Grab ขยายตลาด เจาะนักเดินทางทั่วโลกมาไทย ร่วมหนุนเป้ารายได้เที่ยวไทย 3.5ล้านล้านบาทในปี67

Grab ขยายตลาด เจาะนักเดินทางทั่วโลกมาไทย ร่วมหนุนเป้ารายได้เที่ยวไทย 3.5ล้านล้านบาทในปี67
‘แกร็บ’ หนุนไทยสู่ Tourism Hub ผ่านกลยุทธ์ T.R.A.V.E.L พร้อมเปลี่ยนผ่านฐานผู้ใช้งานใน 8 ประเทศ สู่การเป็นซูเปอร์แอปฯคู่ใจนักเดินทางตั้งแต่ต้นจนจบทริปในไทย หนุนเป้าจีดีพีท่องเที่ยว 3.5ล้านล้านบาท

วรฉัตร ลักขณาวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย ผู้ให้บริการเทคโนโลยีซูเปอร์แอปพลิเคชันแกร็บ (Grab) เปิดเผยว่า แกร็บ ประเทศไทย เตรียมแผนความร่วมมือการทำงานเพื่อสนับสนุนและยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาค (Tourism Hub) หนึ่งในเป้าหมายหลักของรัฐบาลไทยตามวิสัยทัศน์ อิกไนท์ ไทยแลนด์ (IGNITE THAILAND)  ที่จะมีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืนในอนาคต

ทั้งนี้ Grab ได้เข้ามาให้บริการในไทยนานร่วม 11 ปี ปัจจุบันมีเครือข่ายบัญชีผู้ใช้งานที่มีศักยภาพ กระจายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใน 8 ประเทศ 500 เมือง คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เมียนมา กัมพูชา และ ไทย

“จากฐานผู้ใช้งานแกร็บใน 8 ประเทศ รวมทั้งนักเดินทางที่มาประเทศไทย จะเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ ที่สามารถใช้บริการด้านต่างๆ เพื่อการท่องเที่ยวได้ตั้งแต่การวางแผนเดินทาง ระหว่างการเดินทาง หรือท่องเที่ยว ไปจนสิ้นสุดการเดินทางได้ตั้งแต่ต้นจนจบทริป ได้บนแอปพลิเคชันแกร็บ” วรฉัตร กล่าว

นอกจากนี้ แกร็บ ยังได้วางแนวทางการทำงานร่วมกับภาครัฐเพื่อผลักดัน ‘ไทย คอนเท้นต์’ ที่อยู่ในรูปแบบซอฟต์ เพาเวอร์ ต่างๆ ทั้งด้าน อาหาร ศิลปวัฒนธรรม เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ฯลฯ เพื่อสื่อสารร่วมกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีการใช้งานจริงผ่านแพลตฟอร์มแกร็บ มาตลอดในช่วงที่ผ่านมา จนได้ข้อมูลที่น่าสนใจในกลุ่มนักเดินทางรุ่นใหม่ในปัจจุบัน อาทิ

  • 87% เป็นนักเดินทาง F.I.T  (Free Independent Travelers) นักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยตนเอง ที่กลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่เดินทางมาประเทศไทยในปัจจุบัน
  • 53% นักท่องเที่ยว/นักเดินทางรุ่นใหม่ จะวางแผนทริปล่วงหน้า (Pre Trip) และ ระหว่างทริป (During Trip) โดยจะศึกษาข้อมูล พร้อมวางแผนการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ด้วยตัวเอง มากขึ้น
  • 65% นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ สนใจวัฒนธรรมท้องถิ่น

วรฉัตรกล่าวว่า “จากการเก็บข้อมูลการใช้งานบนฟีเจอร์แกร็บในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมาพบว่ามีการใช้บริการสั่งอาหารท้องถิ่นสูงขึ้น 150% และมีการสั่งซื้อสินค้าของฝากของที่ระลึก เช่น กางเกงช้าง หรือ อื่นๆทีสะท้อนความเป็นไทย ในช่องทาง แกร็บ มาร์ท เติบโตขึ้น 100%” โดยปัจจุบัน กลุ่มนักเดินทาง/ท่องเที่ยว จะใช้บริการ 3 อันดับแรกสูงสุด คือ 1. บริการเรียกรถ 2.บริการส่งอาหาร และ 3.บริการสั่งซื้อสินค้า Grab Mart “จากความคุ้นเคยเหล่านี้แกร็บต้องการผลักดันสู่การเป็นแอปฯ ที่ใช้บริการได้หลากหลายเพื่ออยู่คู่กับนักท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งวัน” วรฉัตร กล่าว

นอกจากนี้ แกร็บ ยังเตรียมใช้กลยุทธ์ T.R.A.V.E.L เพื่อสานต่อแนวทางของรัฐบาลภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในการยกระดับการท่องเที่ยวให้พร้อมตอบสนองพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวยุคใหม่  ซึมี 6 ด้าน ได้แก่

1. Technological Integration การนำเทคโนโลยีดิจิทัลอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว

  • ตั้งแต่ หน้าจอต้อนรับนักท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวสามารถสำรวจ และวางแผนการเดินทางบนแอปพลิเคชัน Grab ตั้งแต่ก่อนมาถึงประเทศไทย โดยพัฒนาแอปฯ รองรับทั้งใน ภาษาอังกฤษ จีน ญี่ปุ่นและเกาหลี พร้อมเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชัน เพื่อให้สามารถใช้บริการเรียกรถของ Grab ผ่านแพลตฟอร์มอย่าง WeChat Boking.com และ Trip.cm
  • รวมถึงการขยายช่องทางการชำระเงินดิจิทัลผ่าน Alipay และ Kaka Pay

2. Reliability & Safety สร้างความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว พร้อมยกระดับความปลอดภัยผ่านการพัฒนา 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ เทคโนโลยีด้านความปลอดภัย อาทิ  

  • ฟีเจอร์ Safety Centre สำหรับแจ้งขอความช่วยเหลือ
  • ฟีเจอร์ Audi Protect เพื่อบันทึกเสียงระหว่างการเดินทาง
  • มาตรการด้านความปลอดภัย ด้วยการคัดกรองและอบรมพาร์ทเนอร์คนขับ การกำหนดมาตรฐานการให้บริการที่มุ่งเน้นด้านความปลอดภัย
  • การทำประกันเพื่อคุ้มครองทั้งผู้โดยสารและพาร์ทเนอร์คนขับ
  • แคมเปญรณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัย

3. Accessibility การส่งเสริมการเดินทางเพื่อเข้าถึงเมืองหลัก และเมืองรอง พบว่าปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างชาติหันมาสนใจเดินทางไปยังเมืองรองมากขึ้น สะท้อนจากรายได้จากการท่องเที่ยวเมืองรองในปีที่ผ่านที่เติบโตขึ้นถึง 38% 

  • แกร็บ มุ่งสร้างประสบการณ์การเดินทางแบบไร้รอยต่อด้วยบริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันที่มีให้บริการแล้วใน 71 จังหวัด ครอบคลุมทั้งเมืองหลักและเมืองรอง
  • ร่วมกับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เปิดจุดรับ-ส่งผู้โดยสารเพื่อให้บริการในสนามบินหลัก ทั้งภูเก็ต เชียงใหม่ ดอนเมือง และสุวรรณภูมิ

4. Valuable Experiences การสร้างประสบการณ์การเดินทางที่น่าจดจำ ด้วยความเป็นเลิศในด้านการบริการที่สอดแทรกเสน่ห์ของความเป็นไทยเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดและพิชิตใจนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เดินทางกลับมายังประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ด้วยโปรแกรมพัฒนาศักยภาพและความรู้ร่วมกับพันธมิตรคนขับของแกร็บ

5. Environmentally Friendly การส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบรักษ์โลก ซึ่งจากการสำรวจพบว่ากว่า 90% ของนักท่องเที่ยวให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน 

  • โดยริเริ่มโครงการ Grab EV ส่งเสริมให้พาร์ทเนอร์คนขับเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในการให้บริการเรียกรถ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้โดยสาร

“แกร็บ เริ่มนำรถอีวีมาใช้ตั้งแต่ปี 2565 พร้อมวางเป้าหมายเปลี่ยนผ่านการใช้รถอีวี คิดเป็นสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 10% ของจำนวนรถทั่วไปที่ให้บริการทั้งหมดในปัจจุบัน” วรฉัตร กล่าว  

  • การพัฒนาฟีเจอร์ชดเชยการปล่อยคาร์บอน (Carbn Offset) ที่ผู้ใช้บริการสามารถร่วมบริจาคเงิน 2 บาทต่อการเดินทาง หรือ 1 บาทจากการสั่งอาหาร เพื่อนำไปปลูกต้นไม้เพื่อชดเชยคาร์บอน ซึ่งจากการบริจาคเงินของผู้ใช้บริการในปี 2566 แกร็บสามารถนำไปปลูกต้นไม้ได้เป็นจำนวนกว่า 150,000 ต้น

6. Local Touch การผลักดันให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสประสบการณ์ท้องถิ่น ด้วยการดึงเอกลักษณ์ความเป็นไทยมาพัฒนาเป็นซอฟต์พาวเวอร์ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวถือเป็นกลยุทธ์ระดับชาติในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของประเทศไทย

โดย แกร็บจะเป็นแพลตฟอร์มเชื่อมโยงผู้บริโภคกับผู้ประกอบการรายย่อย และพาร์ทเนอร์คนขับ จึงได้มุ่งสนับสนุนการเข้าถึงประสบการณ์ท้องถิ่น และวัฒนธรรมไทยในมิติต่างๆ อาทิ การส่งเสริมการเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจผ่านการทำหนังสือไกด์บุค Grab & Go ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การโปรโมทอาหารไทยเมนูเด็ดจากร้านอาหารรายย่อยผ่าน GrabFood และการจำหน่ายสินค้าท้องถิ่นฝีมือคนไทยผ่าน GrabMart เพื่อให้ชาวต่างชาติสามารถเลือกซื้อได้สะดวกยิ่งขึ้น เป็นต้น

วรฉัตร กล่าวว่า แนวทางดังกล่าวของแกร็บ เพื่อมีส่วนร่วมในการสนับสนุนและผลักดันไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจท่องเที่ยวไทย ได้ตามนโยบายรัฐที่วางไว้ ทั้งการยกระดับไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวระดับภูมิภาค และเป้าหมายสู่การเป็น ศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ในอนาคตอันใกล้ นอกเหนือจากเป้าหมายการรายได้ที่มาจากการท่องเที่ยวในปี2567 วางไว้ที่ 3.5 ล้านล้านบาท ปรับจากเป้าหมายเดิมที่วางไว้ 3 ล้านล้านบาท

TAGS: #Grab #แกร็บ #การท่องเที่ยว #นักเดินทาง