กฟผ. รับเทรนด์ Go Green อัปเกรดสายอาชีพผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำ และกังหันลม รับความต้องการอนาคต ผลิตพลังงานไฟฟ้าเปลี่ยน
ปรมาภา ศรีสารคาม ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาศักยภาพทรัพยากรบุคคลและคุณภาพ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทน (กฟผ.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์รับรองสมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ กฟผ. (Professional Certification Center–EGAT) เปิดเผยว่า ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) (สคช.)
โดยเปิดตัวโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การจัดทำสมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ สาขางานผลิตไฟฟ้า โซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำ (Floating Solar) และกังหันลม (Wind Turbine)
“กฟผ. ในฐานะศูนย์รับรองสมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ พร้อมด้วย มจธ. และ สคช. จะร่วมศึกษาข้อมูลกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมนำเสนอผลการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับจัดทำมาตรฐานวิชาชีพให้เหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป” ปรมาภา กล่าว
ปัจจุบัน กฟผ. ได้รับการรับรองจาก สคช. ให้เป็นศูนย์รับรองสมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ กฟผ. เพื่อทำหน้าที่ประเมินและรับรองสมรรถนะบุคลากร (Certify Body: CB) สาขาวิชาชีพพลังงานและพลังงานทดแทน ในสาขางานระบบผลิตไฟฟ้า สาขางานระบบส่งพลังงานไฟฟ้า และสาขางานผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ
สำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านระบบผลิตไฟฟ้าทั้งในภาครัฐและเอกชน โดยมีอาชีพที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในเบื้องต้น จำนวน 33 อาชีพ 53 ระดับคุณวุฒิ รวมทั้งอยู่ระหว่างเตรียมพร้อมให้ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับสากล ISO/IEC 17024
ด้าน ผศ.ดร.กูสกานา กูบาฮา คณบดีคณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและพัสดุ มจธ. ในฐานะผู้จัดการโครงการกล่าวว่าฯ ตามแนวทางการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยฉบับใหม่ หรือ PDP2022 ได้มุ่งเน้นการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน พร้อมพัฒนาระบบไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่นรองรับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) มีค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมกับประชาชน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) จึงจำเป็นจะต้องพัฒนาคนในกลุ่มอาชีพด้านพลังงานให้มีทักษะพื้ฐานความรู้รองรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่หลากหลายตามเทรนด์โลก
โดยต้องมีการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพที่เป็นมาตรฐานรองรับอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องในสายอาชีพพลังงาน ยกระดับสมรรถนะความสามารถให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน