กรมพัฒนาธุรกิจฯเปิดตัวเลขจดตั้งธุรกิจใหม่ 2 เดือน 1.6 หมื่นราย ลดลงเล็กน้อย ขณะที่บรรยากาศการลงทุนของต่างชาติในไทยยังขยายตัว มีเงินลงทุน 35,277 ล้านบาท
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงสถานการณ์การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่เดือนกุมภาพันธ์ 2568 พบว่า มีธุรกิจจัดตั้งใหม่ 7,529 ราย ลดลง 7.14%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และทุนจดทะเบียนรวม 16,335 ล้านบาท ลดลง 19.78%
ด้านธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 628 ราย มูลค่า ทุน 1,340 ล้านบาท 2. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 473 ราย ทุน 2,117 ล้านบาท 3. ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 339 ราย ทุน 610 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8.34%, 6.28% และ 4.50% ของจำนวนการจัดตั้งธุรกิจในเดือนกุมภาพันธ์ ตามลำดับ
สำหรับภาพรวมการจัดตั้งธุรกิจใหม่สะสม 2 เดือนของปี 2568 (มกราคม-กุมภาพันธ์) มีจำนวน 16,391 ราย ลดลง 5.09% ทุนจดทะเบียน 41,285 ล้านบาท ลดลง 9.85% โดยธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 1,319 ราย ทุน 2,762 ล้านบาท 2. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 1,085 ราย ทุน 4,156 ล้านบาท และ 3. ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 675 ราย ทุน 1,341 ล้านบาท
ขณะที่การจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการเดือนกุมภาพันธ์ 2568 มีจำนวน 787 ราย เพิ่มขึ้น 11.47% และมีทุนจดทะเบียนเลิก 2,417 ล้านบาท ลดลง 730 ล้านบาท สำหรับประเภทธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 2. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และ3. ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร ส่งผลให้การจดทะเบียนเลิกสะสม 2 เดือน มีจำนวน 2,218 ราย เพิ่มขึ้น 16.86% ทุนจดทะเบียนเลิกสะสมอยู่ที่ 7,017 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.31%
อย่างไรก็ดี แม้ตัวเลขการจดทะเบียนนิติบุคคลในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 และช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาดูจะชะลอตัวเพื่อรอดูสถานการณ์และความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจโลก แต่หากวิเคราะห์ในเชิงลึกจะเห็นว่าอัตรา การจัดตั้งธุรกิจต่อการจดเลิกในปี 2568 อยู่ที่ 7:1 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ดีกว่า 5 ปีย้อนหลัง (2563-2567) ที่มีสัดส่วน 4:1 หรือตั้ง 4 ราย เลิก 1 ราย
นางอรมน กล่าวถึงการลงทุนของชาวต่างชาติ 2 เดือนแรก มีจำนวน 181 ราย เงินลงทุนรวม 35,277 ล้านบาท โดย ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ญี่ปุ่น 38 ราย คิดเป็น 21% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 13,676 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจจัดหาจัดซื้อวัตถุดิบ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบสำหรับอุตสาหกรรม ธุรกิจบริการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ การเปลี่ยนและ ทำการเชื่อมต่อท่อส่งใต้ทะเล ระหว่างแท่นหลุมผลิตในโครงการขุดเจาะน้ำมัน ธุรกิจบริการบริหารจัดการการสั่งซื้อและการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และธุรกิจบริการรับจ้างผลิต
2. จีน 23 ราย คิดเป็น 13% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 5,113 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจจัดหาจัดซื้อวัตถุดิบ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบสำหรับอุตสาหกรรม ธุรกิจบริการดำเนินพิธีการศุลกากรในเขตปลอดอากร (Free Zone) ธุรกิจบริการให้เช่าอาคารโรงงานพร้อมสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า
3. สิงคโปร์ 23 ราย คิดเป็น 13% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 4,490 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจบริการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย ธุรกิจบริการวิจัยและพัฒนายางรถยนต์ ธุรกิจบริการ Data Center และ ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า
4. สหรัฐอเมริกา 19 ราย คิดเป็น 11% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 1,372 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจค้าปลีกสินค้า ธุรกิจบริการสนับสนุนข้อมูลเพื่ออำนวยความสะดวกในกระบวนการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และธุรกิจบริการรับจ้างผลิต
5. ฮ่องกง 16 ราย คิดเป็น 9% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 1,587 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิค ธุรกิจบริการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย ธุรกิจบริการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้า สำหรับยานพาหนะไฟฟ้า และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า
ด้านการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ 2 เดือนแรก มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 57 ราย คิดเป็น 31% ของนักลงทุนต่างชาติในไทย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2567 จำนวน 22 ราย (63%) มูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 17,546 ล้านบาท คิดเป็น 50% ของเงินลงทุนทั้งหมด