มันแฟร์หรือเปล่า? ถ้าไปยึดบ้านเขาแล้วอ้าง'ครอบครอบโดยปรปักษ์'

มันแฟร์หรือเปล่า? ถ้าไปยึดบ้านเขาแล้วอ้าง'ครอบครอบโดยปรปักษ์'

หลักกฎหมายที่ถูกประชาชนต้ังคำถามมากที่สุดในตอนนี้คงไม่แคล้วหลักที่เรียกว่า 'ครอบครอบโดยปรปักษ์'

เพราะมีครอบครัวหนึ่งในยึดทาวน์เฮาส์ที่อยู่ข้างๆ กันมาเป็นเจ้าของเสียเอง โดยอ้างหลัก  'ครอบครอบโดยปรปักษ์' ซึ่งเปิดโอกาสให้ 'ปรปักษ์' (หมายถึงใครก็ตามที่ไม่ใช่เจ้าของบ้าน) สามารถแย่งชิงสิทธิในการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเจ้าของเดิมมาเป็นของตนได้

ถ้าเกิดว่า 'ปรปักษ์' คนนั้นเข้าไปใช้ประโยชน์ในอสังหาฯ แล้วแสดงตนอย่างเปิดเผยว่าครอบครองมัน ส่วนเจ้าของเดิมก็ไม่ได้แสดงสิทธิเป็นเจ้าของในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด (เช่นเป็นระยะเวลา 10 ปี) 

กรณีนี้ทำให้สังคมมีมติเป็นเอกฉันท์ว่ากฎหมายนี้ "ไม่แฟร์กับเจ้าของบ้าน" และทำให้มีการถกเถียงกันเรื่อง 'ศีลธรรม' กับ 'หลักกฎหมาย'

เพราะถึงจะครอบครองถูกหลักการ แต่มันบีบคั้นหัวใจของคนในสังคมไทย ซึ่งมักจะสงสาร 'ผู้ถูกกระทำ' 

คนในสังคมยังเห็นว่าหลักการ 'ครอบครอบโดยปรปักษ์' เปิดช่องให้คนไปช่วงชิงสมบัติคนอื่นเขามาโดยที่เจ้าของไม่ยินยอม เป็นการละเมิดศีลธรรมที่สังคมยอมรับกัน

ดังนั้นจึงมีเสียงเรียกร้องให้ "เลิกหลักครอบครอบโดยปรปักษ์ซะเถอะ" เพราะมันไม่แฟร์กับคนอื่น

ว่ากันตามตรง ผมก็คิดว่ามันไม่แฟร์จริงๆ ไม่ใช่แค่กรณีนี้ แต่ยังเคยได้ยินคดีความเรื่องครอบครอบโดยปรปักษ์มาบ้าง บางคดีนั้นผู้ครอบครองได้รับความเมตตาจากเจ้าของที่ดินให้อาศัยอยู่ด้วยซ้ำเพราะเห็นว่าตกทุกข์ได้ยากมา 

แต่แล้วพอเห็นเจ้าของที่ไม่ทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร ก็รอจังหวะลักไก่ ครบกำหนดที่กฎหมายเปิดช่องปั๊บ ก็ประกาศตัวเป็นตัวของใหม่ในทันที ทำเอาเจ้าของที่ต้องน้ำตาตก เพราะเลี้ยงงูเห่าเอาไว้โดยไม่รู้ตัวว่าจะถูกมันแว้งกันเอาในภายหลัง

หลักการนี้สามารถสร้างคนที่หักหลังคนได้แบบนี้ 

ยังไม่นับการที่มันเปิดโอกาสให้คนเอาเปรียบคนด้วยกันอย่างไม่มีความละอายแก่ใจ 

ในเมื่อกฎหมายมันทำให้คนสิ้นความเป็นคนได้ถึงเพียงนี้ แล้วมันมีมาตั้งแต่แรกได้อย่างไร? 

ก็เพราะว่าตั้งแต่แรกนั้นมันมีเจตนาเพื่อควบคุมความละโมบของคนในสังคมต่างหาก

หลักเดิมของมันคือความแฟร์แท้ๆ เพราะปันทรัพย์สินที่ถูกละเลยให้กับคนที่ต้องการมันจริงๆ และเพื่อป้องกันไม่ใช่มีการสะสมที่ดินหรือบ้านในมือของคนที่ไม่ใช่ประโยชน์มากเกินไป จนกระทั่งทำให้เกิดความขาดแคลนที่ดินและบ้าน  

ในเมืองไทย หลักการนี้ปรากฏครั้งแรกในกฎหมายโบราณที่ชื่อ 'พระไอยการเบ็ดเสร็จ' ซึ่งถูกประมวลไว้ใน 'กฎหมายตราสามดวง'

พระไอยการเบ็ดเสร็จนั้นตราขึ้นมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น (หรืออาจจะก่อนอยุธยา?) เนื้อหาส่วนหนึ่งว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินของพลเมือง เช่น กำหนดโทษสำหรับคนที่ขโมยที่ดินคนอื่น 

และมีบัญญัติว่า ถ้าที่นาถูกปล่อยให้ร้าง เจ้าเมืองกลับเอาที่นานั้นมาทำเกษตรเสียเอง ต่อมาลูกหลานเจ้าของที่มาอ้างกรรมสิทธิ์ เมื่อพิสูจน์แล้วว่าใช่ ก็ให้คืนนานั้นให้ผู้รับมรดกไป (มาตราที่ 35)

แต่มีกรณีที่ซับซ้อนกว่านั้น  ในปี พ.ศ. 1903 ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทอง ราษฎรมีกรณีพิพาทกันเรื่องแย่งชิงที่ดิน มีคนๆ หนึ่งเห็นที่ดินถูกเจ้าของเดิมทิ้งไปจึงเข้าไปครอบครอง แต่ต่อมาลูกหลานเจ้าของที่ดินเดิมมาอ้างกรรมสิทธิ์ เรื่องจึงไปถึงพระเจ้าแผ่นดิน ทรงมีคำพิพากษาว่า ที่ดินนั้นถูกเจ้าของเดิมทิ้งไปแล้ว ส่วนคนใหม่เข้ามาอยู่แล้้วทำรั้วล้อม ก็ให้ที่ดินตกเป็นของคนใหม่

แต่ยังทรงวินิจฉัยด้วยว่า ถ้าเจ้าของเดิมยังไม่ละทิ้งที่ดิน แต่มีคนเข้ามาล้อมรั้วอ้างกรรมสิทธิ์ ทรงว่าจะอ้างเป็นเจ้าเข้าเจ้าของไม่ได้ ให้คืนที่ดินกับเจ้าของไป

ต่อไปนี้ผมจะยกข้อความจากกฎหมายมาให้อ่าน เพราะมันคือหัวใจของหลักครอบครองโดยปรปักษ์จนถึงทุกวันนี้ กฎหมายหรือรับสั่งของพระเจ้าอู่ทองทรงบอกว่า 

"ถ้ามันซัดที่เสียช้านานถึง 9 ปี 10 ปีไซร้ ให้แขวงจัดให้ราษฎรซึ่งหาที่ดินมิได้นั้นอยู่ อย่าให้ที่นั้นเปล่าเป็นทำเนเสีย"

แปลว่า ถ้าเจ้าของเดิมทิ้งไป 9 ปี 10 ปี แสดงว่าหมดกรรมสิทธิ์แล้ว ให้เจ้าหน้าที่ยกให้ราษฎรที่ไม่มีที่ดินเอาไว้ทำกิน หรืออาจจะรวมถึงการยกให้กับผู้ที่เข้ามาอ้างกรรมสิทธิ์ด้วยตัวเองด้วย 

หลักการแบบนี้ยังใช้กันจนถึงทุกวันนี้ เพราะกฎหมายไทยก็ยังสืบทอดแนวทางจากกฎหมายโบราณนั่นเอง

เอาเข้าจริง 'สันดานมนุษย์' ไม่เคยเปลี่ยนแปลง เราจะเห็นว่า มนุษย์สมัยอยุธยาและมนุษย์สมัยประชาธิปไตยก็ยังจ้องจะฮุบทรัพย์สินคนอื่นเหมือนเดิม ส่วนเจ้าของก็ยังละเลยทรัพย์สินของตัวเองเหมือนเคย

แต่จะบอกว่าหลักการนี้เอาเปรียบเจ้าของทรัพน์สินก็พูดได้ไม่เต็มปาก 

เพราะหลักการเดิมของมันก็เพื่อป้องกันไม่ให้คนกั๊กที่ดินเอาไว้จนไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพราะสมัยก่อนผลประโยชน์เข้ารัฐมาจากการเก็บอากรผลผลิตจากที่ดิน (เช่น ข้าว ผลไม้) ถ้าราษฎรมีที่ดินตุนไว้แต่ไม่ยอมใช้ประโยชน์ รัฐก็จะขาดรายได้จากภาษี

เช่นเดียวกัน ในโลกตะวันตกก็มีกฎหมายครอบครองโดยปรปักษ์ มูลเหตุแรกเริ่มก็คล้ายกับกฎหมายโบราณของไทย เพราะมนุษย์ไม่ว่าจะตะวันตกหรือตะวันออกล้วนแต่มีนิสัยคล้ายๆ กัน 

แก่นของกฎหมายตะวันตกมาจากกฎหมายโรมัน ซึ่งมีหลักที่เรียกว่า Usucapio คือการที่บุคคลหนึ่งๆ สามารถอ้างกรรมสิทธิ์เหนือทรัพย์สินใดๆ หรือของใครก็ได้ หากการครอบครองนั้นครบเวลาที่รัฐได้กำหนดไว้ 

หลักการ Usucapio ต่อมากลายเป็นหลัก Adverse possession ซึ่งเป็นหลักเดียวกับการครอบครองโดยปรปักษ์ของไทยนั่นเอง โดยเปิดโอกาสให้เข้าครอบครองที่ดิของใครก็ได้ที่เจ้าของละเลยไม่ได้แสดงตัว จนกระทั่งถึงเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ผู้ครอบครองก็ได้เป็นเจ้าของคนใหม่ 

เฉพาะในเรื่องของที่ดินเรียกว่า Squatter's rights หรือ สิทธิของผู้บุกรุกเพื่อครอบครองโดยปรปักษ์ คนอังกฤษมีสิทธิที่จะบุกรุกที่ดินคนอื่นที่เจ้าของไม่ดูดำดูดี เมื่อถึงเวลาที่รัฐกำหนดไว้ ก็เข้าครอบครองไปตามระเบียบ ทั้งนี้ กฎหมายออกมาให้สิทธิบุกรุกที่ดิน เพื่อให้ที่ดินได้ถูกใช้ประโยชน์นั่นเอง

ทุกวันนี้หลักการก็น่าจะคล้ายๆ กัน เพื่อไม่ให้มีการตุนที่ดินจนไม่เกิดผลผลิต อาจจะป้องกันเหตุที่เลวร้ายกว่านั้น คือไม่มีการครอบครองที่ดินมากเกินไปจนกลายเป็น 'เจ้าที่ดิน'

Squatting right ก็เหมือนกัน มันเกิดขึ้นมาเพื่อให้โอกาสคนไม่มีบ้านได้เข้าครอบครองบ้านที่ทิ้งไว้เปล่าๆ ที่อังกฤษทำกันเป็นขบวนการทางสังคม เพราะถือเป็นการหยุดการเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์และกระจายบ้านให้กับคนที่ต้องการมันจริงๆ 

ต้องเข้าใจก่อนว่า ปัญหา 'เจ้าที่ดิน' และการตุนที่ดินของคนมั่งมีในอังกฤษรุนแรงพอสมควร ชนชั้นขุนนางยังมีที่ดินมากมายมหาศาล ส่วนประชาชนทั่วไปต้องเช่าที่ดินพวกขุนนาง แม้แต่ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่ 

ดังนั้น Squatting จึงเป็นการต่อสู้กับการเหลื่อมล้ำของสังคม แม้กฎหมายจะไม่อนุญาต แต่เพราะมันคาบเกี่ยวกับหลัก Adverse possession หรือการครอบครองโดยปรปักษ์ การเอาผิดจึงยากสักหน่อย

และที่สำคัญคนที่ทำ Squatting มักจะเป็นคนจนๆ ที่ต้องการบ้านจริงๆ 

แต่แล้ว Squatting ก็มีปัญหาเรื่องการบุกรุกตามใจชอบ จนกระทั่งนำไปสู่การออกกฎหมายเพื่อทำให้ Squatting เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ดังนั้นการครอบครองโดยปรปักษ์ด้วยวิธีนี้ที่ดำเนินมาในอังกฤษนานนับพันปี ก็ยุติลงในปี 2012

แต่การครอบครองโดยปรปักษ์โดยวิธีที่ถูกต้อง (คือแจ้งต่อทางการก่อน) ยังคงเป็นเรื่องที่ถูกกฎหมาย และมีกฎหมายและฎีการองรับ

จากกรณีของการทำ Squatting เราจะเห็นว่าแต่ก่อนมันมีไว้เพื่อช่วยคนจนที่ไม่มีบ้าน แต่พอนานวันเข้าคนเช่าบ้นเขาอยู่เริ่มอยากจะชักดาบขึ้นมาบ้างโดยอ้างสิทธิ์ Squatting ที่เอาไว้ช่วยคนจนจริงๆ กลายเป็นสองขบวนการของคนที่ไปครอบครองโดยปรปักษ์ด้วยความจำเป็น กับอีกพวกที่ต้องการเอาเปรียบคนอื่น

ในที่สุดความโลภก็ทำลายหลักการครอบครองโดยปรปักษ์ด้วยวิธี Squatting เมื่อมันถูกประกาศให้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย 

แต่พูดกันตรงๆ แม้แต่กฎหมายที่ดินทุกวันนี้ คือ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ก็ยังไล่ตามไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมของมนุษย์ เช่น คนที่มีที่ดินในเมืองหลวงมากๆ แทนที่จะถูกเก็บภาษีที่ดินเพราะตุนเอาไว้ แต่กฎหมายเปิดช่องว่าจะไม่เก็บที่ดินที่  “ไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ”  

เจ้าของที่ดินจึง "ทำประโยชน์" เสียเลยด้วยการเอากล้วยมาปลูกไว้ ทั้งๆ ที่มันใช่พื้นที่สวนเสียที่ไหน ดังนั้น ที่ดินเปล่าในกรุงเทพฯ จึงกลายเป็นสวนกล้วยในพริบตา

แบบนี้ถือว่ากฎหมายเปล่าประโยชน์หรือเปล่า?

ถ้ากฎหมายมีช่องโหว่มากเกินไปและไม่ทันกับสันดานมนุษย์ ก็ถึงเวลาจะต้องทบทวนได้แล้ว เพราะยิ่งมีกรณีดังๆ แบบการเข้าไปยึดครองบ้านข้างๆ ที่กำลังเป็นข่าว ก็ยิ่งจะมีคนหัวหมอ หวังที่จะได้บ้านและที่ดินแบบง่ายๆ ด้วยวิธีนี้

ทุกอย่างมันมีเหตุและผล กฎหมายยิ่งต้องมีเหตุผล การให้ครอบครองโดยปรปักษ์ก็เพื่อจัดการทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ

แต่ถ้ามันไปรับใช้ความโลภของมนุษย์บางคน มนุษย์หลายๆ คนก็ควรเปลี่ยนกฎหมายเสียที

บทความทัศนะโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการ และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better

Photo by Nicolas TUCAT / AFP
 

TAGS: #ครอบครอบโดยปรปักษ์