กกร.ยื่นหนังสือ 7 เม.ย.จี้นายกฯทบทวนค่าไฟแพง

กกร.ยื่นหนังสือ 7 เม.ย.จี้นายกฯทบทวนค่าไฟแพง
กกร.ห่วงต้นทุนพลังงานกระทบประชาชน-ภาคธุรกิจ ส่งหนังสือถึงนายกฯรื้อค่าไฟ ชี้เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณฟื้น เว้นส่งออกปัจจัยลบรอบด้าน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)เปิดเผยหลังทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนเมษายน ว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากรายได้การท่องเที่ยวและอุปสงค์ในประเทศ  ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยยังคงตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ไว้ที่  3-3.5 % ส่วนส่งออกมีโอกาสหดตัวในกรอบ-1.0% ถึง 0.0% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ในกรอบ 2.7- 3.2% 

ทั้งนี้สิ่งที่กังวลคือระดับราคาน้ำมันที่อาจปรับตัวสูงขึ้นหลังโอเปคพลัสลดกำลังผลิต และค่าไฟฟ้างวด เดือนพ.ค.-ส.ค.เฉลี่ย4.77 บาทต่อหน่วย โดยในวันที่ 7 เม.ย.นี้จะไปยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ขอให้ทบทวนค่าไฟฟ้าเพื่อลดภาระภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ เนื่องจากกระทบค่าครองชีพประชาชน และลดขีดความสามารถของภาคเอกชนส่วนที่การที่รัฐบาลอยู่ในช่วงยุบสภาไม่สามารถทำอะไรได้นั้น มองว่าไม่เกี่ยว เพราะเป็นเรื่องที่ควรทำต่อเนื่อง

สำหรับเหตุผลที่ควรทบทวนค่าไฟฟ้าเนื่องจากสถานการณ์ราคาพลังงานทั่วโลก มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการคืนหนี้ค่าไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ควรกำหนดตามแผนเดิมคือระยะเวลา 3 ปี ไม่ใช่ 2 ปี

รวมทั้งปรับวิธีประมาณการราคาตันทุนเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติและราคาLNG ที่ใช้คำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้า โดยใช้ราคาที่สะท้อนแผนการนำเข้า LNG ในช่วงพ.ค.-ส.ค. 2566 แทนการใช้ข้อมูลราคาของเดือน มกราคม 2566 ซึ่งมีราคาที่สูงกว่าเพื่อบรรเทาผลกระทบราคาไฟฟ้าของทุกภาคส่วนลงได้

นอกจากนี้ขอให้ภาครัฐเร่งจัดตั้งคณะกรรมการร่วมเอกชนพลังงาน( กรอ.พลังงาน) เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมให้ความเห็นในการกำหนดนโยบายด้านพลังงาน ตลอดจนมาตรการช่วยเหลือด้านพลังงานต่างๆ

นายเกรียงไกร กล่าวถึง วิกฤตสถาบันการเงินที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ และยุโรป ส่งผลให้ตลาดการเงินมีความผันผวนและเพิ่มโอกาสที่เศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัวมากขึ้น   แต่ผลกระทบทางตรงต่อภาคการเงินไทยมีน้อยมาก  โดยนักลงทุนมองโอกาสเกิด Recession ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นไปได้มากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากภาคการเงินมี risk appetite ในการปล่อยสินเชื่อลดลง เกิดภาวะการเงินตึงตัว และตลาดการเงินอ่อนไหวต่อทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นมากกว่าเดิม โดยตลาดเริ่มคาดหวังให้ Fed ลดดอกเบี้ยภายในปีนี้

ขณะที่เศรษฐกิจจีนมีสัญญาณฟื้นตัว แต่อานิสงส์ยังจำกัดอยู่ในประเทศ อย่างไรก็ดี ภาคการผลิตและการส่งออกของจีนยังอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวแย่ลงในเดือนมีนาคม ทั้งการผลิตและแนวโน้มการส่งออก ไม่ต่างจากประเทศอื่นในภูมิภาค ดังนั้น แนวโน้มการส่งออกสินค้าของไทยยังคงชะลอตัว และคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะหดตัวในปีนี้

นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า กกร.ได้พิจารณาการขยายอายุมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อฟื้นฟู และสินเชื่อเพื่อการปรับตัวต่อไปอีก 1 ปีจนถึงวันที่ 9 เมษายน 2567 เพื่อให้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ได้รับความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องและเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจที่ต้องการปรับตัว โดยไม่มีการขยายอายุโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ เนื่องจากกลุ่มธุรกิจเริ่มฟื้นตัวและสามารถเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินได้

ทั้งนี้เห็นควรให้โอนวงเงินคงเหลือของโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ หลังสิ้นสุดมาตรการมารวมไว้ภายใต้มาตรการสินชื่อพื้นฟูต่อไป ทำให้วงเงินมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู จะเป็นประมาณ 45,000 ล้านบาท

 

 

TAGS: #กกร. #ค่าไฟฟ้า #ท่องเที่ยว #ส่งออก