การเมืองกดค่าไฟ 3.99 บาท เขย่าฐานะการเงินกฟผ.

การเมืองกดค่าไฟ 3.99 บาท เขย่าฐานะการเงินกฟผ.
จับตาพลังงานหารือเครียดปมร้อนลดค่าไฟไม่เกิน 3.99 บาท/หน่วย โยนกฟผ.แบกหนี้ 7 หมื่นล้านบาท เร่งศึกษารื้อสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเอกชน ลดต้นทุนค่าไฟระยะยาว 

วงหารือระหว่างกระทรวงพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(สกพ.)  และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถึงแนวทางการปรับลดค่าไฟฟ้าบิลรอบ เดือนพ.ค.-ส.ค. 2568 ให้ลงเหลือไม่เกิน 3.99 บาท/หน่วย ตามใบสั่งมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 1 เม.ย. จนถึงวันนี้ยังไม่ได้มีการนัดหมายอย่างเป็นทางการถึงทางออกที่จะดำเนินการต่อไป

ความเป็นไปได้ในการลดค่าไฟฟ้าให้ได้ตามเป้า วิธีการที่จัดการได้ง่ายที่สุดก็คือ การยืดจ่ายหนี้ค้างสะสมของกฟผ.ที่มีอยู่ 71,740  ล้านบาท ออกไปก่อนนั่นหมายถึง จากเดิมที่กฟผ.จะได้รับการชำระหนี้คืน 14,590 ล้านบาทในรอบบิลนี้ จากการตรึงค่าไฟฟ้าไว้  4.15 บาท/หน่วย  ก็ต้องรับภาระหนี้เก่าต่อไปเมื่อมีการปรับลดค่าไฟฟ้าลงตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้

แม้ว่าจาการคำนวณต้นทุนเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าในรอบบิลเดือนพ.ค.-ส.ค. จะทำให้ค่าไฟฟ้าจริงอยูที่ 3.95 บาท ซึ่งเป็นช่องว่างที่การเมืองมองว่า ดังนั้นก็ควรลดค่าไฟฟ้าลงได้อีกจากที่ต้องตรึงไว้ 4.15 บาท   

สิ่งที่หลายคนเป็นกังวลคือ การแก้ปัญหาอะไรก็ตามที่ต้องให้ใครหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งมารับผิดชอบฝ่ายเดียว คงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก ประกอบกับการตรึงค่าไฟฟ้าไว้ 4.15 บาท ก็มีเหตุมีผลตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพราะไทยยังไม่ได้เจอวิกฤตเศรษฐกิจขั้นรุนแรง  มองมุมกลับกันการปรับลดค่าไฟฟ้าควรเก็บเป็นกระสุนไว้ต่อสู้กับพายุวิกฤตที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมากกว่า เพราะไทยยังต้องเจอปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจอีกมาก ทั้งสงครามการค้า โดยเฉพาะการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐที่มีผลต่อการส่งออก ตลอดจนตลาดท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นกลับมาเต็มที่นัก

นอกจากนี้ยังทำให้กฟผ.ที่มีภาระหนี้กว่า 7 หมื่นล้านบาท มีปัญหาสภาพคล่อง แม้ว่าที่ผ่านมาจะสามารถบริหารจัดการโครงสร้างทางการเงินไว้ได้ แต่การเข้าไปช่วยรับภาระดูแลค่าไฟฟ้าตั้งแต่ปลายปี 2564 จนถึงปัจจุบันก็สร้างแรงกระเพื่อมต่อฐานะทางการเงินและเครดิตเรตติ้งมาโดยตลอด และอาจมีผลต่อการดูแลความมั่นคงทางพลังงานได้  

สำหรับข้อเสนอของ นายพีระพันธุ์  สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ที่ต้องการปรับลดต้นทุนค่าไฟฟ้า ใน 3 แนวทางโดยกำหนดกรอบเวลาการพิจารณา ภายใน 45 วัน ประกอบไปด้วย

1.การแก้ไขสัญญารับซื้อไฟฟ้า ในรูปแบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) และ Feed-in-tariff (FiT)  และเงื่อนไขที่กำหนดให้สัญญาดังกล่าวมีการต่ออายุสัญญาในเงื่อนไขเดิมอย่างต่อเนื่องได้โดยไม่มีกำหนดสิ้นสุดสัญญา  ซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 500 สัญญา  และเป็นอัตราที่ใช้มานานสมควรที่จะมีการทบทวนใหม่ให้สอดคล้องกับปัจจุบัน

2.การแก้ไขค่าความพร้อมจ่าย ( AP) และค่าพลังงาน (EP) รวมทั้งเงื่อนไขข้อตกลงอื่น ๆ ในสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชน (IPP) ซึ่งทำให้ กฟผ. หรือรัฐเสียเปรียบ เนื่องจากเป็นอัตราที่สูงเกินความเป็นจริง และ 3. หาแนวทางแก้ไขปัญหา อุปสรรคทั้งในทางการบริหารและตามสัญญารับซื้อไฟฟ้าต่างๆ ที่ทำให้ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า  (SO) ไม่สามารถบริหารจัดการ การสั่งผลิตไฟฟ้า ให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ลดต่ำลงได้

ขณะเดียวกันยังสั่ง สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ไปศึกษา และเสนอแนวทางปรับโครงสร้างระบบ Pool Gas เพื่อให้ราคาก๊าซสำหรับใช้ในการผลิตไฟฟ้าให้ประชาชนมีราคาต่ำลง โดยให้ดำเนินการให้ทันการประกาศราคาค่าไฟฟ้า สำหรับรอบบิลเดือนก.ย.-ธ.ค. 2568

หากพิจารณาข้อเสนอรมว.พลังงาน หากสามารถดำเนินการได้จริงจะช่วยสนับสนุนแนวทางการปรับลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าได้อย่างถาวร  เพราะเป็นเรื่องที่หลายคนไม่สบายใจกับต้นทุนค่าไฟดังกล่าวที่เกิดขึ้นมาหลายสิบปี เพียงแต่ในทางปฏิบัติต้องหารือกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน   ที่ต้องมีความเห็นร่วมกัน และทำเพื่อประโยชน์ของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ‘ค่าไฟฟ้า’ ถือเป็นเป็นนโยบายประชานิยมมักถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือฝ่ายการเมืองมาทุกยุคทุกสมัย เนื่องจากเข้าถึงประชาชนได้ทุกครัวเรือน  แต่ไม่ว่าจะเลือกแนวทางใดในการดูแลค่าไฟฟ้า ต้นทุนที่เกิดขึ้นจะสะท้อนไปยังค่าไฟทุกหน่วย การตรึงค่าไฟ  การปรับลดค่าไฟ ในตอนนี้ ส่วนต่างค่าไฟที่เกิดขึ้นก็ต้องไปทยอยไปอยู่ในค่าไฟในอนาคต ดังนั้นการบริหารค่าไฟฟ้าต้องมองจังหวะและโอกาสที่เหมาะสมและไม่สร้างภาระให้ใครจนมากเกินไป

TAGS: #ค่าไฟ #3.99 #บาท #หนี้กฟผ. #IPP #สกพ.