หนี้สินครัวเรือนไทย 16.4 ล้านล้าน 91.3% ของจีดีพี

หนี้สินครัวเรือนไทย 16.4 ล้านล้าน 91.3% ของจีดีพี
สศช. รายงาน หนี้สินครัวเรือนไทยไตรมาส 4 ปี 2566 อยู่ที่ 16.4 ล้านล้าน 91.3% ของจีดีพี คุณภาพหนี้แย่ลงเกือบทุกประเภท

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานภาวะเศรษฐกิจสังคมไทยไตรมาส 1 ปี 2567 ในส่วนของ หนี้สินครัวเรือน ณ ไตรมาสสี่ ปี 2566 ขยายตัวชะลอลง ขณะที่คุณภาพสินเชื่อด้อยลงในทุกประเภท โดยมีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ คือ การติดตามแนวโน้มหนี้เสียของสินเชื่อที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะสินเชื่อวงเงินน้อยกว่า 3 ล้านบาท และการประชาสัมพันธ์ให้ลูกหนี้เรื้อรังเข้าร่วมมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สิน

ไตรมาสสี่ ปี 2566 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 16.4 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.0% ชะลอลงจาก 3.4% ของไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 91.3% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมา โดยหนี้ครัวเรือนขยายตัวชะลอลงเกือบทุกประเภทสินเชื่อ ยกเว้นสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ขณะที่สินเชื่อยานยนต์หดตัว

ด้านความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนด้อยลงทุกประเภท โดยหนี้เสียของธนาคารพาณิชย์ มีมูลค่า 1.58 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.88% ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจาก 2.79% ในไตรมาสก่อน

ทั้งนี้ มีประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ ได้แก่

1) แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของหนี้เสียในสินเชื่อที่อยู่อาศัยวงเงินน้อยกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นหนี้ของครัวเรือนรายได้ระดับปานกลางหรือล่าง โดยอาจต้องเฝ้าระวังและเร่งปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้กลุ่มนี้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดหนี้เสีย

และ 2) การเร่งรัดสถาบันการเงินประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มลูกหนี้เรื้อรังเข้าร่วมมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ซึ่งเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 โดยอาจต้องเร่งสื่อสาร พร้อมมีแนวทางการปิดจบหนี้ที่เหมาะสมกับลูกหนี้รายกรณี เพื่อให้การดำเนินมาตรการประสบความสำเร็จ และเกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วน