สภาพัฒน์ฯคาดปีหน้าเศรษฐกิจไทยโตได้ 3.2% ไม่รวมนโยบายแจกเงินดิจิทัล

สภาพัฒน์ฯคาดปีหน้าเศรษฐกิจไทยโตได้ 3.2% ไม่รวมนโยบายแจกเงินดิจิทัล
สภาพัฒน์ฯ ชี้ไทยต้องเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจรองรับการเติบโตในอนาคต มองปีหน้าจีดีพีโต 2.7-3.7% จากส่งออก ท่องเที่ยวและการบริโภคฟื้นตัว

นายดนุชา พิชยนัท์  เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยถึง ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) โดยเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ปี 2566 ขยายตัวได้ 1.5% ชะลอตัวลงจากไตรมาส 2  ที่ขยายตัวได้ 1.8% เนื่องจากการส่งออกของไทยหดตัวติดลบต่อเนื่อง 3 ไตรมาสในปีนี้  โดยภาพรวม 9 เดือน จีดีพีขยายตัวเพียง 1.9% โดยได้ปรับตัวเลขคาดการณ์จีดีพีปีนี้จะอยู่ที่ 2.5 % จากเดิมอยู่ที่ 2.5-3%    ซึ่งในช่วงปลายปีนี้ยังหวังจะมีโมเมนตัมด้านการส่งออกกลับและส่งผลดีต่อภาคการผลิตอุตสาหกรรมให้ปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย และทำให้เศรษฐกิจไตรมาส 4 ฟื้นตัวได้

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2567 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ต่อเนื่องจากปี 2566 โดยคาดจีดีพี ขยายตัว 3.2% หรือเฉลี่ย 2.7-3.7% จากแรงส่งด้านการส่งออกที่กลับมา แต่มีความเสี่ยงต้องติดตามหลายเรื่องทั้งการล่าช้าของงบประมาณปี’67 ที่คาดว่าจะออกมาในเดือนเม.ย. 2567 ทำให้หน่วยงานต่างๆ ต้องเตรียมพร้อมรองรับการเบิกจ่าย และการหารายได้ การสร้างรายได้ของรัฐบาล ทั้งนี้การประมาณการจีดีพีปี’67 ยังไม่รวมนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท

“จีดีพีปีหน้า ยังไม่ได้มีนำนโยบายการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล มาคำนวณเพราะต้องดูว่าสุดท้ายจะใช้วงเงินเท่าไร และต้องรอคำวินิจฉัยกฤษฏีกาก่อนในเรื่องของแหล่งเงิน และยังไม่ได้ประเมินว่าดิจิทัลวอลเล็ตจะช่วยเศรษฐกิจได้เท่าไร โดยนายกฯยังอยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอน”

อย่างไรก็ตามปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเติบโตเศรษฐกิจในปีหน้า คือ 1.การกลับมาขยายตัวของการส่งออก 2.การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนและ3.การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ยังต้องให้ความสำคัญกับหนี้ครัวเรือนและหนี้ธุรกิจ เพราะยังเป็นตัวฉุดรั้ง โดยปัจจุบันหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 90.7% ต่อจีดีพี และหนี้เอสเอ็มอี ธุรกิจขนาดกลางและรายเล็กยังต้องได้รับการแก้ไข จึงขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์เร่งปรับโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะหนี้ธุรกิจที่เกี่ยวกับก่อสร้างจากเงินลงทุนภาครัฐ เพราะได้รับผลกระทบจากความล่าช้าของงบประมาณ และภาคอสังหาฯ รายกลางรายเล็กเริ่มมีปัญหาที่ต้องเร่งเข้าแก้ไข ตอนนี้รัฐบาลเตรียมมาตรการแก้ปัญหาภาครัวเรือนและเอสเอ็มอี แก้ภาระหนี้ให้ดำเนินธุรกิจ และมีกำลังใช้จ่ายในชีวิตประจำวันต่อไปได้

ขณะเดียวกันยังมีปัญหาภัยแล้งที่เป็นปัจจัยเสี่ยง แม้มีฝนตกแต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และมีความขัดแย้งระหว่างประเทศ ในตะวันออกกลางมีแนวโน้มขยายวงกว้าง รวมทั้งเตรียมการช่องว่างทางการคลัง (Policy Space) ที่เพียงพอ และติดตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน ที่ยังมีปัญหาและข้อจำกัดอยู่

นายดนุชา  กล่าวว่า  ในปี 2566-2567  ต้องดำเนินนโยบายทางการคลัง สร้าง Policy Space ให้เพียงพอต่อการรองรับความเสี่ยง โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างประเทศ การดำเนินนโยบายการเงิน ควบคู่กับการดูแลขยายตัวเศรษฐกิจและเสถียรภาพการเงิน แก้ไขหนี้เร่งด่วนด้วย ซึ่งเศรษฐกิจไทย ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ไม่เช่นนั้นจีดีพีจะโตได้เพียง 3% กว่าๆ โดยเฉพาะภาคผลิตอุตสาหกรรม มีผลต่อเศรษฐกิจไทย

ส่วนกรณีที่รัฐบาลมีแผนผลักดันให้เศรษฐกิจไทยโตได้ถึง 5% นั้น  เชื่อว่าเป็นการตั้งเป้าหมายในการบริหารของรัฐบาล ต้องทำหลายส่วน ทั้งการส่งออก การลงทุน ต้องเร่งลงทุนเอกชน ต้องส่งเสริมเงื่อนไขการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมาย ภาคการท่องเที่ยวต้องปรับคุณภาพการใช้จ่ายนักท่องเที่ยวเข้ามาอยู่นานขึ้นและใช้จ่ายมากขึ้น

อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยถึงขั้นวิกฤตหรือไม่นั้น  ตั้งแต่หลังผ่านสถานการณ์โควิด-19 เศรษฐกิจไทยก็มีความผันผวนมาตลอดโดยเฉพาะจากปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเงินเฟ้อสูง ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวการที่คาด ตลอดจนปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ในขณะที่เศรษฐกิจภายในของไทยเองยังสามารถเติบโตได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการบริโภค หรือการท่องเที่ยว

 

 

TAGS: #สภาพัฒน์ฯ #จีดีพ #เงินดิจิทัล