‘เอกนัฏ’ ส่ง ทีมสุดซอยลงพื้นที่ ระยอง ค้น 3 บริษัททุนจีน ถือหลายใบอนุญาต จัดโปรเช่าโกดังพ่วงแพคเกจขอใบ รง.4 ชงตรวจสอบที่มา ใครมีเอี่ยวฟันไม่เลี้ยง
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หัวหน้าชุดปฏิบัติการตรวจสุดซอยของกระทรวงอุตสาหกรรม หรือ “ทีมสุดซอย” พร้อมด้วย กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ลงพื้นที่ ต.ตาสิทธิ์ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง หลังได้รับการประสานงานจาก นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.ระยอง พรรคประชาชน ให้เข้าตรวจสอบกลุ่มโรงงานและโกดังต้องสงสัยที่อาจเข้าข่ายตั้งเป็นนิคมจีนศูนย์เหรียญ รวมทั้งยังมีประชาชนบริเวณใกล้เคียงร้องเรียนว่า ได้รับผลกระทบด้านมลภาวะจากกลุ่มโรงงานดังกล่าวด้วย
ทั้งนี้“นิคมศูนย์เหรียญ เป็นวาระสำคัญ กระทรวงอุตสาหกรรมต้องเร่งปราบปราม แก้ไขอย่างเร่งด่วน เป็นโมเดลธุรกิจ ที่เอารัดเอาเปรียบ ไม่ก่อให้เกิดมูลค่า ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำร้ายชีวิตคน ทำร้ายธุรกิจไทย ไร้ความรับผิดชอบ ไม่ยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง เป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจไทยอย่างร้ายแรง
น.ส.ฐิติภัสร์ กล่าวถึง ผลการลงพื้นที่ตรวจสอบกลุ่มโรงงานที่ ต.ตาสิทธิ์ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ว่า ในพื้นที่มีอาคารลักษณะโกดังจำนวน 4 หลังเป็นของ บริษัท ซีเอสเค เอสเตรท จำกัด ประกอบกิจการให้เช่าพื้นที่โรงงานและโกดัง มี นายหว่าน ชิว เฉิน รับเป็นเจ้าของโครงการบริหารจัดการดูแลพื้นที่ทั้งหมด โดยมีข้อเสนอพิเศษให้ผู้เช่าว่า สามารถขอใบอนุญาตโรงงาน (รง.4) ให้ได้ด้วย โดยพบว่า 4 โกดังในพื้นที่มี 5 บริษัทที่มีกรรมการบริษัทเป็นชาวจีนทั้งหมดตั้งประกอบกิจการโรงงานอยู่ ตรวจสอบใบอนุญาตโรงงานพบข้อพิรุธว่า เกือบทุกบริษัทได้รับโอนใบอนุญาตจาก บริษัท ซีเอสเค เอสเตรท จำกัด และประเภทของใบอนุญาตก็จะมีลักษณะคล้ายหรือใกล้เคียงกัน แต่ในข้อเท็จจริงแต่ละโรงงานผลิตสินค้าที่แตกต่างกัน
“กรณีของบริษัท ซีเอสเคฯ ในฐานะผู้ให้เช่าโกดังมีใบอนุญาตประเภทเดียวกันจำนวน 3-4 ใบ และยังสามารถโอนไปยังผู้เช่าโกดังในห้วงเวลาเดียวกัน ต้องไปไล่ดูว่า มีช่องโหว่ในกระบวนการขออนุญาตของ กรอ. หรือมีเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ เอื้อประโยชน์ หรือสนับสนุนผู้ประกอบการกระทำความผิดหรือไม่ด้วย“ นางสาวฐิติภัสร์ กล่าว
สำหรับผลการตรวจสอบโรงงานทั้งหมด ดังนี้ 1.บริษัท ซานเซน อิเล็คทริคอล (ประเทศไทย) จำกัด แจ้งประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ปลั๊กไฟ ปลั๊กราง และสายไฟ โดยไม่แจ้งขออนุญาตเริ่มประกอบกิจการ เจ้าหน้าที่จึงสั่งหยุดประกอบกิจการทั้งหมด พร้อมดำเนินคดีฐานประกอบกิจการโดยไม่แจ้ง และฐานทำผลิตภัณฑ์ โดยไม่มีใบอนุญาต รวมถึงจำหน่ายผลิตภัณฑ์โดยไม่มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) กับบริษัทและกรรมการ รวมทั้งยึดอายัดผลิตภัณฑ์ มูลค่ากว่า 2 ล้านบาท
2.บริษัท ชุนเล่ย (ไทยแลนด์) จำกัด แจ้งประกอบกิจการโรงงานผลิต นำเข้า ส่งออก เชือกรัด สายรัด สลิง เชือกยกของหัวเข็มขัด ตัวล็อกและชิ้นส่วนอุปกรณ์ ซึ่งเป็นกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 ที่จะต้องได้รับใบอนุญาตก่อนจึงจะดำเนินกิจการได้ แต่ตรวจพบว่า ประกอบกิจการผลิตสายรัดของ ซึ่งไม่ตรงกับประเภทหรือชนิดของโรงงานที่ได้รับอนุญาต จึงสั่งให้หยุดประกอบกิจการ พร้อมดำเนินคดีกับบริษัทและกรรมการ ฐานประกอบกิจการไม่ตรงกับที่ได้รับอนุญาต
และ 3.บริษัท จินต๋า พรีซิชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แต่พบว่ามีการแบ่งพื้นที่ให้ บริษัท แฮนด์ดีแจ็ค อีควิปเมนท์ จำกัด ประกอบกิจการผลิตแม่แรงไฮดรอลิก แต่ตั้งประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตอยู่ด้วย จึงได้สั่งหยุดประกอบกิจการทั้งหมด พร้อมผูกมัดประทับตรายึดอายัดเครื่องจักร และควบคุมตัว นายยู่ เจียงหัว อายุ 36 ปี สัญชาติจีน ที่รับเป็นผู้จัดการผู้ควบคุมงานของบริษัทไปดำเนินคดีข้อหาตั้งประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต
"การปราบปรามนิคมจีนศูนย์เหรียญ เป็นวาระเร่งด่วน และนโยบายสำคัญของ กระทรวงอุตสาหกรรม จึงต้องเร่งจัดการให้หมดไปโดยเร็ว และจะดำเนินคดีลงโทษกับผู้กระทำความผิดอย่างถึงที่สุด ซึ่งทีมสุดซอยจะรวบรวมข้อมูลเป็นรายสรุปนำเสนอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ไปถึงผู้บริหารกระทรวงฯ ถึงพฤติกรรม และรูปแบบดำเนินกิจการของกลุ่มบุคคลเหล่านี้ เพื่อนำไปสู่การปรับระเบียบ หลักเกณฑ์การพิจารณาออกใบอนุญาตต่างๆเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยปัจจุบันและสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป“ นางสาวฐิติภัสร์ กล่าว