ธนาคารกรุงไทย ร่วมกับ BJC สนับสนุนร้านค้าปลีก “ร้านโดนใจ” ด้วยสินเชื่อ “คู่ค้าพารวย” และ “สินเชื่อ SME ไซส์เล็ก”
นางฐาปณี เตชะเจริญวิกุล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีเจซี เปิดเผยว่า บีเจซี ได้เปิดตัวโมเดลธุรกิจ “ร้านโดนใจ” ในปี 2565 ที่ผ่านมา ด้วยการพัฒนาระบบ POS เข้ามายกระดับร้านโชห่วยไทยให้มีระบบบริหารจัดการที่ดี โดยได้รับได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเจ้าของร้านโชห่วยในพื้นที่ต่างๆ
ซึ่งในขณะนี้มีร้านโชห่วยเข้าร่วมโมเดลธุรกิจร้านโดนใจแล้วกว่า 1,200 ร้านค้า โดยในปี 2566 วางเป้าหมายเปิดร้านโดนใจที่ 8,000 ร้านค้า และเติบโตสู่ 30,000 ร้านค้า ภายในปี 2570
ทั้งนี้ แพลตฟอร์มร้านโดนใจมีจุดเด่นที่ผู้ประกอบการร้านค้าโชห่วยสามารถเลือกลงทุนและสินค้าที่จำหน่ายได้เอง โดยไม่ต้องแบ่งผลกำไร ใช้งบลงทุนที่ไม่สูง ซึ่งรูปแบบของร้านแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ
1.บีเจซีจะใช้เครือข่ายของบิ๊กซีเป็นคนจำหน่ายสินค้าให้กับร้านค้าในชุมชน
2.นำเอาระบบ POS ที่พัฒนาขึ้นเข้าไปเสริมแกร่งธุรกิจให้กับร้านโชห่วย
นายธวัชชัย ชีวานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารจัดการทางการเงินเพื่อธุรกิจ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคารร่วมมือกับ BJC ในโครงการการพัฒนาโมเดลค้าปลีกรูปแบบใหม่ ภายใต้แบรนด์ร้าน “โดนใจ” โดยนำเสนอ 2 ผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย สินเชื่อ คู่ค้าพารวย สนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน ด้วยวงเงินสินเชื่อที่เหมาะสม หากไม่ใช้วงเงิน ก็ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย และไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันเต็มวงเงิน สูงสุด 5 ล้านบาท ไม่มีค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน ใช้งานสะดวกผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งแอปพลิเคชัน Krungthai Business และ Krungthai NEXT
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการร้านธงฟ้าประชารัฐ ร้านค้าถุงเงิน หรือเป๋าตุง รวมถึงร้านค้าที่ใช้ระบบ POS (Point of Sale System) ในการรับชำระเงิน สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อขยายร้าน เติมสต็อค เปิดร้านสาขาใหม่ หรือเพิ่มเงินหมุนเวียนเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ ผ่านสินเชื่อ SME ไซส์เล็ก ที่จะช่วยให้ร้านค้ารายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยไม่ต้องใช้หลักประกัน โดย บสย.ค้ำประกันเต็มวงเงินสูงสุด 3 ล้านบาท และสำหรับลูกค้าที่มีหลักประกันรับวงเงินสูงสุด 20 ล้านบาท ไม่กำหนดรายได้ขั้นต่ำ