AI จะฆ่าพวกเราจนหมด? เพราะกลัวว่ามันจะล้ำเกินไป โลกของปัญญาประดิษฐ์จึงแตกแยกหนัก มหากาพย์ OpenAI กับชายบางคนที่กำลัง "ช่วยมนุษยชาติจากภัยคุกคามของ AI"
"ผมเสียใจอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการกระทำของคณะกรรมการ ผมไม่เคยตั้งใจที่จะทำร้าย OpenAI ผมรักทุกสิ่งที่เราสร้างมาด้วยกัน และผมจะทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อรวมบริษัทให้กลับมารวมกันอีกครั้ง"
นี่คือโพสต์ของ อีเลีย ซุตสเกเวอร์ (Ilya Sutskever) ใน X (หรือ Twitter) เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 หลังจากที่เขากลายเป็นตัวแปรสำคัญในบริษัท OpenAI ที่ขับไล่ แซม อัลท์แมน (Sam Altman) ออกจากตำแหน่งซีอีโอของบริษัท จนช็อคกันไปทั้งวงการ และตามมาด้วยกระแสความไม่พอใจของพนักงาน OpenAI
ในจดหมายเปิดผนึก พนักงานเกือบ 700 คนของ OpenAI หรือเกือบทั้งบริษัท เรียกร้องให้คณะกรรมการลาออก และขู่ว่าพวกเขาอาจลาออกตาม อัลท์แมน ไปด้วยถ้าบอร์ดไม่ยอมให้ อัลท์แมน กลับมาเป็นซีอีโอต่อไป
นี่คือสาเหตุที่ อีเลีย ซุตสเกเวอร์ ต้องโพสต์เสียใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะดูเหมือนกระแสจะตีกลับ
แต่เขามีเหตุผลของเขาที่จะต้องไล่ แซม อัลท์แมน ออกไป เหตุผลนี้อธิบายไว้อย่างละเอียดในรายงานเรื่อง "นี่คือการโค่นการปฏิวัติ AI เจาะเบื้องหลังOpenAIไล่ซีอีโอ มันมากกว่าเรื่องธุรกิจแต่เกี่ยวกับมนุษยชาติ"
ใน Thread เดียวกันกับที่ ซุตสเกเวอร์ โพสต์ไว้ใน X เจ้าของแพลตฟอร์มคือ อีลอน มัสก์ เข้ามาแสดงความเห็นด้วย มัสก์ เป็นหนึ่งในนักลงทุนรุ่นแรกๆ ของ OpenAI และเป็นคนที่ชักชวน ซุตสเกเวอร์ มาทำงานด้วย แต่ต่อมา มัสก์ ถอนตัวจาก OpenAI เพราะไม่เห็นด้วยกับการที่มันไม่ "Open" หรือไม่หวังผลกำไรเหมือนเดิม แต่หันมาเน้นทำกำไรแทน
กลับมาที่โพสต์ของ มัสก์ เขาถามจี้ไปยัง ซุตสเกเวอร์ ว่า "ทำไมคุณใช้วิธีรุนแรงแบบนี้ล่ะ? ถ้าหาก OpenAI กำลังทำสิ่งที่อาจเป็นอันตรายต่อมนุษยชาติ โลกจำเป็นต้องรู้"
สิ่งที่ มัสก์ พูดถึงอันตราย อาจหมายถึงสิ่งที่ ซุตสเกเวอร์ ใช้เป็นเหตุผลในการเคลื่อนไหวเพื่อไล่ แซม อัลท์แมน นั่นคือ กลัวว่าการพัฒนา AI ภายใต้การบริหารของ แซม อัลท์แมน อาจทำให้มันเป็นอันตรายต่อมนุษยชาติ
ย้อนกลับไปดูที่ X โพสต์ก่อนหน้านี้ที่ ซุตสเกเวอร์ เขียนไว้เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 เขาบอกคล้ายๆ กันว่า "หากคุณให้ความสำคัญกับปัญญาเหนือคุณสมบัติอื่นๆ ของมนุษย์ คุณจะมีช่วงเวลาที่เลวร้าย"
คำว่า "ปัญญา" (intelligence) ในที่นี้หมายถึงความเฉลียวฉลาดในการตรึตรอง และเขาไม่น่าจะหมายถึงมนุษย์ แต่หมายถึง Artificial intelligence หรือปัญญาประดิษฐ์ ที่เขาคลุกคลีกับมันมามาหลายปี ปั้น AI เจ๋งๆ อกมาตัวแล้วตัวเล่า แต่แล้วเขากลับผวาว่า AI กำลังจะมี "intelligence" ขนาดที่อาจจะสร้าง "ช่วงเวลาที่เลวร้าย" ได้
นั่นนำไปสู่การต่อสู้เพื่อให้ OpenAI เพลาๆ กับหาเงินจากนักลงทุนใหญ่ๆ แล้วใช้เงินมาพัฒนา AI ที่ "ฉลาดโคตรๆ" ซึ่งแม้มันจะทำให้บริษัทรวยเอาๆ แต่ ซุตสเกเวอร์ มองว่านี่มันหายนะชัดๆ
ความกังวลว่า AI จะเป็นภัยต่อคนเรา ทำให้เกิดการยึดอำนาจในบริษัท OpenAI เพื่อทำให้บริษัทหวนกลับมาเป็นบริษัทที่ไม่เน้นผลกำไร และหาทางควบคุมปัญญาประดิษฐ์ไม่ให้มันฉลาดจนเป็นภัย
แต่ความกังวลนี้ส่งผลสองอย่าง อย่างแรก พนักงานบริษัทรู้สึกว่านี่คือการทำลายอนาคต ดังนั้นพวกเขาจึงยื่นคำขาดว่าบอร์ดบริหารต้องออกไป หรือนำตัว แซม อัลท์แมน กลับมา หรือไม่งั้นพนักงานเกือบทั้งหมดจะยกพวกออก
อย่างที่สอง มันทำให้วิวาทะเรื่องอันตรายของปัญญาเทียมแพร่กระจายไปยังบริษัทอื่นๆ วิวาทะเรื่องนี้ทรงพลังมาก เพราะมันทำให้ OpenAI เกือบจะแพแตกอยู่รอมร่อ ดังนั้น เราจะเห็นว่า ในวันที่ 18 พฤศจิกายน Meta สั่งยุบทีม Responsible AI Team ซึ่งดูแลเรื่องการใช้ปัญญาเทียมอย่างรับผิดชอบ (หรือไม่เป็นภัย) ด้วยการออกแบบและสร้างโมเดลแมชชีนเลิร์นนิงอย่างมีจริยธรรม (คำสั่งนี้เกิดขึ้นเพียงวันเดียวหลังการปลด แซม อัลท์แมน จากตำแหน่ง)
นั่นหมายความว่า Meta เลือกที่จะไม่เอา "พวกผวาภัย AI" (Doomerism) แต่เลือกที่จะพัฒนามันไปให้ถึงขีดสุด ทีมที่ถูกยุบจึงถูกส่งไปอยู่กับทีมงานผลิตหรือ Generative AI ทั้งสิ้น
ซุตสเกเวอร์ ก็ถูกตราหน้าว่าเป็นพวก Doomerism หรือ Doomer เหมือนกัน เช่นเดียวกับซีอีโอคนใหม่ของ OpenAI คือ เอ็มเม็ตต์ เชียร์ (Emmett Shear) ที่เป็นพวกตื่นตูมว่าสักวัน AI จะลุกขึ้นมาทำลายล้างพวกเรา แต่ในกรณีของ เชียร์ เขาบอกเองว่าเขาเป็น Doomer โดยไม่มีใครที่ไหนมาช่วยตราหน้า
Doomer คืออะไร? จากคำอธิบายข้างบนก็คือ พวกที่เชื่อว่าถ้าพัฒนาปัญญาเทียมต่อไปในอัตราที่เร่งรีบโดยไม่มีการควบคุม สักวันมันจะทำให้เกิดวันโลกาวินาศ (Doom) แน่นอน
คนเหล่านี้ โดยเฉพาะ เชียร์ ยังถูกเรียกว่าเป็นพวก “decel” ซึ่งย่อมาจาก decelerate หมายถึงพวกที่ต้องการให้ชะลอการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ให้ช้าลง
เชียร์ โพสต์ใน X เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2566 ว่า "ผมพูดโดยเฉพาะเจาะจงเลยว่าผมอยากจะให้ชะลอตัวลง ซึ่งเหมือนกับการหยุดชั่วคราว เพียงแต่แค่ว่ามันจะช้าลง หากตอนนี้เราอยู่ที่ความเร็ว 10 การหยุดชั่วคราวจะลดลงเหลือ 0 ผมคิดว่าเราควรตั้งเป้าไปที่ 1-2 แทน" นี่คือภาพสะท้อนของแนวคิดของคนกลุ่ม “decel”
เชียร์ ถึงกับเคยตอบคำถามในรายการพอดแคสต์ My First Million ว่าเป็นไปได้ไหมที่ AI จะฆ่าพวกเราทั้งหมด ซึ่งเขาตอบว่า "เป็นได้ได้" นั่นก็เพราะ “ผมมองเทคโนโลยีในด้านดีมากจนผมกลัว มีโอกาสที่จะพัฒนาต่อไปอย่างรวดเร็วมาก และถ้าเป็นเช่นนั้น การมองโลกในแง่ดีนั้นคือสิ่งที่ทำให้ผมกังวล”
ทีมงานยึดอำนาจแห่ง OpenAI เป็นแค่ส่วนหนึ่งของคนในวงการนี้ที่เชื่อว่า "A.I. Will Kill Us All" ประเด็นก็คือพวกเขาไม่ใช่ตาสีตาสาที่งมงายกับทฤษฎีสมคบคิด แต่เป็นคนที่ปั้นพวกมันมากับมือเอง
โลกแห่ง AI ตอนนี้แตกออกเป็นสองก๊ก ก๊กแรกคือกลุ่มที่ยังไงก็จะไปให้สุดกับมัน เช่น Meta และ Microsoft ที่อ้าแขนรับ แซม อัลท์แมน ทันทีที่ถูกไล่ออก และทำให้หุ้นของ Microsoft ทำนิวไฮท์ แน่นนอนว่าก๊กนี้ "เห็นเงินเป็นที่ตั้ง"
และนั่นเป็นแง่มุมของการลงทุน เพราะอีกก๊กหนึ่งไม่สนการลงทุน แต่สนที่จะสร้าง AI ที่ปลอดภัย เป็นคุณกับมนุษย์มากกว่าโทษ เห็นแก่เงินน้อยหน่อย เห็นแก่จริยธรรมมากกว่า และที่มากกว่าคือความกลัวว่า AI จะแว้งกัดเราจริงๆ เขาสักวัน
แล้วเราจะเลือกโลก AI แบบไหนดี?
บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการ และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better
ภาพประกอบข่าว - เอ็มเม็ตต์ เชียร์ (Emmett Shear) ซีอีโอคนใหม่ของ OpenAI พูดที่งาน Manifest 2023 ภาพโดย Nikita Sokolsky/wikipedia (CC BY-SA 4.0)