ส่องภารกิจกองทุนน้ำมันฯปีนี้อุ้มราคาพลังงานติดลบ 8 หมื่นล้าน

ส่องภารกิจกองทุนน้ำมันฯปีนี้อุ้มราคาพลังงานติดลบ 8 หมื่นล้าน
สกนช.เปิดภารกิจดูแลราคาพลังงาน ทั้งดีเซล เบนซิน และ LPG  ก่อหนี้สาธารณะ 1.1 แสนล้าน แลกบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพประชาชน

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(สกนช.)เปิดเผยว่า ในปี 2566 ที่กำลังจะสิ้นสุดนี้ สกนช. ได้ปฏิบัติภารกิจให้เป็นไปตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ในการรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง โดยในช่วงที่ผ่านมาสามารถใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ ดูแลบริหารจัดการราคาขายปลีกของกลุ่มน้ำมันดีเซล เบนซิน ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ได้คล่องตัวมากขึ้นหลังจากมีเงินกู้เข้ามาเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันฯ

ทั้งนี้สามารถสรุปประเด็นในการดำเนินการเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งในกลุ่มน้ำมันดีเซล ก๊าซ LPG และกลุ่มน้ำมันเบนซิน ดังนี้

 1.การรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลให้อยู่ในระดับ 30 บาท/ลิตร: การบริหารจัดการราคาขายปลีกของกลุ่มดีเซลในปี 2566 กบน. มีมติปรับลดราคาขายปลีกดีเซลไปแล้วรวม 7 ครั้ง จากราคา 35 บาท/ลิตรมายืนระยะที่ 32 บาท/ลิตรในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และปัจจุบันราคาลดลงมาอยู่ที่ 30 บาท/ลิตร จากผลของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 ที่ให้ตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตร ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน  และเมื่อวันที่31 ธันวาคม 2566 โดยใช้กลไกลดภาษีสรรพสามิตลง 2.50 บาท/ลิตร และกลไกกองทุนน้ำมันฯ ในการรักษาราคาขายปลีก

2.การรักษาระดับราคาขายปลีกก๊าซ LPG ไม่ให้เกิน 423 บาท/ถังขนาด 15 กิโลกรัม (กก.): ด้านราคาก๊าซ LPG ตั้งแต่ต้นปี 2566 ที่ผ่านมา ได้ทยอยปรับราคาจาก 408 บาท/ถัง 15 กก. เป็น 423 บาท/ถัง 15 กก. โดยมีผลวันที่ 1 มีนาคม 2566 เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งรัฐบาลได้ตรึงราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ 423 บาท/ถัง 15 กก.

ล่าสุด มติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566 ก็ยังคงให้ตรึงราคาขายปลีกก๊าซ LPG อยู่ที่ 423 บาท/ถังขนาด 15 กก. ตั้งแต่ 1 มกราคม - 31 มีนาคม 2567 ทั้งนี้เนื่องจากราคา LPG ยังมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก โดยจะกระทบต่อราคาสินค้าและบริการในประเทศส่งผลต่อเนื่องถึงค่าครองชีพของประชาชน ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนและส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้ตรึงราคา LPG ดังกล่าวต่อ

 3.การลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ในกลุ่มน้ำมันเบนซินเพื่อให้ราคาขายปลีกลดลง โดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 31 ตุลาคม 2566 เห็นชอบแนวทางการลดค่าครองชีพประชาชนตามที่กระทรวงพลังงานเสนอลดราคาแก๊สโซฮอล 91 ลง 2.50 บาท/ลิตร เป็นเวลา 3 เดือน โดยใช้กลไกลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซิน 1 บาท/ลิตร พร้อมใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ อุดหนุนเพื่อทำให้ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล 91 ลดลงรวม 2.50 บาท/ลิตร โดยที่ประชุม กบน. ได้ดำเนินการปรับลดราคาขายปลีกกลุ่มน้ำมันเบนซิน ให้มีผลตั้งแต่ 7 พฤศจิกายน 2566 – 31 มกราคม 2567 โดยราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล 91 ลดลง 2.50 บาท/ลิตร  ราคาน้ำมันเบนซิน 95 และน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 ลดลง 1 บาท/ลิตร ส่วน E20 และ85 ลดลง 80 สตางค์/ลิตร

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(กบน.) กล่าวว่า ปัจจุบันฐานะสุทธิกองทุนน้ำมันฯ ณ  10 ธ.ค. 66 ติดลบ 78,760 ล้านบาทแบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 32,708 ล้านบาท บัญชี LPG ติดลบ 46,052 ล้านบาท  ซึ่งแนวโน้มราคาน้ำมันที่อ่อนตัวจากที่เคยประเมินไว้ทำให้ฐานะกองทุนน้ำมันฯสิ้นปี 2566 คาดว่าจะอยู่ในระดับติดลบ 80,000 ล้านบาท ต่ำกว่าที่เคยประเมินว่าจะติดลบ 100,000 ล้านบาท

ทั้งนี้แม้ว่ากองทุนน้ำมันฯจะมีสภาพคล่องที่ดีขึ้น แต่ประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันยังติดลบอยู่เป็นจำนวนมากทำให้ยังคงต้องติดตามราคาน้ำมันตลาดโลกใกล้ชิดที่ยังคงมีความผันผวนสูง โดยสกนช.ได้รับอนุมัติจากครม.กู้ยืมเป็นวงเงิน 150,000 ล้านบาท ที่ผ่านมาได้ทยอยกู้เงินเพื่อนำมาใช้ดูแลราคาพลังงาน ขณะนี้ได้ยบรรจุเป็นหนี้สาธารณะของประเทศไปแล้ว 110,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามสกนช.กู้เงินและใช้ไปแล้วรวม 65,000 ล้านบาท และยังเหลือวงเงินราว 40,000 ล้านบาท ซึ่งมาตรการตรึงราคาดีเซลจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค. ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลจะขยายระยะเวลาการดูแลราคาออกไปอย่างไร ซึ่งคาดการณ์ว่าการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 19 ธ.ค.นี้ จะมีการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว ถ้ารัฐจะต่อมาตรการตรึงดีเซลโดยไม่ใช้กลไกภาษีสรรพสามิตมาช่วย กองทุนน้ำมันฯจะดูแลได้แค่ 1 เดือนเท่านั้นแต่ถ้ายังลดภาษีสรรพสามิตต่อก็สามารถตรึงราคาได้ 3 เดือน

 

 

 

TAGS: #กองทุนน้ำมันฯ #ตรึงดีเซล #ภาษีสรรพสามิต