กางข้อมูลโต้ฝ่ายค้านปมซื้อไฟฟ้าRE Big Lot ไม่ทำค่าไฟแพง

กางข้อมูลโต้ฝ่ายค้านปมซื้อไฟฟ้าRE Big Lot ไม่ทำค่าไฟแพง
สนพ.ยันยกเลิกสัญญาซื้อไฟพลังงานหมุนเวียนไม่ได้ หวั่นสองมาตรฐาน ชี้ค่าไฟไม่เพิ่มแต่ช่วยลดต้นทุนขายส่งปีละ 4.57 พันล้าน ขณะที่ช่วยวางระบบพลังงานสะอาดของไทยให้มีศักยภาพ

หลังเกิดข้อท้วงติงจากพรรคประชาชนถึงโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy: RE) ปริมาณ 5,200 เมกะวัตต์ (MW) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “RE Big Lot เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่นทุนพลังงานและสร้างภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าในอีก 25 ปีข้างหน้าจนทำให้คนไทยต้องจ่ายค่าไฟแพงกว่าที่ควรเป็นนับแสนล้านบาท

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้ออกมาชี้แจงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า โครงการรับซื้อไฟฟ้า RE Big Lot ดำเนินการตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ซึ่งผ่านกระบวนการต่าง ๆ อย่างครบถ้วน และขณะนี้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement: PPA) เป็นส่วนใหญ่แล้ว บางโครงการก็เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ไปแล้วด้วยจึงไม่สามารถยกเลิกสัญญาได้ หากจะยกเลิกเฉพาะบางโครงการที่ยังไม่ได้ลงนาม จะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม และกลายเป็นการปฏิบัติแบบสองมาตรฐานระหว่างโครงการที่ลงนามแล้ว กับโครงการที่ยังไม่ถึงขั้นนั้น

ส่วนประเด็นสำคัญที่หลายฝ่ายกังวลคือผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า แต่ตามข้อมูลของ สนพ. ต้นทุนเฉลี่ยในการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการ RE Big Lot อยู่ที่ประมาณ 2.70 บาทต่อหน่วย ต่ำกว่าค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ยในระบบปัจจุบันของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 3.18 บาทต่อหน่วย (ข้อมูลเดือนมีนาคม 2568)

เมื่อพิจารณาแยกประเภทของอัตราค่าไฟฟ้า พบว่า:

พลังงานแสงอาทิตย์: 2.18 บาท/หน่วย

พลังงานลม: 3.10 บาท/หน่วย

พลังงานแสงอาทิตย์รวมระบบกักเก็บพลังงาน (BESS): 2.83 บาท/หน่วย

ดังนั้นการรับซื้อไฟฟ้าจาก RE Big Lot จะช่วยลดค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ยได้ราว 4,574 ล้านบาทต่อปี และยังช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพด้านราคาไฟฟ้าของประเทศในระยะยาว

นอกจากมิติด้านต้นทุนแล้ว โครงการนี้ยังช่วยสนับสนุนเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ ได้แก่: ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 30-40% ภายในปี 2573  มุ่งสู่เป้าหมาย “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” ภายในปี 2593  และการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608

ขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะธุรกิจส่งออกที่ต้องรับมือกับมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) ซึ่งกำลังจะมีผลบังคับใช้ในหลายประเทศ

อย่างไรก็ดี การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 5,200 เมกะวัตต์ จึงไม่ใช่ภาระของประเทศ หากแต่เป็นโอกาสในการวางรากฐานระบบพลังงานที่สะอาด มั่นคง และแข่งขันได้ในระดับโลก พร้อมทั้งสร้างเสถียรภาพด้านราคาไฟฟ้าให้กับผู้บริโภคในระยะยาว

 

 

TAGS: #สนพ. #พลังงานหมุนเวียน #ค่าไฟแพง