พลังงานเร่งเคาะแผน PDP ใหม่ เกณฑ์ชี้วัดไฟดับไม่เกิน 17 ชม./ปี

พลังงานเร่งเคาะแผน PDP ใหม่ เกณฑ์ชี้วัดไฟดับไม่เกิน 17 ชม./ปี
รัฐ-เอกชน ตั้งวงเสวนาถกโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ เน้นเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน เร่งแผน PDP 2024 ยึดหลักความมั่นคง เพิ่มนิวเคลียร์ขนาดเล็กช่วงปลายแผน

นายวีรพัฒน์  เกียรติเฟื่องฟู  ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง“นโยบายด้านกิจการไฟฟ้าของประเทศ” ในงานเสวนา “ค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรม ต้องทำอย่างไร” จัดโดย วิทยาการพลังงานสำหรับนักบริหารรุ่นใหม่ (วพม.) รุ่น 2 ว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า(PDP) ฉบับใหม่ซึ่งใกล้ได้ข้อสรุปแล้ว โดยยังมีบางประเด็นที่ คณะอนุกรรมการพยากรณ์ และจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ  ที่ต้องปรับแก้ไข ซึ่งจะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 7 พ.ค. นี้  หลังจากนั้นจะเปิดประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นคาดจะเกิดได้ในช่วงไตรมาส2ของปีนี้

ทั้งนี้การจัดทำแผน PDP 2024 จะมุ่งเน้น 3 ส่วนคือ 1.ความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศทั้งระบบผลิตไฟฟ้า ระบบส่งไฟฟ้า และความมั่นคงรายพื้นที่โดยคำนึงถึงเทคโนโลยีใหม่ๆที่จะเข้ามา ทำให้ระบบไฟฟ้ามีความยืดหยุ่นเพียงพอต่อการรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน 

2.ต้นทุนค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับที่เหมาะสม ประชาชนต้องไม่แบกรับภาระอย่างไม่เป็นธรรม และเตรียมพร้อมระบบไฟฟ้าให้เกิดการแข่งขัน และการบริหารจัดการ เพื่อนำการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ (Distributed Energy Resource : DER) มาใช้ให้เกิดประโยชน์  3.จำกัดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ โดยสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และเพิ่มประสิทธิภาพในระบบไฟฟ้า ทั้งด้านการผลิตและการใช้ และนำเทคโนโลยีระบบโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริดมาใช้อย่างเต็มที่

 

ขณะที่การชี้วัดความมั่นคงของแผน ใช้เกณฑ์โอกาสเกิดไฟฟ้าดับ (LOLE) ต้องไม่เกิน 0.7 วันต่อปี หรือไม่เกิน 17 ชั่วโมงจาก 8,760 ชั่วโมง ซึ่งต่างจากเดิมใช้เกณฑ์กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) ส่วนเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด หรือพลังงานหมุนเวียนใหม่ ปลายแผน หรือ พ.ศ.2580 ต้องมีสัดส่วนการผลิตไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ตามแนวนโยบายของแผนพลังงานชาติ

นอกจากนี้ยังกำหนดเป้าหมายของมาตรการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า ( Demand response ) 1,000 เมกะวัตต์ และมาตรการลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (peak) โดยใช้ DER รองรับเทคโนโลยีใหม่ที่จะพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทยมาสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านพลังงานจากการมีผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองมากขึ้นในอนาคต

 

ด้านโรงไฟฟ้าใหม่และเทคโนโลยีใหม่ที่จะนำมาพิจารณาในแผน  เช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำสูบกลับ รับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากต่างประเทศ โซลาร์ลอยน้ำ และโซลาร์บวกด้วยระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System : BESS) รวมถึงมีพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) เป็นทางเลือกในช่วงปลายแ

ทั้งนี้จะนำเสนอแผน PDP ฉบับใหม่ ไปพร้อมกับอีก 4 แผนพลังงาน คือแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ,แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) ,แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และ แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan)  ซึ่งทั้งหมดจะนำมารวบรวมเพื่อยกร่างแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ฉบับใหม่ เพื่อเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) และคณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้

สำหรับโครงสร้างการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต โดยเฉพาะความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค) จากเดิมเกิดขึ้นในช่วงกลางวัน แต่ในช่วง 2 ปีหลังมานี้ ไฟพีคเปลี่ยนมาเกิดช่วงกลางคืน โดยในช่วงที่ผ่านมาทำลายสถิติมากกว่าระดับ 35,000 เมกะวัตต์ ในขณะที่กำลังผลิตไฟฟ้ารวมของประเทศอยู่ที่ 53,000 เมกะวัตต์ ปัจจัยดังกล่าวจะนำไปใช้ในการประกอบพิจารณาปรับแผนPDP 2024 ด้วย

“โครงสร้างค่าไฟฟ้าของไทยจะมีระยะดำเนินการ 5 ปี (2564-2568) ซึ่งในปีหน้า สนพ.จะต้องจัดทำโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ (ปี 2569-2573) ซึ่งจะต้องมาดูว่ามีปัจจัยใดเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ทั้งอัตราทั่วประเทศ(Uniform Tariff) ,สะท้อนรายได้ที่พึ่งได้รับแยกตามประเภทกิจการไฟฟ้า,คำนึงถึงต้นทุนในการรักษาเสถียรภาพ,กำกับดูแลแบบจูงใจ,กลไกติดตามการลงทุนและบทปรับ และกลไกการชดเชยรายได้ เป็นต้น”

ด้านนายวุฒิกร สติฐิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศในอนาคตจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ผลิตไฟฟ้าก็มีหลากหลายรูปแบบมากขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการออกแบบระบบขึ้นมาบริหารจัดการผลิตไฟฟ้าและการใช้ไฟฟ้าให้เห็นภาพที่ชัดเจน ซึ่งก็คาดหวังว่า แผน PDP ฉบับใหม่ จะมีความชัดเจนในเรื่องนี้

ทั้งนี้หากมองถึงอัตราค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรมต้องดำเนินการดังนี้1.อัตราค่าไฟฟ้าต้องสะท้อนต้นทุนแท้จริงและไม่ทำให้ระบบเกิดการบิดเบือน 2.ให้ความรู้ประชาชนเรื่องการประหยัดไฟฟ้า 3. นำเทคโนโลยีประหยัดไฟฟ้าเข้ามาใช้ และ4.เปิดเสรีไฟฟ้า เพื่อเปิดทางเลือกใหม่ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า ขณะเดียวกันก็ต้องปรับโครงสร้างพื้นฐานให้รอบรับการผลิตและการใช้ไฟฟ้าในรูปแบบใหม่  

นายนที  สิทธิประศาสน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เสนอแนวทางการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าควรเริ่มประกาศใช้ TPA-Third Part Access และกำหนดอัตรา Wheeling Charge ที่เหมาะสม และเตรียมการสำหรับ Direct PPA โดยไม่ชักช้า ,ภาครัฐควรตั้งงบประมาณอุดหนุนค่าใช้จ่ายตามนโยบายภาครัฐ เช่น ในส่วนไฟสาธารณะ เงินอุดหนุนการลงทุนโรงไฟฟ้า 3จังหวัดชายแดนใต้และสงขลา และอื่นๆ เป็นต้น ตลอดจนปรับการอุดหนุนค่าไฟฟรีให้กลุ่มคนจนแท้จริง

ขณะที่โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าต้องสะท้อนต้นทุนด้านเศรษฐกิจฐานราก สิ่งแวดล้อม และการลดก๊าซเรือนกระจกของพลังงานสะอาดแต่ละประเภท รวมถึงในอนาคตสามารถใช้กองทุน Climate Change ในพรบ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิภาค ในส่วนของการพัฒนาพลังงานสะอาดได้

นอกจากนี้ ควรเปลี่ยนโครงสร้างกิจการไฟฟ้าจาก ESB – Enhanced Single Buyer ไปสู้การเปิดเสรีซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ตอบโจทย์ความต้องการใช้ไฟฟ้า RE100 ของ FDI,การส่งออก และบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality แบบเป็นขั้นตอนภายในกอรบเป้าหมายเวลาที่เหมาะสม โดยเริ่มจากพื้นที่ที่มีความต้องการไฟฟ้าRE100 สูงมาก เช่น EEC และนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น

“ผมมองว่า มาตรการใช้ไฟฟ้าฟรีไม่เกิน 50 หน่วย ไม่เป็นธรรม เพราะถ้าเป็นบุคคลที่มีบ้านหลายหลัง แต่ไม่ค่อยอยู่บ้านก็ใช้ไฟน้อยไม่ถึง 50 หน่วยอยู่แล้ว และบุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนมีฐานะไม่ใช่คนจนแต่กลับได้รับสิทธิตรงนี้ ขณะเดียวกันคนจนหลายคนที่อยู่รวมกันในบ้านหลังเดียวก็เกินการใช้ไฟฟ้าเกิน 50 หน่วย กลับไม่ได้รับสิทธิตรงนี้”

 

TAGS: #ค่าไฟฟ้า #PDP #นิวเคลียร์ขนาดเล็ก