป็น 11% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 5,766 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจบริการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย ธุรกิจบริการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานพาหนะไฟฟ้า ธุรกิจบริการ DATA CENTER, CLOUD SERVICES และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า
ขณะที่การลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 108 ราย คิดเป็น 30% ของนักลงทุนต่างชาติในไทย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2567 จำนวน 31 ราย (40%) มูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 31,363 ล้านบาท คิดเป็น 54% ของเงินลงทุนทั้งหมด