รอไปก่อนค่าไฟงวดสุดท้ายของปีลงแน่ 40 สต. แจงสำรองมากไม่เกี่ยวต้นทุนเอฟที

รอไปก่อนค่าไฟงวดสุดท้ายของปีลงแน่ 40 สต. แจงสำรองมากไม่เกี่ยวต้นทุนเอฟที
สนพ.เปิดเหตุผลค่าไฟแพงจากต้นทุนเชื้อเพลิงพุ่ง ชี้ผ่านพ้นจุดสูงสุดไปแล้ว ลุ้นงวดสุดท้ายจ่อลง 40 สต ขณะที่แนวทางรื้อสัญญาซื้อไฟเอกชนลดภาระยังทำไม่ได้  

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท  ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)  เปิดเผยว่า แนวโน้มค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายของปีนี้ (ก.ย.-ธ.ค.) มีโอกาสลดลงได้เฉลี่ย 40 สต.ต่อหน่วยมาอยู่ที่ 4.30-4.40 บาทต่อหน่วย  เนื่องจากปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่มีราคาต่ำสามารถผลิตได้เพิ่มขึ้นเป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุต(ลบ.ฟุต)ต่อวัน  ในเดือนส.ค. และ 600 ล้านลบ.ฟุตต่อวันในช่วงปลายปี  ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลดลงได้  โดยที่ผ่านมาค่าไฟฟ้าได้ผ่านพ้นจุดสูงสุดในเดือนม.ค.-เม.ย.ไปแล้ว เชื่อว่าหลังจากนี้จะทยอยลดลง

ทั้งนี้ยอมรับว่าต้นทุนค่าไฟฟ้าผันแปร(เอฟที)ที่สูงขึ้น สาเหตุหลักมาจากค่าเชื้อเพลิงคิดเป็นสัดส่วน 60%  ส่วนที่เหลือเป็นต้นทุนอื่นๆ ค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่มีค่าความพร้อมจ่าย( AP)  จะมีสัดส่วน16 % หรือ 0.76สตางค์   ซึ่งจากสถิติการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าในปี 2565 ได้จ่ายค่า AP ให้กับโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่(IPP) ที่ไม่ได้เดินเครื่อง คิดเป็นอัตรา 13 สต. หรือไม่ถึง 3 % ของค่าไฟต่อหน่วย

ขณะที่ปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศปี 2565 นั้น มีสัดส่วน 36 %  ไม่ได้สูงถึง 58 %  ตามที่เป็นข่าวเพราะต้องคำนวณจากกำลังผลิตพึ่งได้(Dependable capacity) ​ที่มีเพียง 45, 225 เมกะวัตต์ หักจากปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค) ไม่ใช่คำนวณจากกำลังผลิตตามสัญญา(Contract capacity)​ที่ 52,566 เมกะวัตต์  โดยไฟพีค ปี 2565 อยู่ที่ 33,177 เมกะวัตต์   ส่วนปริมณสำรองไฟฟ้าที่สูงเกิดจากการคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจที่ไม่เป็นไปตามแผน  รวมถึงผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19   

อย่างไรก็ตามการวางแผนกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศต้องกำหนดเป็นแผนระยะยาว ส่วนการเปิดประมูลรับซื้อโรงไฟฟ้าเอกชนและการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่​ทดแทนโรงเก่าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องกำหนดชัดเจนต้นทุนต้องต่ำ ลดภาระเงินภาครัฐ ซึ่งการส่งเสริมพลังงานทดแทนที่เพิ่มขึัน ทำให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าต้องสูงขึ้น เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าที่ยังไม่มีความเสถียรเพียงพอจะกระทบต่อความมั่นคงพลังงานได้

ส่วนที่มีข้อเสนอให้ลดต้นทุนค่าไฟฟ้า โดยการเจรจาปรับปรุง​สัญญาค่าไฟฟ้าที่รับซื้อจากภาคเอกชนทุกประเภท เพื่อลดค่าความพร้อมจ่าย(AP)​และปรับปรุงสัญญา​ค่าซื้อไฟพลังงานทดแทน(RE)​ในรูปแบบ ADDER. หรือ อัตราค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มโดยบวกเพิ่มจากอัตราค่าไฟฟ้าปกติ มีสัญญา 7 -10 ปี ตามประเภทของโรงไฟฟ้า  นั้นทางกระทรวงพลังงานได้เจรจากับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน(กกร.) ​ซึ่งมีตัวแทนโรงไฟฟ้าเอกชนร่วมอยู่ด้วยว่าจะแก้ไขสัญญาได้หรือไม่ เช่น ในช่วงค่าไฟฟ้าแพง ระยะเวลา 6 เดือนแรกของปี2566 ขอชะลอการจ่ายไปก่อน.  หรือ การเปลี่ยนสัญญา ADDER ปรากฏว่าเอกชนให้เหตุผลว่าเปลี่ยนแปลงไม่ได้จะมีผลกระทบต่อการลงทุน รวมถึงสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ัทั้งในและต่างประเทศก็ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงสัญญาดังกล่าว

 

TAGS: #สนพ. #ค่าไฟฟ้า #ก๊าซธรรมชาติ #สำรองไฟฟ้า