เปิดเหตุผลบิลค่าไฟหน้าร้อนเดือด อากาศร้อนทุก 1 องศา กินค่าไฟเพิ่ม 3% ขณะที่พรรคการเมืองพาเหรดโชว์นโยบายลดค่าไฟเอาใจประชาชน
ค่าไฟกับหน้าร้อน ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นในโลกโซเชียลต่อเนื่องในช่วงวันหยุดสงกรานต์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะโพสต์เรื่องการติดตั้งโซลาร์เซลล์ช่วยลดรายจ่ายค่าไฟฟ้าหลักพันบาท เนื่องจากหลายคนกำลังประสบกับปัญหาค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น และล่าสุดค่าไฟฟ้ารอบหน้าเดือนพ.ค.-ส.ค. จะขยับไปอยู่ที่ 4.77 บาทต่อหน่วย
ขณะเดียวกันบรรดาพรรคการเมืองอาศัยจังหวะนี้ชูนโยบายลดค่าไฟฟ้าหวังลดภาระรายจ่ายเรียกคะแนนเสียงประชาชน ที่เห็นชัดมี 3 พรรคการเมือง คือ พรรคประชาธิปัตย์ มีนโยบาย ยกเลิกค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ(เอฟที) เพราะเห็นว่าสูตรการคำนวณเป็นเรื่องของสมมติฐานทำให้เกิดช่องโหว่ เอื้อประโยชน์ให้กับบางกลุ่ม ประกาศภายใน 1 ปีจะลดค่าไฟให้เหลือหน่วยละ 3.50 บาท
เช่นเดียวกับพรรคไทยสร้างไทย หากเป็นรัฐบาลจะลดค่าไฟให้เหลือหน่วยละ 3.50 บาท พร้อมทั้งวิพากษ์ความผิดพลาดของรัฐบาลในการบริหารโครงสร้างค่าไฟฟ้า
และพรรคพลังประชารัฐ มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ระบุจะลดค่าไฟฟ้าบ้านที่อยู่อาศัยให้เหลือหน่วยละ 2.70 บาท และภาคอุตสาหกรรม 2.50 บาท
เมื่อเห็นตัวเลขค่าไฟในอนาคตที่พรรคการเมืองรับปากจะทำให้ได้ หลายคนก็แอบเชียร์ในใจ แต่ก็มีคำถามตามมา จะทำได้มากน้อยแค่ไหน เพราะเป็นแค่โหมโรงถึงการขายนโยบาย ขณะที่รายละเอียดของแนวทางปฏิบัติยังไม่ให้เห็นเป็นรูปธรรมเท่าไหร่นัก
ปัญหาเรื่องค่าไฟแพงคงต้องแยกเป็น 2 ประเด็น คือค่าไฟที่เพิ่มขึ้นเฉพาะหน้าร้อน และค่าเอฟทีที่ต้องทบทวนทุก 4 เดือน ก่อนจะไปว่าถึงการรื้อสูตรค่าไฟฟ้าหรือค่าเอฟที ต้องหาคำตอบเสียงบ่นของค่าไฟหน้าร้อนทำไมถึงแพงขึ้น อย่างแรก อัตราค่าไฟฟ้าของไทยเป็นอัตราก้าวหน้า เข้าใจง่ายๆคือ หากใช้มากก็ต้องจ่ายมาก โดยค่าไฟบ้านหากใช้ไม่เกิน 150 หน่วย/เดือนจะอยู่ที่หน่วยละ 3.2484 บาท ส่วน 250 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 151-400 ) หน่วยละ 4.2218 บาท และหากเกิน 400 หน่วย (หน่วยที่ 401 เป็นต้นไป ) หน่วยละ 4.4217 บาท
ขณะที่ปัจจุบันค่าไฟฟ้ารอบเดือนม.ค.-เม.ย. มีค่าเอฟทีในส่วนของบ้านอยู่อาศัย อยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมค่าไฟฐานทำให้ ค่าไฟเฉลี่ยบ้านเฉลี่ย 4.72 บาท/หน่วย ส่วนค่าไฟฟ้ารอบเดือนพ.ค.-ส.ค. ค่าเอฟทีขยับขึ้นเป็น 98.27 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.77 บาทต่อหน่วย
นอกจากนี้สภาพอากาศที่ร้อนขึ้นส่งผลให้เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภททำความเย็น โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศแม้จะตั้งอุณหภูมิไว้เท่าเดิม แต่อากาศด้านนอกที่ร้อน คอมเพรสเซอร์ย่อมทำงานหนักขึ้น โดยอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1 องศามีผลต่อค่าไฟเพิ่มขึ้น 3 % ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจบ้านไหนที่เปิดเครื่องปรับอากาศสู้กับอากาศที่ร้อนจัด ต่อให้มีเทคโนโลยีดีแค่ไหนก็หลีกเลี่ยงค่าไฟที่เพิ่มขึ้นได้
ส่วนประเด็นที่สอง ปัญหาค่าเอฟทีที่ปรับเพิ่มขึ้นและทำให้อัตราค่าไฟฟ้ารอบถัดไป เดือนพ.ค.-ส.ค. ที่ประกาศออกมาแล้วจะอยู่ที่หน่วยละ 4.77 บาทต่อหน่วย ปรับเพิ่มขึ้นจากรอบก่อนหน้า อยู่ที่หน่วยละ 4.42 บาท ปัจจัยหลักที่ทำให้ค่าไฟแพงคือต้นทุนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า จากเดิมใช้ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ซึ่งมีราคาที่ถูก แต่เมื่อเกิดช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนผ่านโอเปอร์เรเตอร์ ส่งผลให้การผลิตก๊าซฯได้น้อยลงจากจาก 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเหลือ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือลดลง 20-30% ทำให้ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ที่มีราคาที่สูงขึ้นกว่าปกติจาเหตุสงครามรัสเซีย-ยูเครน
ปัจจุบันโครงสร้างต้นทุนค่าไฟรอบ พ.ค.- ส.ค. ประกอบไปด้วย ได้แก่ ค่าเชื้อเพลิงทุกประเภท 2.74 บาทต่อหน่วย ค่าโรงไฟฟ้าเพื่อรักษาความมั่นคงของระบบ 76 สตางค์ต่อหน่วย ค่าระบบจำหน่าย 51 สตางค์ต่อหน่วย ค่าภาระหนี้สะสมการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 35 สตางค์ต่อหน่วย ค่าระบบส่ง 24 สตางค์ต่อหน่วย ค่าใช้จ่ายตามนโยบายภาครัฐ 16 สตางค์ต่อหน่วย
แนวคิดของการรื้อค่าเอฟทีหรือยกเลิกการใช้ หากทำได้ก็ต้องปรับโครงสร้างสูตรคำนวณกันใหม่ เพราะค่าเอฟทีก็คือการเปลี่ยนแปลงของค่าซื้อเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้า ยกเลิกตรงนี้แล้วการคำนวณค่าไฟจะเป็นแบบไหน รายละเอียดตรงนี้ยังไม่เห็นที่มาที่ไปนัก
อย่างไรก็ตามความพยายามในการลดต้นทุนราคาพลังงานของพรรคการเมืองเป็นข้อดีต่อประชาชน แต่ที่สำคัญทำได้จริงหรือแค่ขายฝัน เพราะที่ผ่านมาไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนก็ยังคงใช้นโยบายประชานิยม แก้ปัญหาหน้างาน สั่งตรึงราคา ลดราคา โยกภาระไปห้หน่วยงานกำกับ ทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ (กฟผ.)ที่แบกหนี้ไว้ 1.5 แสนล้านจากลดค่าไฟ หรือกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เข้าไปอุ้มราคาดีเซล และก๊าซหุงต้ม ติดหนี้หลักแสนล้าน แต่ไม่เคยเห็นใครเข้าไปแก้ต้นตอของปัญหาอย่างจริงจังสักครั้ง