ส.อ.ท.ชี้ค่าไฟใหม่ไม่สะท้อนราคาเชืื้อเพลิง ฝากทีมศรษฐกิจรัฐบาลหน้าเร่งแก้ไข แฉพลังงานเร่งรัดซื้อไฟสะอาดเพิ่มสวนทาง เอกชนฟ้องศาลปกครอง ชงคิดค่าไฟทุก 2 เดือนอัพเดทสถานการณ์เร็วขึ้น
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ผิดหวังกับการประกาศอัตราค่าไฟฟ้ารอบเดือนพ.ค.-ส.ค. เนื่องจากไม่ได้ช่วยลดภาระให้กับภาคครัวเรือน โดยค่าไฟใหม่ 4.77 บาทต่อหน่วย เพิ่มขึ้นจากงวดก่อน 5 สตางค์ ทั้งๆที่ค่าไฟรอบนี้ทิศทางพลังงานของโลกได้ลดลงตามความเป็นจริงจึงสมควรปรับสมมติฐานราคา ให้เป็นบวกกับ ผู้บริโภคมากขึ้น โดยงวดดังกล่าวที่ลดลงเป็นจากปัจจัยภายนอกทั้งค่าเงิน และราคาพลังงานโลกแต่ในเชิงโครงสร้างยังไม่ได้รับการแก้ไขและหาทางเลือกอื่น
นอกจากนี้ที่ผ่านมาไม่มีการตั้งกรรมการ 3 ฝ่ายคือกระทรวงพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ตามที่หารือเมื่อปลายเดือนมกราคม
ทั้งนี้ขอตั้งคำถามถึงภาครัฐในการบริหารจัดการไฟฟ้า ซึ่งถือเป็น สาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศ ที่กระทบครัวเรือนทุกคน ตลอดจนถือเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของภาคธุรกิจ ที่กำลังเร่งฟื้นฟู ในข่วงภาวะเศรษฐกิจของโลกชะลอตัว และ แข่งขันรุนแรงในระดับประเทศ คือ1. สมมุติฐานการคำนวณค่าไฟฟ้าที่สูงเกินไป ที่ไม่ตอบโจทย์ เนื่องจากค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(เอฟที) งวด ม.ค.-เม.ย เลือกใช้สมมุติฐานช่วงไฟ Peak ทั้งต้นทุนพลังงานโลก และ ค่าเงินบาท ทำให้ค่าไฟภาคธุรกิจมี ต้นทุนสูงขึ้น 13% จากค่าไฟฟ้า 4.72 บาทต่อหน่วย เป็น 5.33 บาทต่อหน่วย
ขณะที่ค่าไฟฟ้า งวด พ.ค – ส.ค.เป็นช่วงต้นทุนพลังงานของโลกต่ำลง ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น กลับเลือกใช้สมมุติฐาน ตัวเลขของเดือน ม.ค.66 ทำให้คนไทยต้องรับภาระค่าไฟฟ้าที่สูงเกินจริง ตลอด พ.ค. – ส.ค 66
2.การเร่งรัดให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชนเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นโครงการใดๆ ในช่วงปลายเทอมของรัฐบาล เช่น ไฟฟ้าสีเขียว ทั้ง 5,203 เมกะวัตต์ และ ส่วนเพิ่ม 3,668 เมกะวัตต์แบบเร่งรีบ ทั้งๆที่มีเอกชนหลายรายยื่นฟ้องขอการคุ้มครองจากศาลปกครอง ต่อกระบวนการคัดเลือกที่ไม่โปร่งใส รวมถึงการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น ทั้งๆที่ ประเทศไทยยังมีการผลิต ของโรงไฟฟ้า มากกว่าความต้องการกว่า 50%
3.ปัญหาเชิงโครงสร้าง และ นโยบาย กลับไม่มีใครพูดถึง ทางออก เช่นต้นทุนที่สูงของค่าไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็น ค่าพร้อมจ่าย , ต้นทุนแฝง อื่นๆ จากภาวะ Supply over Demand กว่า 50% ตลอดจนสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เหลือ 30% ขณะที่ สัดส่วนของเอกชน รวมการนำเข้า สูงถึง 70% ขณะที่การจัดสรรก๊าซธรรมชาติ ในอ่าวไทย และ อื่นๆ ซึ่งถือ เป็นทรัพยากรสำคัญ ของประเทศ ควรดำเนินการให้เหมาะสม เป็นธรรม ระหว่าง ภาคปิโตรเคมี และ ไฟฟ้า
“ ผลประโยชน์เรื่องค่าไฟฟ้า มองง่ายๆ ตามหลัก” Zero Sum Game “สรุปได้ว่า ประชาชนคนไทย ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าที่แพง ในขณะที่โรงไฟฟ้าเอกชนหลายราย ต่างก็มีผลประกอบการที่มีกำไร และ เติบโตกันถ้วนหน้าท่ามกลางที่กฟผ. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจหลักในการดูแลไฟฟ้าของประเทศ เหลือสัดส่วนเพียง 30% และ ยังแบกภาระหนี้ ร่วม 1 แสนล้านบาท จากการแบกภาระอุ้มกลุ่มเปราะบาง ซึ่งเป็นการแก้ปัญหา ปลายเหตุ ขออนุญาตฝากการบ้าน ถึงทีมบริหารเศรษฐกิจที่เก่งๆ ของแต่ละพรรคการเมือง ให้ช่วยหาทางออก และคำตอบที่ดีให้กับพี่น้องประชาชน คนไทยด้วย”
นายอิศเรศ กล่าวว่า ได้เสนอแนวคิดในการประกาศค่าเอฟที ในช่วงพลังงาน และ เศรษฐกิจโลก ผันผวนว่าควรปรับเปลี่ยนจากการประกาศทุก 3 งวด/ปี หรือ งวดละ 4 เดือน เป็น 6 งวด/ปี หรือ ทุก 2 เดือน เพื่อให้ เกิด dynamic และ response ต้นทุนค่าไฟฟ้า ได้รวดเร็ว แม่นยำ มากขึ้น