"พิชัย" จ่อออกซอฟต์โลน 200,000 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการลดผลกระทบ "ภาษีทรัมป์" เผย 3 แนวทาง เจรจาภาษีสหรัฐ
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผยในงานหัวข้อสัมมนา TRUMP’S THE ART OF THE (RE) DEAL ว่า เศรษฐกิจไทยจะต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้าง โดยลดการพึ่งพาภาคการส่งออกให้ลดน้อยลงจากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 58-60% และหันมาพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น รวมถึงการขยายตลาดไปยังประเทศใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ขณะที่กรอบการเจรจาภาษีสหรัฐ ที่จะมีผล 1 ส.ค. นี้ โดยล่าสุดไทยได้ดำเนินการทบทวน และปรับเงื่อนไขใหม่เพิ่มเติมและส่งกลับไปยังสหรัฐเรียบร้อยแล้ว โดยยืนยันว่าข้อเสนอจะเป็นประโยชน์กับทั้งสองประเทศ (Win Win)
ทั้งนี้ รัฐบาลได้เตรียมมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากสหรัฐจะขึ้นภาษีไทย 36% ในวันที่ 1 สิงหาคม นี้ ซึ่งยังไม่รู้ว่าผลจะออกมาอย่างไร
โดยมาตรการหนึ่ง คือ การออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ซอฟต์โลน 2 แสนล้านบาท ดอกเบี้ย 0.01% ช่วยสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ
นายพิชัย กล่าวว่า การเจรจาภาษีสหรัฐฯ ผ่านมา 100 วันแล้ว นำมาสิ่งความไม่ชัดเจน ไม่แน่นอน ว่าจะจบอย่างไร ยังไม่มีใครคาดเดาว่า จะเป็นอย่างไร
สำหรับด้านการเจรจานั้น ยืนยันว่า ไทยยังคงยึดหลัก คือ
1.ไทยเราต้องเปิดตลาดให้กว้างขึ้น ในสินค้าที่สหรัฐอยากขาย และเราอยากซื้อ แต่ไทยเราต้องดูเรื่องของการเปิดตลาดที่ไม่กระทบกับการทำ FTA ของประเทศต่างๆ ที่ทำกับไทย โดยการเสนอให้สหรัฐนำสินค้าเข้ามาในระดับ 0% ที่ไทยผลิตไม่ได้ และต้องนำเข้า หรือของที่ผลิตในไทยแล้วไม่เพียงพอ โดยการป้องกันภาคการผลิตของไทยโดยเฉพาะในภาคเกษตรนั้นยังมีอยู่
2.ส่งเสริมการลงทุนในสหรัฐ นอกเหนือจากการที่ไทยจะเป็นผู้ซื้อแล้ว ไทยจะมีความสามารถในการเข้ามาไปลงทุนได้หรือไม่ ในมุมของพลังงาน เป็นต้น ดังนั้น วันนี้ สิ่งที่ต้องระวัง คือ รายการสินค้าใดที่เปิดกว้าง อยากซื้อ แน่นอนว่า ประเทศเกือบทุกประเทศ ทำ FTA มายาวนาน มีไม่เยอะที่ไม่ใช่ 0% ดังนั้นเพื่อให้เกิดการนำเข้าและแข่งขันได้ สินค้าหลายอย่างซึ่งเป็น 0% อยู่แล้ว ก็ต้องเสนอให้ใกล้ 0% เพื่อให้เกิดการลงทุนได้ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า สิ่งที่ไทยจะนำเข้า คือ สิ่งที่ไทยผลิตไม่ได้ หรือ ผลิตในไทยแต่ไม่เพียงพอ แต่ก็ต้องมีการกำหนดภาษี ที่ปกป้องภาคการผลิตของไทยด้วย
3.การให้ความสำคัญกับการป้องกันการสวมสิทธิ์สินค้า โดยข้อเสนอของสหรัฐนั้นจะให้มีการเพิ่มการใช้วัตถุดิบหรือส่วนประกอบที่มีการผลิตในประเทศไทย (Local content) เป็นโจทย์ที่เราต้องดูว่าสหรัฐจะกำหนดในสัดส่วนเท่าไหร่ โดยอาจจะเพิ่มจาก 40% ในปัจจุบัน อาจเพิ่มเป็น 60-70% ที่เป็นต้นทุนที่จะใช้ Local content จากประเทศไทย และประเทศต่างๆ ที่สหรัฐกำหนดมากขึ้น เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์