กลุ่มน้ำมันรำข้าวคิง ภายใต้ผู้บริหารเจนฯ3 ‘ประทีป สันติวัฒนา’ ด้วยวิสัยทัศน์ จะไม่เก่งแค่น้ำมันพืชรำข้าว แต่มุ่งสู่ยั่งยืนด้วยธุรกิจมูลค่าสูงนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ ยา และเครื่องสำอางพารายได้สู่หมื่นล.บาท
หลัง ‘ประทีป สันติวัฒนา’ เข้ารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) กลุ่มน้ำมันรำข้าวคิงในฐานะผู้บริหารรุ่น3 พร้อมพาองค์กรมุ่งสู่ปีที่ 48 ด้วยวิสัยทัศน์เข้าสู่ยุคแห่งการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยจะใช้ความเชี่ยวชาญด้านวัตถุดิบรำข้าวนานร่วม 4 ทศวรรษ มาต่อยอดพร้อมพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกมาทำตลาดอย่างต่อเนื่อง
จากแนวคิดดังกล่าว ‘ประทีป’ บอกว่า จะต้องวางเส้นทางการทำตลาดให้สอดคล้องกับธุรกิจในปัจจุบันที่ดำเนินการอยู่ ให้ไปพร้อมกับกลุ่มธุรกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่ม (High Value Business) ขององค์กรในอนาคต
ประทีป กล่าว “ปัจจุบันบริษัทฯ มีทีมวิจัยและพัฒนา (R&D) ผลิตภัณฑ์กว่า 30 คน เพื่อศึกษาสินค้าใหม่ๆ ที่น่าสนใจในการทำตลาดแต่ทั้งนี้จะต้องไม่ไปทับซ้อนกับสินค้าที่ซัพพลายเออร์ หรือ คู่ค้าของบริษัทฯ ทำตลาดอยู่แล้ว” พร้อมเสริมว่า “ขณะนี้ยังได้พัฒนาและทำสินค้าเพื่อสุขภาพ อย่าง เครื่องดื่มรำข้าวไรซ์ลี่ ออกมาทำตลาดซึ่งเป็นสินค้าที่ยังไม่มีใครทำมาก่อน แม้ว่าในช่วงแรกจะไม่ได้สร้างยอดขายได้แบบก้าวกระโดด แต่คาดว่าจะทำให้มีรายได้ใหม่เพิ่มเข้ามาราว 300 ล้านบาทในปี 2573”
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้ศึกษาพร้อมพัฒนานวัตกรรมสินค้าใหม่ ๆ ที่ได้จากวัตถุดิบรำข้าวเพิ่มเพื่อทำตลาดในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อาทิ Rice Bran Wax แว็กซ์จากการสกัดน้ำมันรำข้าว ซึ่งยังสามารถนำไปใช้ได้ในหลากหลายอุตสาหกรรม อีกด้วย รวมไปถึงการต่อยอดธุรกิจในผลิตยา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลุ่มสินค้าที่บริษัทฯ ให้ความสนใจ ซึ่งในแต่ละปีจะมีสินค้า ราว 1-2 รายการ(Item)ใหม่ออกสู่ตลาดนับจากนี้ไป
ลงทุน 1.5 พันล.เสริมแกร่งไลน์ผลิต
ประทีป กล่าวว่า จากแนวทางดังกล่าว จะยังสอดคล้องกับแผนดำเนินงานของบริษัทฯ โดยเตรียมใช่งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานใหม่แห่งที่ 3 ในจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการบริหารจัดการวัตถุดิบพร้อมแผนการลงทุนพัฒนาเครื่องจักรให้กลุ่มน้ำมันรำข้าวคิงให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น คาดจะแล้วเสร็จและพร้อมที่จะเดินหน้าผลิตได้ในช่วงปลายปี 2568
จากปัจจุบันบริษัทฯ มีโรงงาน 3 แห่งตั้งอยู่ที่ จังหวัด สมุทรปราการ , อยุธยา และ นคราชสีมา มีกำลังการผลิตรวมกว่า 1,550 ตันรำข้าวต่อวัน สามารถผลิตน้ำมันรำข้าวดิบได้มากถึง 88,000 ตันต่อปี และโรงกลั่นมีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ประมาณ 350 ตันน้ำมันดิบต่อวัน สามารถผลิตน้ำมันสำเร็จรูปได้มากถึง 60,000 ตันต่อปี
โดยนำมาบรรจุขวดเพื่อทำตลาดสินค้าครอบคลุมทุกความต้องการผู้บริโภค ได้แก่ น้ำมันรำข้าวคิง โอรีซานอล 8,000 ppm, น้ำมันรำข้าวคิง โอรีซานอล 12,000 ppm, และน้ำมันรำข้าวไรซ์ลี่ โอรีซานอล 15,000 ppm รวมถึงผลิตภัณฑ์น้ำมันกลุ่มดูแลสุขภาพ อาทิ ซอร์ตเทนนิ่งน้ำมันรำข้าวคิง ครีมเทียมน้ำมันรำข้าวไรซ์ลี่ และสินค้าใหม่เครื่องดื่มรำข้าวไรซ์ลี่ เป็นต้น
ขณะที่ ปัจจุบัน ตลาดน้ำมันพืชในประเทศไทย คาดมีมูลค่ารวมประมาณ 25,000-26,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็นกลุ่มน้ำมันปาล์ม ราว 70 % กลุ่มน้ำมันถั่วเหลือง 20% กลุ่มน้ำมันรำข้าว สัดส่วน 4-5% และที่เหลือราว 5% จะเป็นกลุ่มน้ำมันพืชอื่นๆ
ประทีป เสริมว่า จากสัดส่วนดังกล่าวของตลาดน้ำมันรำข้าว ซึ่งมีมูลค่าอยู่ราว 1,100 ล้านบาท และเติบโตต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 10% นับจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา หนึ่งในปัจจัยหลักที่ผลักดันให้มีผู้เล่นเข้ามาในตลาดน้ำมันรำข้าวรวมไม่ต่ำกว่า 18 แบรนด์ในปัจจุบัน จาก่อนหน้ามีเพียง 4 รายเท่านั้น ซึ่ง ‘คิง’ จะต้องเร่งทำตลาดเพื่อรักษาผู้นำตลาดอันดับ 1 ด้วยครองส่วนแบ่งกว่า 85%
“ด้วยสินค้าในตลาดที่มีอยู่มากถึง 18 แบรนด์ ซึ่งจะต้องแข่งขันกันด้วยคุณประโยชน์ด้านสุขภาพซึ่งสินค้าน้ำมันรำข้าวในไทยถือเป็นสินค้าระดับพรีเมียม เมื่อเทียบกับราคาน้ำมันปาล์มต่อลิตรเฉลี่ย 40 บาทต่อขวด ส่วนน้ำมันรำข้าวอยู่ที่ 60-70 บาทต่อขวดแต่หากมีการจัดโปรโมชั่นสินค้าจะมีราคาลดลงมาเพื่อให้แข่งขันได้” ประทีป กล่าวพร้อมเสริมว่า “บริษัทฯ ยังจะเร่งสื่อสารการตลาดผลิตภัณฑ์ในด้านต่างๆ เพื่อให้ความรู้ด้านคุณประโยชน์น้ำมันรำข้าวคิงอย่างต่อเนื่อง ในกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจดูแลสุขภาพ”
ประทีป กล่าวว่า ในด้านการการเติบโตหลักของลุ่มน้ำมันรำข้าวคิง มาจากกลุ่มธุรกิจสินค้าเดิมที่มีอยู่ โดยเฉพาะในส่วนของน้ำมันรำข้าวคิง ที่มีสัดส่วนรายได้ที่ 35% ของบริษัทฯ แบ่งเป็นตลาดในประเทศ 64% และส่งออก 36% ซึ่งอยู่ระหว่างการขยายการทำตลาดสินค้าใหม่อย่างเพิ่มเติมในอนาคต เช่น น้ำมันสลัดหรือ Infused oil ที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศ
ส่วนรายได้อีก 65% มาจากธุรกิจอาหารสัตว์ ซึ่งที่ผ่านมามีการจำหน่ายรำสกัดน้ำมันคุณภาพสูงให้กับตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยรำสกัดของคิงนั้นมีคุณภาพที่ดีมาก สามารถนำไปใช้ในธุรกิจการทำยาให้กับสัตว์ได้ ซึ่งในอนาคตก็จะมีการศึกษาในการพัฒนาธุรกิจตรงนี้ต่อไปในอนาคต ด้วย
จากแนวทางดังกล่าวตามที่ ‘ประทีป’ วางไว้เพื่อรองรับการเติบโตของกลุ่มน้ำมันรำข้าวคิง ที่จะมีรายได้เติบโตถึงในระดับ 10,000 ล้านบาทได้ในอีก 6 ปีหน้า หรือในปี 2573
โดยในปี 2567 คาดจะมีรายได้รวมไม่ต่ำกว่า 8,300 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนออกเป็นกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ไม่ใช่น้ำมัน (รวมอาหารสัตว์) ราว 60-65% และ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร(รวมน้ำมันรำข้าว) ราว 35-40%