พลังงานถกคลังลดค่าไฟไร้หนทาง เหตุงบกลางไม่พอ ขณะที่กฟผ.ใจดียืดหนี้อุ้มค่าไฟ 1.5 แสนล้านบาท เป็น 2 ปี 4 เดือนกดค่าไฟลงได้ 7 สต.
รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า หลังการหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อหาแนวทางการปรับลดค่าไฟฟ้ารอบเดือนพ.ค.-ส.ค. ตามนโยบายนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ที่ต้องการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านไม่เกิน300หน่วยต่อเดือน นั้น ทางกระทรวงคลังไม่สามารถจัดหางบกลางมาดำเนินการตามแนวคิดดังกล่าวได้ เนื่องจากมีงบประมาณไม่เพียงพอ
ทั้งนี้ต้องใช้งบสูงถึง 8,000ล้านบาท โดยค่าไฟฟ้ารอบเดือนม.ค.-เม.ย. ได้ใช้งบกลางไปอุดหนุนค่าไฟฟ้าบ้านกลุ่มนี้แล้ว 7,500ล้านบาท ตามมติคณะกรรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติก(กพช.) ซึ่งเป็นเงินจากงบกลาง 3,200 ล้านบาทและเงินสนับสนุนจากบริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) อีก 4,300 ล้านบาท
สำหรับค่าไฟฟ้าผันแปร(เอฟที) รอบเดือน พ.ค.-ส.ค. ตามที่ได้ประกาศออกมาแล้วปรับขึ้น 5 สต.ต่อหน่วยและทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยทั้งระบบอยู่ที่4.77บาทต่อหน่วย
ส่วนกรณีที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน(กกร.)ทำหนังสือถึงรัฐบาลขอให้ทบทวนค่าไฟฟ้านั้น หากประเมินจากสถานการณ์ราคาพลังงานทั่วโลก ก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) มีแนวโน้มลดลง ดังนั้นการคืนหนี้ค่าไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)จากการเข้ามารับต้นทุนค่าไฟฟ้าแทนประชาชนตั้งแต่เดือนก.ย. 2564 ถึงธ.ค.2565 รวม 150,268 ล้านบาท ควรอยู่ในระยะเวลา 3 ปี น่าจะเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตามล่าสุดทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)ได้รับหนังสือแจ้งจาก กฟผ.เพื่อขอทบทวนระยะเวลาการคืนหนี้อุดหนุนค่าไฟฟ้าดังกล่าวจาก 2 ปี เป็น 2 ปี 4 เดือน หรือจากเดิมต้องชำระตั้งแต่เดือนม.ค. 66 สิ้นสุดในเดือน ธ.ค.67 ขยายเวลาเป็นสิ้นสุดเดือนเม.ย.68 หรือชำระคืน 6 งวดๆละ 22,000 ล้านบาท จากเดิมกำหนดชำระ 5 งวดงวดละ 27,000 ล้านบาท
ทั้งนี้จะช่วยลดให้ค่าไฟฟ้ารอบใหม่ได้ เฉลี่ย 7 สต.ต่อหน่วยหรือค่าไฟเฉลี่ยลดจาก4.77บาทเหลือประมาณ4.70บาท/หน่วย อย่างไรก็ตามตามระเบียบของกกพ.เป็นเรื่องที่ทำได้ยากหากจะมาทบทวนอัตราค่าไฟฟ้าในช่วงเวลานี้เพราะได้มีมติออกมาพร้อมทั้งจัดทำรับฟังความเห็นจากประชาชนไปแล้ว