ขยับใหญ่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ร่วม GMM สร้างแบรนด์ผ่านกิจกรรมคอนเสิร์ต ‘ขนนก กับ ดอกไม้’ เร่งระดมทุนสร้าง 2 ศูนย์การเรียนรู้นวัตกรรม-มะเร็ง ตามแผน5ปี มุ่งสู่โรงพยาบาลที่อยู่ในหัวใจคนไทย
พลตรี ธำรงโรจน์ เต็มอุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ประธานกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เปิดเผยว่า หลังเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการฯ เมื่อปี 2565 ได้วางวิสัยทัศน์การบริหารงานตามแผน 5 ปี (2565-2570) เพื่อผลักดันให้โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้ามุ่งสู่การเป็นสถานบริการทางการแพทย์ที่อยู่ในหัวใจของประชาชนคนไทยเมือนึกถึง โดยต่อยอดจากตำแหน่ง (Positioning) โรงพยาบาลทหารที่มีความเชี่ยวชาญ 60 สาขาเฉพาะด้านตามมาตรฐานสากล ที่ครบวงจรและใหญ่สุดในระดับภูมิภาคอาเซียน
ขณะที่วิสัยทัศน์ดังกล่าว จะยังสอดคล้องกับบทบาทของโรงพยาบาลฯ ในภาวะปกติหรือช่วงเหตุการณ์สงบที่มุ่งให้บริการทางการแพทย์แก่ภาคประชาชนอย่างเต็มกำลัง โดยในช่วง 2ปีที่ผ่านมาโรงพยาบาลฯ ได้เร่งเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วย พร้อมลดความแออัดจากผู้เข้ามารับการบริการทั้งจากกลุ่มข้าราชการทหารสังกัดกระทรวงกลาโหม และ ประชาชนทั่วไป หรือในกลุ่มผู้ป่วยนอก (OPD) เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 4,500 คนต่อวัน
พลตรี ธำรงโรจน์ กลาวว่า “จากจำนวนดังกล่าวทำให้โรงพยาบาลฯต้องวางยุทธวิธีระบายความแออัดจากผู้เข้ามารับบริการ” พร้อมเสริมว่า “ในปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลฯได้พัฒนา ‘พีเอ็มเค’ แอปพลิชัน (PMK Application) เพื่อรองรับการให้บริการดูแลผู้ป่วยได้ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ด้วยฟีเจอร์ต่างๆ ทั้ง การนัดหมายเพื่อเข้ารับการรักษาล่วงหน้าแบบออนไลน์ การขอบริการปรึกษาบริการแพทย์ทางไกลจากแพทย์ประจำโรงพยาบาล (Telemedicine) การสั่งจ่ายยา และ ให้บริการนำส่ง (Delivery) ยาให้กับผู้ป่วยด้วยเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันมีผู้เข้าลงทะบียนเพื่อขอรับบริการผ่านพีเคเอ็ม แอปฯ ไปแล้วประมาณ 10,000 ราย”
อย่างไรก็ตาม จากสถานภาพโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าซึ่งให้บริการควบคู่ทั้งการเป็นสถานพยาบาลดูแลรักษาผู้ป่วยที่เปิดให้บริการมาถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 72 ปี และยังเป็นสถานศึกษาในหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต ภายใต้วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งจะดำเนินการครบรอบ 50 ปี ในปี 2568 โดยตลอดช่วงที่ผ่านมาได้ผลิตบัณฑิตทางการแพทย์ หรือ แพทย์ทหารออกมาแล้วไม่ต่ำว่า 2,500 คน
“ในแต่ละปีวิทยาลัยแพทย์พระมงกุฎเกล้า จะผลิตบัณฑิตออกมาราว 110 คนต่อปี โดยแพทย์ของวิทยาลัยฯ ทั้งหมดจะกระจายการปฏิบัติหน้าที่ไปยังหน่วยงานกระทรวงกลาโหมราว 2,000 คน และอีก500 คนจะปฏิบัติงานสาธารณสุขเพื่อดูแลผู้ป่วยทั่วประเทศ” พลตรี ธำรงโรจน์ กล่าว
พร้อมเสริมว่า จากวิสัยทัศน์ที่วางไว้ทั้งลดความแออัดควบคู่การเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแล้วนั้น โรงพยาบาลฯ ยังเล็งเห็นความสำคัญด้านการพัฒนาศักยภาพใหม่ๆ รวมถึงทักษะเฉพาะด้านให้กับทั้งบัณฑิตทางการแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลฯ ด้วยการพัฒนางานโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ไปพร้อมกัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการจัดตั้ง 2 หน่วยงานใหม่สำคัญ คือ
- ศูนย์การเรียนรู้และนวัตกรรม พร้อมศูนย์สถานการณ์จำลองทางการแพทย์ทหาร (Simulation Center for Military Medicine) ของวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า โดยศูนย์ฯ ดังกล่าวจะให้บริการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ทางด้านการแพทย์และเวชศาสตร์ทหาร ตลอดจนการ จัดการภัยพิบัติและภาวะฉุกเฉิน ทางสาธารณสุข สำหรับนักเรียนแพทย์ทหารและกำลังพล เหล่าทหารแพทย์ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากกระทรวงกลาโหม และฝ่ายพลเรือน รวมทั้งบริการ ให้เช่าพื้นที่สำหรับจัดประชุมและสัมมนา โดยเฉพาะการฝึก ปฏิบัติการทางด้านการแพทย์ หรืองานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องของหน่วยงานอื่น ๆ
“ในส่วนงานอาคารซึ่งมีมูลค่ากว่าพันล้านบาท ดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้วกว่า 99% แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมงานสาธารณูปโภคพื้นฐานภายใน และการพัฒนาภายในพื้นที่ด้านต่าง ๆ คาดจะสามารถเปิดให้บริการในเดือนมิถุนายน ปี2568” พลตรี ธำรงโรจน์ กล่าว
- ศูนย์มะเร็งโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เพื่อรองรับและให้บริกการผู้ป่วยมะเร็งครอบคลุมทุกสาขา แบบครบวงจรด้วยบริการทางการแพทย์แผนปัจจุบันและการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ อาทิ เสต็ม เซลล์ เทคโนโลยีเข้ามาใช้ร่วมกับการรักษาในผู้ป่วยมะเร็ง เป็นต้น โดยศูนย์ฯ แห่งนี้เปิดให้บริการในอาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
“เพื่อให้แผนงานทั้งหมดดำเนินได้แล้วเสร็จอย่างรวดเร็ว และทันกับการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยอย่างต่อเนื่องนั้น จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องใช้งบประมาณเข้ามาสนับสนุนเพิ่มเติมทั้ง 2 ศูนย์ฯ ดังกล่าว” พลตรี ธำรงโรจน์ กล่าว
ล่าสุดโรงพยาบาลฯ ร่วมกับภาคเอกชน บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด (มหาชน) จัดกิจกรรมดนตรีผ่านคอนเสิร์ต ‘ขนนก กับ ดอกไม้’ ครั้งที่ 4 ตอน DREAM FOR LOVE รอบการกุศล โดย มูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นความบันเทิงที่เข้าถึงกลุ่มคนได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติ ทุกภาษา เพื่อสร้างภาพจำของการมารับบริการที่โรงพยาบาล ให้กลายเป็นเรื่องที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายมากยิ่งขึ้น และใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ อย่าง เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ มาต่อยอดการสร้างการรับรู้ในวงกว้างได้อย่างสมบูรณ์
พลตรี ธำรงโรจน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ปัจจุบันโรงพยาบาลฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก 3 ช่องทางหลัก คือ เงินงบประมาณประจำปีของโรงพยาบาล, ค่าตอบแทนงานบริการรักษาประชาชนทั่วไป และ จากมูลนิธิฯ พระมงกุฎ ซึ่งหากจะให้รอรับงบประมาณจากกระทรวงกลาโหมสามารถทำได้ แต่อาจจะไม่ทันกับสถานการณ์ของเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ที่เข้ามาเพื่อฝึกอบรมแพทย์ได้ทันท่วงที"
สำหรับคอนเสิร์ตฯ ครั้งนี้จัดขึ้นวันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2567 ที่ อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี โดยรายได้จากกิจกรรม จะนำไปสมทบทุนศูนย์มะเร็งโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และ พัฒนาศูนย์การเรียนรู้และนวัตกรรมวิทยาลัยการแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า โดยผู้สนใจร่วมบริจาคสมทบมูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าในพระราชูปถัมภ์ ทางเว็บไซต์ https://www.phramongkutklaofoundation.org (ใบเสร็จสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ มูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า ชั้น 1 เลขที่ 315 ถนน ราชวิถี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กทม. 10400 โทร. 02-354-3699, 098-860-1411
E-Mail: foundation_pmk@hotmail.com หรือ Line: @pmkfoundation เวลาทำการ (ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ) จันทร์–ศุกร์ เวลา 08.00-19.00 น. วันเสาร์–อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.00-16.00 น.