ไทย-UAE เชื่อมสัมพันธ์การค้าสร้างมูลค่ากว่า 3.1 หมื่นล้าน

ไทย-UAE เชื่อมสัมพันธ์การค้าสร้างมูลค่ากว่า 3.1 หมื่นล้าน
ไทยเดินหน้าร่วมหุ้นส่วนเศรษฐกิจ UAE ตั้งสภาธุรกิจ 2 ประเทศ เปิดวงเจรจาการค้าจบใน 6 เดือน ขอแรงหนุนไทยเป็นเจ้าภาพ Specialised Expo 2028

น.ส.รัชดา  ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.รับทราบผลการเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (United Arab Emirates : UAE) ของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ระหว่างวันที่ 6 - 8 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งได้หารือกับรัฐมนตรีแห่งรัฐประจำกระทรวงเศรษฐกิจสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ด้านการค้าต่างประเทศในหลายประเด็นประกอบไปด้วย 

1.ไทยและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จะจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Comprehensive Economic Partnership Agreement: CEPA) ระหว่างกัน โดยไทยจะผลักดันให้การเจรจาแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน โดยปัจจุบันสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีความตกลงลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ได้ข้อสรุปแล้ว 3 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย อิสราเอล อินโดนีเซีย และอยู่ระหว่างเจรจากับหลายประเทศ อาทิ ตุรกี กัมพูชา และเกาหลีใต้
 

2.ส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัน  อาทิ การจัดตั้งกลไกสภาธุรกิจไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อสนับสนุนการค้า การลงทุน และการดำเนินธุรกิจ โดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สนใจที่จะลงทุนในไทยด้านอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐาน ดิจิทัล และความมั่นคงทางอาหาร
 
3.ไทยขอให้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สนับสนุนจังหวัดภูเก็ตเป็นเจ้าภาพจัดงาน Specialised Expo 2028 หรืองานเอ็กซ์โปวาระพิเศษ ซึ่งเป็นงานมหกรรมระดับโลกภายใต้ลิขสิทธิ์ขององค์การนิทรรศการนานาชาติ เพื่อการส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านต่าง ๆ ของประเทศเจ้าภาพ ทั้งนี้ องค์การนิทรรศการนานาชาติจะมีการเลือกประเทศเจ้าภาพจัดงานในเดือนมิถุนายน 2566
 
นอกจากนี้ รมว.พาณิชย์ ยังได้เป็นสักขีพยานในการลงนามสัญญาซื้อขายสินค้าและบันทึกความเข้าใจระหว่างภาคเอกชนไทยและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ดังนี้ 1.การลงนามสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างบริษัทไทยและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จำนวน 5 คู่ ใน 4 กลุ่มสินค้าได้แก่ อาหาร สุขภัณฑ์และกระเบื้องเซรามิค ชิ้นส่วนยานยนต์ และผลิตภัณฑ์เมลามีน มูลค่ารวม 1,330 ล้านบาท

2.การลงนามจัดตั้งกลไกสภาธุรกิจไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งคาดว่าจะขับเคลื่อนให้เกิดมูลค่าการค้าระหว่างไทยและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 30,000 ล้านบาท และ 3.การลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่าง DP World บริษัทด้านโลจิสติกส์ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กับภาคเอกชนไทยเกี่ยวกับความร่วมมือด้านโลจิสติกส์ภายใต้โครงการ World Logistics Passport ซึ่งเอกชนจะได้รับสิทธิประโยชน์ เช่น ลดต้นทุนโลจิสติกส์ ประหยัดเวลาขนส่งสินค้าจากการลดขั้นตอนพิธีการศุลกากร และใช้ประโยชน์จากเครือข่ายการขนส่งระหว่างประเทศของ DP World ได้
 
อย่างไรก็ตามคาดว่าความร่วมมือกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในครั้งนี้ จะทำให้เกิดมูลค่าการค้าระหว่างไทยและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จำนวน 31,330 ล้านบาท โดยกระทรวงพาณิชย์กำลังดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (CEPA) ระหว่างไทยและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่ง ครม.มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 โดยให้ไทยเข้าร่วมเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Comprehensive Economic Partnership Agreement: CEPA) กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) คาดว่า จะศึกษาแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 นี้