ทุนอสังหาฯญี่ปุ่น ศึกษาโมเดล 'เช่า' รับอนาคตอยู่อาศัยฯไทย สอดคล้องผลสำรวจโอกาสซื้อบ้านในกรุงเทพฯ ต้องใช้เงินเดือน 21 ปี คนเมืองมีรายได้ไม่ถึง 3 หมื่น 54% แบงก์เข้มสินเชื่อลามทุกกลุ่มแล้ว
มร.มาซะฮิโกะ โทดะ กรรมการบริหาร บริษัท ฮันคิว ฮันชิน พร็อพเพอร์ตี้ส์ คอร์ป กล่าวในโอกาสเปิดตัวบริษัทร่วมทุนใหม่ในชื่อ บริษัท เสนา เอชเอชพี จำกัด ภายใต้ความร่วมมือระหว่างบริษัทเสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) SENA ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของไทย เพื่อต่อยอดสู่การพัฒนาแบบรายโครงการอสังหาฯ ทั้งแนวราบและแนวสูง ครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์ ในระยะยาวโดยจะพัฒนาไม่ต่ำกว่า 4-7 โครงการต่อปี ใช้งบลงทุนราว 2,500 ล้านเยนต่อปี
“การพัฒนาโปรเจกต์อสังหาฯ ร่วมกับพันธมิตรเสนาฯในไทย จะมีความหลากหลาย โดยอยู่ระหว่างศึกษาโมเดลการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในรูปแบบเช่า เช่นเดียวกับพฤติกรรมผู้บริโภคในประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีความต้องการที่อยู่อาศัยในลักษณะการเช่ามากขึ้นในขณะนี้” โทดะ กล่าว
อนึ่ง การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนดังกล่าวในไทยเพื่อตอกย้ำความเชื่อมั่นการลงทุนอสังหาฯในไทยระยะยาว ที่บริษัทฯ มองว่าประเทศไทยยังมีโอกาสอีกมาก จากที่ผ่านมาบริษัทฯ เป็นพันธมิตรธุรกิจร่วมกับเสนาฯในฐานะผู้ร่วมทุนพัฒนาโครงการอสังหามาตั้งแต่ปี 2016 ในรูปแบบการร่วมทุน (Joint Venture) พร้อมเปิดตัวโครงการฯทั้งหมด 66 โครงการครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์ ในทำเลกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมมูลค่ากว่า 8.3 หมื่นล้านบาท
คนเมืองหลวง 54% เงินเดือนไม่ถึง 3 หมื่นบาท
ขณะที่ ผศ.ดร. เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บมจ. เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ SENA ที่ระบุว่า ราคาที่อยู่อาศัย เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5-10% ต่อปี สวนทางกับรายได้ที่ขึ้นตามไม่ทัน โดยรายได้ของคนกรุงเทพและปริมณฑล มีค่าเฉลี่ย 38,000 บาท/เดือน/ครัวเรือน โดยมากกว่า 54% ของประชากร มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/เดือน/ครัวเรือน
แบงก์ปฏิเสธปล่อยกู้ ลามทุกกลุ่ม
ด้าน วงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) หรือ PF กล่าวว่า ขณะนี้กำลังซื้อผู้บริโภคอ่อนแอ ในกลุ่มราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาทลงไป ด้วยสถาบันการเงินเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ ทำให้ยอดปฏิเสธสินเชื่อ (Reject Rate) สูงผิดปกติ ตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นมา
• กลุ่มราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท Reject Rate 70%
• กลุ่มราคา 3.01-7 ล้านบาท Reject Rate 50% จากเดิม 25%
• กลุ่มราคา 7.01-10 ล้านบาท รีเจ็กต์เรต 10% จากเดิม 7-8%
นอกจากนี้ ยังเริ่มเห็นภาพบ้านราคา 20 ล้านบาท โดนรีเจ็กต์เรตบางส่วนแล้ว
ซื้อบ้านในไทยยากกว่า โซล-โตเกียว
ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยรายงานการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยในโซนเอเชียแปซิฟิก รวมถึงไทยไม่ง่าย โดยระบุว่า ปัจจุบันราคาที่อยู่อาศัยเฉลี่ยในเมืองสำคัญ สูงกว่ารายได้ครัวเรือนเฉลี่ยหลายเท่าตัว
สำหรับกรุงเทพ ประเทศไทย พบว่า ‘ต้องใช้เงินเดือนประมาณ 21 ปี ถึงจะซื้อบ้านอยู่ได้’ ซึ่งใช้เวลานานกว่าการซื้อบ้านในโซล ประเทศเกาหลีใต้ ที่ใช้เงินเดือน 17.8 ปี หรือกระทั่งโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นที่ใช้เวลาเฉลี่ยราว 14.3 ปี
ส่วนเมืองสำคัญอื่น ๆ มีการใช้เงินเดือนกี่ปีในการซื้อที่อยู่อาศัยได้ ดังนี้
- โฮจิมินห์ 25.3 ปี
- ฮ่องกง 25.1 ปี
- มะนิลา 25 ปี
- เซี่ยงไฮ้ 23.6 ปี
- กัวลาลัมเปอร์ 18 ปี
- สิงคโปร์ 13.5 ปี
- ซิดนีย์ 12.8 ปี
- มุมไบ 11.7 ปี
ปรับค่าแรงขึ้นไม่ทันราคาบ้าน
โดยปัจจัยหลักที่ทำให้ อสังหาฯไทย กว่าจะเป็นเจ้าของต้องใช้เวลานาน หลัก ๆ มาจาก ต้นทุนการพัฒนาโครงการที่สูง ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยแพงขึ้น ซึ่งค่าเฉลี่ย (CAGR) ตั้งแต่ปี 2561 - 2566 เพิ่มขึ้น 9.1% ต่อปี สูงกว่าค่าเฉลี่ยดัชนีค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มเพียง 1.2% ต่อปี เท่านั้น
ขณะที่ ความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยยังเผชิญความท้าทาย ด้วย 2 ปัจจัยหลัก คือ
- รายได้ไม่แน่นอน ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจยังไม่ดี
- ภาระค่าใช้จ่ายหนี้ครัวเรือนสูง
นอกจากนี้ ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้ความสามารถในการซื้อบ้านของคนลดลง ดังนี้
- คนรายได้ 10,000 บาท ช่วง 5 ปีก่อน (ดอกเบี้ย 4.5%) สามารถกู้ได้ 1.4 ล้านบาท ปัจจุบัน (ดอกเบี้ย 5.5%) สามารถกู้ได้เพียง 1.2 ล้านบาท
- คนรายได้ 20,000 บาท ช่วง 5 ปีก่อน (ดอกเบี้ย 4.5%) สามารถกู้ได้ 2.8 ล้านบาท ปัจจุบัน (ดอกเบี้ย 5.5%) สามารถกู้ได้เพียง 2.5 ล้านบาท
- คนรายได้ 30,000 บาท ช่วง 5 ปีก่อน (ดอกเบี้ย 4.5%) สามารถกู้ได้ 4.1 ล้านบาท ปัจจุบัน (ดอกเบี้ย 5.5%) สามารถกู้ได้เพียง 3.7 ล้านบาท
- คนรายได้ 40,000 บาท ช่วง 5 ปีก่อน (ดอกเบี้ย 4.5%) สามารถกู้ได้ 5.5 ล้านบาท ปัจจุบัน (ดอกเบี้ย 5.5%) สามารถกู้ได้เพียง 4.9 ล้านบาท
- คนรายได้ 50,000 บาท ช่วง 5 ปีก่อน (ดอกเบี้ย 4.5%) สามารถกู้ได้ 6.9 ล้านบาท ปัจจุบัน (ดอกเบี้ย 5.5%) สามารถกู้ได้เพียง 6.2 ล้านบาท