ทรู คอร์ปอเรชั่น เพิ่มขีดความสามารถองค์กร ผ่านกลยุทธ์ AI ตามมาตรฐานจริยธรรม รับการเปลี่ยนผ่านสู่อนาคตเศรษฐกิจดิจิทัล
ชารัด เมห์โรทรา รองประธานคณะผู้บริหาร และผู้บริหารที่ดูแลงาน Digitalization และ Transformation บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจโทรคมนาคม-เทคโนโลยีรายใหญ่ กล่าวในงาน ‘AI Gets Good’ ว่า ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว และมีส่วนสำคัญต่อยอดในการทำงาน โดยวันนี้ต้องแน่ใจว่า AI ได้พัฒนาดีขึ้นควบคู่กับแนวทางจริยธรรมและความปลอดภัย
จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้ ทรูฯ มุ่งให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีในประเทศไทยด้วย AI ไปพร้อมกับการนำมาใช้งานด้วยจริยธรรมที่คำนึงถึงเทคโนโลยี ผู้คน มาผสานไว้ด้วยกัน
AI-เพิ่มขีดความสามารถคน
ชารัด กล่าวว่า ทรูฯ ยังได้นำการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine learning) ช่วยในการบริการลูกค้า ทำให้ลดข้อผิดพลาดในกระบวนการทำงาน และปกป้องข้อมูลของส่วนบุคคลของลูกค้า โดย AI ได้มีส่วนในการทำให้ศูนย์บริการลูกค้าทรูและดีแทคดำเนินงานแบบไร้กระดาษ (Paperless) 100% ในปี พ.ศ. 2566 และตั้งเป้าปี พ.ศ. 2570 จะใช้ระบบอัตโนมัติ 100% ในงานพื้นฐานประจำวัน
ขณะนี้ ศูนย์บริการทรูและดีแทค พร้อมกับตัวแทนร้านค้าได้นำโซลูชัน AI มาใช้งาน ทำให้สามารถวินิจฉัยปัญหาและเสนอแนะได้ทันที ลดเวลาในการจัดการลง 35% รวมถึงการนำ AI มาใช้กับแชทบอท บริการลูกค้าประมาณ 150,000 รายการต่อเดือน
นอกจากนี้ ทรูฯ ยังได้กำหนดเป้าหมายจัดการฝึกอบรม “Citizen Developer” นักพัฒนาที่เป็นพนักงานจำนวน 200 รายในปี พ.ศ. 2570 นี้ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปและไม่จำเป็นต้องมีทักษะในการพัฒนาโปรแกรมสามารถสร้างระบบดิจิทัลได้
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาและนำระบบ AI มาใช้โดยไม่ระมัดระวังอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงได้ ดังนั้น องค์กรต่างๆ ควรคำนึงถึงหลักการที่จะนำมาใช้งาน อาทิ ความเป็นธรรม และความโปร่งใส ในการลงทุนพัฒนา AI เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคม
โดย ทรู คอร์ปอเรชั่นนำเสนอหลักจริยธรรมในการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจนอกเหนือจากการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคล และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตัวอย่างเช่น กฎบัตร AI ของทรู คอร์ปอเรชั่นเน้นความสำคัญของจริยธรรมในการจัดการกับความเสี่ยง ที่อาจเกิดอคติในระบบปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งสามารถลดลงและมั่นใจในกระบวนการตัดสินใจที่มีการใช้อัลกอริธึม
นอกจากนี้ กระบวนการแก้ไขปัญหามีลำดับขั้นตอนสามารถนำมาอธิบายได้อย่างชัดเจนต่อคนหรือผู้ใช้ เพื่อความเข้าใจได้อย่างถูกต้อง
“ทรูฯ มุ่งสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมระดับสูงและนำเอาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ ทั้งนี้เป็นรากฐานที่ทรู คอร์ปอเรชั่นได้มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงและสร้างสรรค์ในการพัฒนาชีวิตและเศรษฐกิจให้ยั่งยืน” ชารัด กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน ดร.ชนนิกานต์ จิรา หัวหน้า ทรู ดิจิทัล อคาเดมี กล่าวว่า “การยกระดับทักษะด้าน AI ถือเป็นภารกิจเร่งด่วนเพื่อประเทศไทย สำหรับทรู ดิจิทัล อคาเดมี เราเชื่อในพลังของ AI และมนุษย์ผสานรวมกัน และทุกบทบาทนำ AI มาเสริมศักยภาพ นั่นเป็นเหตุผลที่เรามอง AI จากทั้งมุมมองทางเทคนิคและมุมมองทางธุรกิจ
“เราสอนทักษะเฉพาะด้าน เช่น วิทยาการข้อมูล และการวิเคราะห์ พร้อมกับหลักสูตรทักษะด้าน AI เกี่ยวกับการทรานฟอร์มของดิจิทัล การเป็นผู้ประกอบการ และทักษะผู้นำ” ดร.ชนนิกานต์ กล่าว
ขณะเดียวกัน ทรูฯ ยังนำ Machine learning มาคาดการณ์การดำเนินการของอุปกรณ์ที่ใช้งานต่างๆ แบบเรียลไทม์ ดังนั้น ในช่วงที่มีอัตราการใช้งานน้อย สามารถปิดอุปกรณ์ที่ไม่ได้ใช้งานโดยไม่กระทบต่อประสบการณ์ของลูกค้า ทำให้ลดการใช้พลังงานลง 10-15% ยังผลักดันให้ ทรูฯ มุ่งสู่เป้าหมายการบริหารการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของบริษัท ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 42% ภายในปี พ.ศ. 2573
นอกเหนือจากการติดตั้ง AI ไว้ในระบบการให้บริการและการดำเนินงานของบริษัทแล้ว ทรูฯ ยังนำเทคโนโลยี AI มาใช้กับลูกค้ากลุ่มธุรกิจอีกด้วย โดยกลุ่มทรู ดิจิทัล ได้พัฒนาโซลูชั่นด้านการค้าปลีก เกษตรกรรม และสุขภาพ โดยผสานข้อมูลจากอุปกรณ์ IoT การใช้งาน 5G และ Machine learning เข้าด้วยกันเพื่อการใช้งานรูปแบบต่างๆ เพื่อยกระดับสู่โรงพยาบาลอัจฉริยะไปจนถึงฟาร์มอัจฉริยะและการค้าปลีกอัจฉริยะ รวมถึงการเรียนรู้ของเครื่อง ยังมาช่วยเพิ่มความปลอดภัย การขนส่งสินค้ารวดเร็ว และลดการใช้พลังงาน
หลักการจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของทรูฯ
ขณะที่ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) สามารถเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังสำหรับธุรกิจที่มีความรับผิดชอบ อย่างไรก็ตามเนื่องจาก AI สามารถประมวลผลข้อมูลมากมายและตัดสินใจที่อาจมีผลกระทบต่อสังคม อาจทำให้เกิดความเสี่ยงใหม่ เรื่องนี้ทำให้ทรู คอร์ปอเรชั่น เล็งเห็นถึงความสำคัญของกฎบัตร AI และได้กำหนดหลักการ 4 ประการในการใช้งานอย่างมีจริยธรรม ได้แก่
- จรรยาบรรณที่ดี (Good Intent): ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ควรใช้เพื่อสร้างประโยชน์ต่อมนุษย์เท่านั้น
- ความเป็นธรรมและลดอคติ (Fairness and Bias Mitigation): ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อการใช้งาน
- คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและการทำงานของปัญญาประดิษฐ์ (Data Privacy and AI Functionality):
- ควรคุ้มครองสิทธิข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมาย
- ความโปร่งใส (Transparency): การตัดสินใจของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ต้องสามารถอธิบายได้
ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กล่าวว่า การนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้งานต้องควบคู่กับการมีความรับผิดชอบ องค์กรต่างๆ จำเป็นต้องมีกรอบการใช้งานที่เหมาะสมและโปร่งใส เพื่อให้การประยุกต์ใช้ AI ในทุกภาคส่วนมีความเสี่ยงและผลกระทบเชิงลบต่อผู้ใช้น้อยที่สุด ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มสัดส่วนมูลค่าทางเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ
“เราจึงต้องมั่นใจว่าระบบนิเวศสำหรับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศมีความน่าเชื่อถือ ความปลอดภัย และสร้างความมั่นใจในการใช้งาน” ดร.ชัยชนะ กล่าว
ผศ. ดร.จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้แปลหนังสือ “The Ethical Algorithm หรือ AI ที่มีหัวใจ” ที่ตีพิมพ์เมื่อเร็วๆ นี้ กล่าวว่า ปัจจุบันปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีส่วนสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพและส่งเสริมการพัฒนาสังคมในประเทศไทย